กศน.ชี้แจงชัด “พิมรี่พาย” เข้าใจคลาดเคลื่อน ปมไฟฟ้าบนดอยบ้านแม่เกิบ ย้อนประวัติที่มา “ศศช.” เพราะ “สมเด็จย่า” ทรงก่อตั้ง

5442

จากกรณีที่กลายเป็นประเด็นร้อนชั่วข้ามคืน หลังจากที่ “พิมรี่พาย” หรือ พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ แม่ค้าออนไลน์ฝีปากกล้า และยังเป็นยูทูปเปอร์คนดังด้วยนั้น โดยเจ้าตัวโด่งดังมาจากการขายสินค้าออนไลน์ และยังนำเงินไปช่วยเหลือคนยากจนบ่อย ๆ จนได้รับกระแสชื่นชมอย่างมากในโลกโซเชียล

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2564 ชื่อของพิมรี่พาย ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในประเทศไทย หลังจากที่เจ้าตัว ได้มุ่งหน้าสู่ หมู่บ้านแม่เกิบ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งตอนแรกเธอตั้งใจว่าจะนำแค่เสื้อผ้า รองเท้า มาม่า ปลากระป๋องและอาหารไปให้เด็ก ๆ เท่านั้น แต่เมื่อไปถึงแล้วได้เห็นสภาพเด็ก ๆ เนื้อตัวมอมแมม และคุณครูที่อยู่กับเด็ก ๆ ได้บอกว่า

“…เด็กที่นี่ …ไม่มีความฝัน… นึกภาพอะไรไม่ออก นึกภาพการเรียนต่อไม่ออก ไม่เคยมีใครจบสูงกว่า ม.ต้น ใช้ชีวิตอยู่ไปวัน ๆ พ่อแม่ไม่มีรายได้ ไฟฟ้าก็เข้าไม่ถึง….”

ทำให้พิมรี่พาย ตัดสินใจควักเงินจำนวนส่วนตัว จำนวน 5 แสนกว่าบาท ไปติดตั้งไฟฟ้าโซลาเซลล์และมอบทีวีให้เด็ก ๆ

แต่แล้วก็มีกระแสดราม่าตามมาทันที เมื่อมีการนำประเด็นนี้ มาใช้หมิ่นพระเกียรติของในหลวงรัชกาลที่ 9 เริ่มต้นด้วยมีการแชร์ข้อความจากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ที่โพสต์ข้อความว่า “พิมรี่พายขึ้นดอยครั้งเดียวเด็กมีไฟฟ้าใช้ แต่…ขึ้นดอยมา 70 ปี …// ไม่พูดดีกว่า” ต่อมาเมื่อมีตรวจสอบ พบว่าเป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ในเพจเฟซบุ๊ก Street Hero Project ได้โพสต์ข้อความระบุไว้ด้วยว่า

#เรื่องนี้ไม่ใช่ครั้งแรกและไม่ใช่ครั้งสุดท้าย หลายคนมีอารมณ์โมโห โกรธ หรือเสียใจ ที่ได้เห็นข้อความที่ใส่ร้ายและเหยียดหยามในหลวง ร.9

เรื่องราวดี ๆที่คุณ พิมรี่พาย ไปจัดงานวันเด็กและมอบแผงโซล่าเซลล์ให้กับน้อง ๆ ใน หมู่บ้านแม่เกิบ จ. เชียงใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสการเรียนรู้และสร้างความสุขให้น้อง ๆ

กับกลายเป็นเรื่องที่บางคนนำมาบิดเบือน ขยายความโจมตีสถาบัน ใส่ร้ายและบูลลี่เรื่องความพิการทางสายตาของในหลวง

อยากจะบอกเพื่อน ๆ ว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ที่เหล่าคนที่อ้างว่าจะมาปฎิรูปสถาบันทำเรื่องชั่วช้าแบบนี้

นอกจากนี้ยังมีประเด็นวันชัย เบียผะ วัย 78 ปี ผู้เฒ่าเผ่าลีซู ที่เคยเล่นดนตรีถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ ว่า ตนเองเคยได้เล่นดนตรีถวายพระองค์ท่าน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎร ที่บ้านปางสา ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย เมื่อปี พ.ศ. 2523 โดยผู้เฒ่าได้บอกว่า ถ้าไม่มีในหลวงก็คงไม่มีแผ่นดินอยู่


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เพจดังจวกยับ พวกหยาบช้าหิวแสง โหนกระแส “พิมรี่พาย” ขึ้นดอย หมิ่นพระเกียรติร.9 ย้อนคำพูดทั้งน้ำตา ของ “ผู้เฒ่า” เผ่าลีซู “ถ้าไม่ใช่ในหลวงก็ไม่ได้อยู่แผ่นดินนี้”

ล่าสุดทางด้าน นางอรอานันท์ แสงมณี นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ กลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นบุคลากรที่ดูแลการส่งเสริมการศึกษาในถิ่นทุรกันดารโดยตรง ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ที่ใช้ชื่อว่า “อรอานันท์ แสงมณี” ชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า เนื่องจากมีกระแสในโลกออนไลน์จากยูทูปเบอร์ชื่อดังคนหนึ่ง และเราได้มีส่วนร่วมในการทำงานของศศช. ทำให้เกิดความไม่สบายใจ และมีข้อมูลบางอย่างที่คลาดเคลื่อน

จึงขออนุญาต​ใช้พื้นที่เล็ก ๆ ​แนะนำให้ทุกท่านรู้จัก​ศศช.หรือศูนย์​การเรียน​ชุมชน​ชาวไทย​ภูเขา ​”แม่ฟ้าหลวง” เป็นสถานศึกษา​ในสังกัด​ สำนักงาน​กศน. กระทรวง​ศึกษาธิการ​ เป็นการจัดการศึกษา​ชุมชนที่ยึดชุมชนเป็นหลัก​ จัดกระบวนการเรียนรู้ให้ประชาชนทั้งชุมชน​ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทั้งการศึกษา​ต่อ​ มีอาชีพ​ และพัฒนาอาชีพของตนเอง​ ให้สามารถ​ดำรงชีวิตด้วยความสมดุลของธรรมชาติ​และสิ่งแวดล้อม​และนำมาเป็นส่วนร่วมในการจัดการศึกษา​ให้กับชุมชน​ มามากกว่า​ 40​ กว่าปี

มีกลุ่มเป้าหมาย​ 4 กลุ่ม​ ดังนี้

1. เด็กก่อนวัยเรียน​ อายุ​ 3-6 ปี จัดกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก​ โภชนาการ และดูพัฒนาการเด็กจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง​

2. เด็กวัยเรียนที่ไม่ได้รับการศึกษา ในระบบโรงเรียน​ อายุ​ 7-14​ ปี

กลุ่มนี้​ศศช.​บางแห่งเป็นสถานศึกษา​พื้นที่เป้าหมาย การพัฒนา​เด็ก​และ​เยาวชน​ใน​ถิ่น​ทุรกันดาร ตามพระราชดำริ​สมเด็จพระ​กนิษฐา​ธิราช​เจ้า​กรม​สมเด็จพระ​เทพ​รัตน​ราชสุดา​ ฯ​ สยาม​บรม​ราช​กุมารี​ ที่ดูแลทั่งด้านโภชนาการ​ สุขอนามัย​ วิชาการ​จริยธรรม​ ฯลฯ​ ให้มีคุณภาพชีวิต​ที่ดี

3. กลุ่มเป้าหมายผู้ใหญ่​ อายุ​ 15​-​59 ปี กลุ่มนี้จัดการศึกษา​พัฒนาอาชีพและทักษะชีวิต การศึกษา​ขั้นพื้นฐาน​ รวมถึงทักษะ​ฟังพูดอ่านเขียนภาษาไทยเพื่อสื่อสารและรับบริการ​ เช่น สถานพยาบาลเวลาเจ็บป่วยจะได้แจ้งอาการถูก เป็นต้น

4. ผู้สูงอายุ​ อายุ​ 60​ ปีขึ้นไป จัดกิจกรรม​ตามความสนใจของผู้เรียน

ปกติครูทำหน้าที่สอนเด็กและประชาชนในชุมชน เป็นการจัดการศึกษาตามบริบทชุมชนและโครงการอื่นๆ ในพื้นที่จากหลายหน่วยงานโดยให้​ ครู​ ศศช. เป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการ​ (บาง​ ศศช.เป็น​ 10 โครงการก็มี)​

และมักมีเครือข่ายมาให้การสนับสนุนอยู่บ่อย ๆ ทั้งเรื่องของ​ อาคารเรียน​ ศศช.​ ที่จะถูกสร้างการสนับสนุนจากผู้ที่สนใจ​ (แต่เดิมชาวบ้านในชุมชนเป็นคนสร้างอาคาร​ ศศช.)​ ข้าวของเครื่องใช้​ อาหารและยารักษาโรค​ต่าง ๆ​ ก็ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐตามพื้นฐาน​หรือจากผู้ให้การสนับสนุน

ด้วยพื้นที่ห่างไกล​ ระบบการใช้พลังงานไฟฟ้าไปไม่ถึงในบางพื้นที่ใช้พลังงานทดแทน​ พลังงานแสงอาทิตย์​ หรือน้ำ​ แต่อาจจะไม่ได้มีทั้งชุมชน

ภายใน​ ศศช.​ จะมีพลังงานทดแทนเหล่านี้สำหรับกิจกรรมการเรียนการสอนภายใน​ ศศช.

อยากอธิบายว่า

ประเด็นที่ 1 เด็กในพื้นที่ที่เขาไม่รู้จัก “ไข่เจียว” เนื่องจากเขาเรียกกันว่า “ทอดไข่”

ประเด็นที่ 2 ถ้าเด็ก ๆ ไม่รู้จักวิธีปลูกผัก เขาจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร ถ้าไม่มีผักรับประทาน

และยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าคิด เช่น ในคลิปบอกว่าในหมู่บ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ การศึกษาเข้าไม่ถึง แต่ในคลิปของยูทูปเบอร์ท่านนั้นที่ถ่ายตอนต้นคลิป (มุมสูง) ยังมีจานดาวเทียมตั้งตระง่านอยู่ในหมู่บ้านเลย คือ

อยากให้ทุกท่านได้เข้าไปดูในเพจของ ศศช.บ้านแม่เกิบ จะช่วยอธิบายอะไรหลาย ๆ อย่าง เพื่อความเป็นกลางค่ะ ขอบคุณที่อ่านจนจบนะคะ

อย่างไรก็ตามในโลกออนไลน์ได้มีการแชร์ความ ที่ระบุด้วยว่า รู้ไหมว่าเด็ก ๆ บ้านแม่เกิบที่พิมรี่พายไปช่วยเหลือ พวกเขาได้เรียนหนังสือเพราะใคร ?

คำตอบก็ คือ.. ได้เรียนหนังเพราะโครงการสมเด็จย่า เพราะพระองค์เป็นผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” เพื่อให้เด็กบนดอยได้เรียนหนังสือ

ท่านก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้นี้มานานเป็นสิบ ๆ ปีแล้วด้วยพระราชทรัพย์ของท่านเอง แม้ท่านจะสวรรคตไปนานแล้ว แต่โครงการและสิ่งที่ท่านทำไว้ให้กับราษฏรก็ยังคงอยู่ และจะอยู่ตลอดไป เพราะมีพระเทพฯและในหลวง ร.10 สืบสาน และต่อยอด


สำหรับศศช.​ 808 แห่งในพื้นที่​ 14​ จังหวัด​ ได้แก่​ เชียงราย​ เชียงใหม่​ ตาก​ น่าน​ แม่ฮ่องสอน​ แพร่​ พะเยา​ ลำพูน​ ลำปาง​ กาญจนบุรี​ ราชบุรี​ ประจวบคีรีขันธ์​ เพชรบุรี​ พังงา

ส่วนประวัติความเป็นมา เมื่อปี 2523 กรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ในขณะนั้น ได้จัดตั้งศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) ขึ้นโดยส่งครูอาสา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ครูดอย 1-2 คนเข้าไปฝังตัวพักอยู่กับประชาชน ในชุมชนและมีการสร้างอาคารขนาดเล็กเรียกว่า อาศรม ด้วยวัสดุท้องถิ่น เพื่อให้บริการการศึกษาและพัฒนาชุมชนแก่ผู้ใหญ่ในเวลากลางคืนและสอนเด็กตั้งแต่อนุบาล-ป.6 ในตอนกลางวัน มุ่งให้สามารถช่วยเหลือตนเองและเป็นพลเมืองดีของชาติ ซึ่งโครงการศศช.นี้ได้รับรางวัลจากองค์การยูเนสโกเมื่อปี 2537 ในฐานะที่เป็นแนวคิดใหม่ในการจัดการศึกษาโดยใช้ชุมชนเป็นพื้นฐาน ซึ่งมีการขยายเปิดตามชุมชนทุรกันดารถึง 773 แห่ง

เมื่อปีพ.ศ. 2535 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงอ่านหนังสือพิมพ์ และทรงพบจดหมายของครูอาสาสมัคร คนหนึ่ง ที่ ศศช.บ้านใหม่ห้วยหวาย จ.แม่ฮ่องสอน บรรยายความยากลำบากในการเป็นครูดอยในถิ่นกันดาร และขอรับการสนับสนุนสื่อการเรียนการสอน และสิ่งของ เครื่องใช้ในอาศรม ศศช.พระองค์ทรงมีความสนพระทัยที่จะพระราชทานความช่วยเหลือ จึงมอบหมายให้นายบุญธันว์ มหาวรรณ หน.คณะทำงานส่วนพระองค์ ไปสำรวจหาข้อมูล เพื่อให้ความช่วยเหลือ จึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ 80,000 บาท ให้สร้างอาคารขึ้นใหม่ และต่อมาได้พระราชทานความช่วยเหลือ และทรงรับศศช.ทุกแห่งไว้ในพระอุปถัมภ์

และในปีพ.ศ. 2539 กรมกศน.ได้ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน จึงได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานชื่อของศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ซึ่งเป็นพระราชสมัญญานามของพระองค์ท่าน “แม่ฟ้าหลวง” หรือ “สมเด็จย่า” แต่ชื่อย่อยังใช้ติดของเก่าว่า ศศช.เหมือนเดิม

การจัดการศึกษาสำหรับชุมชนบนพื้นที่สูงหรือเดิมเรียกว่า ศูนย์การศึกษาเพื่อ ชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.)หรือจะพูดง่ายๆ และพูดจนติดปากว่า “การศึกษาชาวเขา” ไม่ว่าจะพูดในลักษณะใดงานที่ดำเนินการก็คือ การให้บริการด้านการศึกษาสำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนบนพื้นที่สูงซึ่งประกอบด้วยประชากรหลายเผ่าพันธุ์และหลายเชื้อชาติ วิธีการศึกษาทั้งในระบบนอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ก็ไม่แตกต่างจากการจัดการศึกษาสำหรับชุมชนบนพื้นราบ แต่ถ้าพูดถึงกระบวนการการจัดการศึกษาทั้งด้านหลักการ

เป้าหมายและกระบวนการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ก็ค่อนข้างจะแตกต่างกันบ้างเพราะชุมชนบนพื้นที่สูงมีความแตกต่างกันหลาย ๆ ด้าน เช่น ความแตกต่างทางด้านภูมิประเทศ ความแตกต่าง ในวิถีชีวิต ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ความแตกต่างทางด้านความพร้อม ในการสื่อสารและการคมนาคมดังนั้น เป้าหมายของการจัดการศึกษา สำหรับชุมชนบนพื้นที่สูง

โดยรายละเอียดของหลักการเป้าหมายและวิธีการของการจัดการศึกษาศศช. กำหนดไว้ 3 ประการ คือ

1. เป็นการจัดการศึกษาเพื่อชีวิตแบะสังคมซึ่งหมายถึงเป็นการ จัดการศึกษาที่ผู้เรียนสามารถได้เรียนรู้ จากวิธีการ ดำรงชีวิตที่เป็นปกติประจำวันในทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องการกินอยู่หลับนอน การเจ็บป่วย การทำงานการพักผ่อน การสร้างความรื่นเริงบันเทิงใจ ฯลฯ

2. เป็นการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน หมายถึง การจัดการศึกษาที่สนองความต้องการของทุกคนในชุมชน สามารถแสวงหาทางเลือกและโอกาสที่จะเรียนรู้เท่าที่เวลาและโอกาสที่แต่ละคนจะสามารถเรียนรู้

3. เป็นการจัดการศึกษาตลอดชีวิต หมายถึง การเรียนรู้ที่อาศัยวิธีการทั้งในระบบนอกระบบและการศึกษา ตามอัธยาาศัย อันเกิดจากแรงจูงในที่จะเรียนรู้ตลอดช่วงอายุของคนหนึ่งซึ่งต้องเรียนรู้ทึกอย่างที่เดี่ยวกับการดำรงชีวิตซึ่งต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาเพื่อที่จะสามารถปรับตัวและดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม