จากกรณีที่กลายเป็นประเด็นร้อนชั่วข้ามคืน หลังจากที่ “พิมรี่พาย” หรือ พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ แม่ค้าออนไลน์ฝีปากกล้า และยังเป็นยูทูปเปอร์คนดังด้วยนั้น โดยเจ้าตัวโด่งดังมาจากการขายสินค้าออนไลน์ และยังนำเงินไปช่วยเหลือคนยากจนบ่อย ๆ จนได้รับกระแสชื่นชมอย่างมากในโลกโซเชียล
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2564 ชื่อของพิมรี่พาย ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในประเทศไทย หลังจากที่เจ้าตัว ได้มุ่งหน้าสู่ หมู่บ้านแม่เกิบ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งตอนแรกเธอตั้งใจว่าจะนำแค่เสื้อผ้า รองเท้า มาม่า ปลากระป๋องและอาหารไปให้เด็ก ๆ เท่านั้น แต่เมื่อไปถึงแล้วได้เห็นสภาพเด็ก ๆ เนื้อตัวมอมแมม และคุณครูที่อยู่กับเด็ก ๆ ได้บอกว่า
“…เด็กที่นี่ …ไม่มีความฝัน… นึกภาพอะไรไม่ออก นึกภาพการเรียนต่อไม่ออก ไม่เคยมีใครจบสูงกว่า ม.ต้น ใช้ชีวิตอยู่ไปวัน ๆ พ่อแม่ไม่มีรายได้ ไฟฟ้าก็เข้าไม่ถึง….”
ทำให้พิมรี่พาย ตัดสินใจควักเงินจำนวนส่วนตัว จำนวน 5 แสนกว่าบาท ไปติดตั้งไฟฟ้าโซลาเซลล์และมอบทีวีให้เด็ก ๆ
แต่แล้วก็มีกระแสดราม่าตามมาทันที เมื่อมีการนำประเด็นนี้ มาใช้หมิ่นพระเกียรติของในหลวงรัชกาลที่ 9 เริ่มต้นด้วยมีการแชร์ข้อความจากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ที่โพสต์ข้อความว่า “พิมรี่พายขึ้นดอยครั้งเดียวเด็กมีไฟฟ้าใช้ แต่…ขึ้นดอยมา 70 ปี …// ไม่พูดดีกว่า” ต่อมาเมื่อมีตรวจสอบ พบว่าเป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ในเพจเฟซบุ๊ก Street Hero Project ได้โพสต์ข้อความระบุไว้ด้วยว่า
#เรื่องนี้ไม่ใช่ครั้งแรกและไม่ใช่ครั้งสุดท้าย หลายคนมีอารมณ์โมโห โกรธ หรือเสียใจ ที่ได้เห็นข้อความที่ใส่ร้ายและเหยียดหยามในหลวง ร.9
เรื่องราวดี ๆที่คุณ พิมรี่พาย ไปจัดงานวันเด็กและมอบแผงโซล่าเซลล์ให้กับน้อง ๆ ใน หมู่บ้านแม่เกิบ จ. เชียงใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสการเรียนรู้และสร้างความสุขให้น้อง ๆ
กับกลายเป็นเรื่องที่บางคนนำมาบิดเบือน ขยายความโจมตีสถาบัน ใส่ร้ายและบูลลี่เรื่องความพิการทางสายตาของในหลวง
อยากจะบอกเพื่อน ๆ ว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ที่เหล่าคนที่อ้างว่าจะมาปฎิรูปสถาบันทำเรื่องชั่วช้าแบบนี้
นอกจากนี้ยังมีประเด็นวันชัย เบียผะ วัย 78 ปี ผู้เฒ่าเผ่าลีซู ที่เคยเล่นดนตรีถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ ว่า ตนเองเคยได้เล่นดนตรีถวายพระองค์ท่าน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎร ที่บ้านปางสา ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย เมื่อปี พ.ศ. 2523 โดยผู้เฒ่าได้บอกว่า ถ้าไม่มีในหลวงก็คงไม่มีแผ่นดินอยู่
ล่าสุดทางด้าน นางอรอานันท์ แสงมณี นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ กลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นบุคลากรที่ดูแลการส่งเสริมการศึกษาในถิ่นทุรกันดารโดยตรง ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ที่ใช้ชื่อว่า “อรอานันท์ แสงมณี” ชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า เนื่องจากมีกระแสในโลกออนไลน์จากยูทูปเบอร์ชื่อดังคนหนึ่ง และเราได้มีส่วนร่วมในการทำงานของศศช. ทำให้เกิดความไม่สบายใจ และมีข้อมูลบางอย่างที่คลาดเคลื่อน
จึงขออนุญาตใช้พื้นที่เล็ก ๆ แนะนำให้ทุกท่านรู้จักศศช.หรือศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา ”แม่ฟ้าหลวง” เป็นสถานศึกษาในสังกัด สำนักงานกศน. กระทรวงศึกษาธิการ เป็นการจัดการศึกษาชุมชนที่ยึดชุมชนเป็นหลัก จัดกระบวนการเรียนรู้ให้ประชาชนทั้งชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ทั้งการศึกษาต่อ มีอาชีพ และพัฒนาอาชีพของตนเอง ให้สามารถดำรงชีวิตด้วยความสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและนำมาเป็นส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้กับชุมชน มามากกว่า 40 กว่าปี
มีกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม ดังนี้
1. เด็กก่อนวัยเรียน อายุ 3-6 ปี จัดกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก โภชนาการ และดูพัฒนาการเด็กจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2. เด็กวัยเรียนที่ไม่ได้รับการศึกษา ในระบบโรงเรียน อายุ 7-14 ปี
กลุ่มนี้ศศช.บางแห่งเป็นสถานศึกษาพื้นที่เป้าหมาย การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ดูแลทั่งด้านโภชนาการ สุขอนามัย วิชาการจริยธรรม ฯลฯ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
3. กลุ่มเป้าหมายผู้ใหญ่ อายุ 15-59 ปี กลุ่มนี้จัดการศึกษาพัฒนาอาชีพและทักษะชีวิต การศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงทักษะฟังพูดอ่านเขียนภาษาไทยเพื่อสื่อสารและรับบริการ เช่น สถานพยาบาลเวลาเจ็บป่วยจะได้แจ้งอาการถูก เป็นต้น
4. ผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป จัดกิจกรรมตามความสนใจของผู้เรียน
ปกติครูทำหน้าที่สอนเด็กและประชาชนในชุมชน เป็นการจัดการศึกษาตามบริบทชุมชนและโครงการอื่นๆ ในพื้นที่จากหลายหน่วยงานโดยให้ ครู ศศช. เป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการ (บาง ศศช.เป็น 10 โครงการก็มี)
และมักมีเครือข่ายมาให้การสนับสนุนอยู่บ่อย ๆ ทั้งเรื่องของ อาคารเรียน ศศช. ที่จะถูกสร้างการสนับสนุนจากผู้ที่สนใจ (แต่เดิมชาวบ้านในชุมชนเป็นคนสร้างอาคาร ศศช.) ข้าวของเครื่องใช้ อาหารและยารักษาโรคต่าง ๆ ก็ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐตามพื้นฐานหรือจากผู้ให้การสนับสนุน
ด้วยพื้นที่ห่างไกล ระบบการใช้พลังงานไฟฟ้าไปไม่ถึงในบางพื้นที่ใช้พลังงานทดแทน พลังงานแสงอาทิตย์ หรือน้ำ แต่อาจจะไม่ได้มีทั้งชุมชน
ภายใน ศศช. จะมีพลังงานทดแทนเหล่านี้สำหรับกิจกรรมการเรียนการสอนภายใน ศศช.
อยากอธิบายว่า
ประเด็นที่ 1 เด็กในพื้นที่ที่เขาไม่รู้จัก “ไข่เจียว” เนื่องจากเขาเรียกกันว่า “ทอดไข่”
ประเด็นที่ 2 ถ้าเด็ก ๆ ไม่รู้จักวิธีปลูกผัก เขาจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร ถ้าไม่มีผักรับประทาน
และยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าคิด เช่น ในคลิปบอกว่าในหมู่บ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ การศึกษาเข้าไม่ถึง แต่ในคลิปของยูทูปเบอร์ท่านนั้นที่ถ่ายตอนต้นคลิป (มุมสูง) ยังมีจานดาวเทียมตั้งตระง่านอยู่ในหมู่บ้านเลย คือ
อยากให้ทุกท่านได้เข้าไปดูในเพจของ ศศช.บ้านแม่เกิบ จะช่วยอธิบายอะไรหลาย ๆ อย่าง เพื่อความเป็นกลางค่ะ ขอบคุณที่อ่านจนจบนะคะ
อย่างไรก็ตามในโลกออนไลน์ได้มีการแชร์ความ ที่ระบุด้วยว่า รู้ไหมว่าเด็ก ๆ บ้านแม่เกิบที่พิมรี่พายไปช่วยเหลือ พวกเขาได้เรียนหนังสือเพราะใคร ?
คำตอบก็ คือ.. ได้เรียนหนังเพราะโครงการสมเด็จย่า เพราะพระองค์เป็นผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” เพื่อให้เด็กบนดอยได้เรียนหนังสือ
ท่านก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้นี้มานานเป็นสิบ ๆ ปีแล้วด้วยพระราชทรัพย์ของท่านเอง แม้ท่านจะสวรรคตไปนานแล้ว แต่โครงการและสิ่งที่ท่านทำไว้ให้กับราษฏรก็ยังคงอยู่ และจะอยู่ตลอดไป เพราะมีพระเทพฯและในหลวง ร.10 สืบสาน และต่อยอด
สำหรับศศช. 808 แห่งในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน แม่ฮ่องสอน แพร่ พะเยา ลำพูน ลำปาง กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี พังงา
ส่วนประวัติความเป็นมา เมื่อปี 2523 กรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ในขณะนั้น ได้จัดตั้งศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) ขึ้นโดยส่งครูอาสา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ครูดอย 1-2 คนเข้าไปฝังตัวพักอยู่กับประชาชน ในชุมชนและมีการสร้างอาคารขนาดเล็กเรียกว่า อาศรม ด้วยวัสดุท้องถิ่น เพื่อให้บริการการศึกษาและพัฒนาชุมชนแก่ผู้ใหญ่ในเวลากลางคืนและสอนเด็กตั้งแต่อนุบาล-ป.6 ในตอนกลางวัน มุ่งให้สามารถช่วยเหลือตนเองและเป็นพลเมืองดีของชาติ ซึ่งโครงการศศช.นี้ได้รับรางวัลจากองค์การยูเนสโกเมื่อปี 2537 ในฐานะที่เป็นแนวคิดใหม่ในการจัดการศึกษาโดยใช้ชุมชนเป็นพื้นฐาน ซึ่งมีการขยายเปิดตามชุมชนทุรกันดารถึง 773 แห่ง
เมื่อปีพ.ศ. 2535 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงอ่านหนังสือพิมพ์ และทรงพบจดหมายของครูอาสาสมัคร คนหนึ่ง ที่ ศศช.บ้านใหม่ห้วยหวาย จ.แม่ฮ่องสอน บรรยายความยากลำบากในการเป็นครูดอยในถิ่นกันดาร และขอรับการสนับสนุนสื่อการเรียนการสอน และสิ่งของ เครื่องใช้ในอาศรม ศศช.พระองค์ทรงมีความสนพระทัยที่จะพระราชทานความช่วยเหลือ จึงมอบหมายให้นายบุญธันว์ มหาวรรณ หน.คณะทำงานส่วนพระองค์ ไปสำรวจหาข้อมูล เพื่อให้ความช่วยเหลือ จึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ 80,000 บาท ให้สร้างอาคารขึ้นใหม่ และต่อมาได้พระราชทานความช่วยเหลือ และทรงรับศศช.ทุกแห่งไว้ในพระอุปถัมภ์
และในปีพ.ศ. 2539 กรมกศน.ได้ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน จึงได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานชื่อของศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ซึ่งเป็นพระราชสมัญญานามของพระองค์ท่าน “แม่ฟ้าหลวง” หรือ “สมเด็จย่า” แต่ชื่อย่อยังใช้ติดของเก่าว่า ศศช.เหมือนเดิม
การจัดการศึกษาสำหรับชุมชนบนพื้นที่สูงหรือเดิมเรียกว่า ศูนย์การศึกษาเพื่อ ชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.)หรือจะพูดง่ายๆ และพูดจนติดปากว่า “การศึกษาชาวเขา” ไม่ว่าจะพูดในลักษณะใดงานที่ดำเนินการก็คือ การให้บริการด้านการศึกษาสำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนบนพื้นที่สูงซึ่งประกอบด้วยประชากรหลายเผ่าพันธุ์และหลายเชื้อชาติ วิธีการศึกษาทั้งในระบบนอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ก็ไม่แตกต่างจากการจัดการศึกษาสำหรับชุมชนบนพื้นราบ แต่ถ้าพูดถึงกระบวนการการจัดการศึกษาทั้งด้านหลักการ
เป้าหมายและกระบวนการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ก็ค่อนข้างจะแตกต่างกันบ้างเพราะชุมชนบนพื้นที่สูงมีความแตกต่างกันหลาย ๆ ด้าน เช่น ความแตกต่างทางด้านภูมิประเทศ ความแตกต่าง ในวิถีชีวิต ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ความแตกต่างทางด้านความพร้อม ในการสื่อสารและการคมนาคมดังนั้น เป้าหมายของการจัดการศึกษา สำหรับชุมชนบนพื้นที่สูง
โดยรายละเอียดของหลักการเป้าหมายและวิธีการของการจัดการศึกษาศศช. กำหนดไว้ 3 ประการ คือ
1. เป็นการจัดการศึกษาเพื่อชีวิตแบะสังคมซึ่งหมายถึงเป็นการ จัดการศึกษาที่ผู้เรียนสามารถได้เรียนรู้ จากวิธีการ ดำรงชีวิตที่เป็นปกติประจำวันในทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องการกินอยู่หลับนอน การเจ็บป่วย การทำงานการพักผ่อน การสร้างความรื่นเริงบันเทิงใจ ฯลฯ
2. เป็นการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน หมายถึง การจัดการศึกษาที่สนองความต้องการของทุกคนในชุมชน สามารถแสวงหาทางเลือกและโอกาสที่จะเรียนรู้เท่าที่เวลาและโอกาสที่แต่ละคนจะสามารถเรียนรู้
3. เป็นการจัดการศึกษาตลอดชีวิต หมายถึง การเรียนรู้ที่อาศัยวิธีการทั้งในระบบนอกระบบและการศึกษา ตามอัธยาาศัย อันเกิดจากแรงจูงในที่จะเรียนรู้ตลอดช่วงอายุของคนหนึ่งซึ่งต้องเรียนรู้ทึกอย่างที่เดี่ยวกับการดำรงชีวิตซึ่งต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาเพื่อที่จะสามารถปรับตัวและดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม