วันที่ (7 มกราคม 2564) ที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ 13 แกนนำกลุ่มราษฎร ประกอบด้วย 1. น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ หรือมายด์ 2. นายกรกช แสงเย็นพันธ์ หรือปอ 3. นายชนินทร์ วงษ์ศรี 4. น.ส.เบญจา อะปัญ 5. นายวัชรากร ไชยแก้ว 6. นายณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 7. นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ 8. นายอัครพล ตีบไธสง 9. นายกฤษพล ศิริกิตติกุล 10. น.ส.สุธินี จ่างพิพัฒน์นวกิจ 11. น.ส.รวิสรา เอกสกุล 12. น.ส.ณัชชิมา อารยะตระกูลลิขิต 13. นายชลธิศ โชติสวัสดิ์
ทั้งนี้ กลุ่มแกนนำดังกล่าวได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับฟังการนัดหมายในการรายงานตัวต่ออัยการ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 กรณีกิจกรรมชุมนุมที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ถนนสาทรใต้ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563
โดย น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า คดีของแต่ละคนตอนนี้มีเยอะมาก ตนมี 9 คดี นอกจากนี้เริ่มมีเหตุการณ์ที่รัฐออกหมายย้อนหลัง เช่น คดีล่าสุดที่โดนไปเป็นหมายเรียกจากวันที่ 14 ตุลาคม ในข้อหาพ.ร.บ.การชุมนุม เป็นการออกย้อนหลังถึง 2 เดือน จึงเห็นถึงความพยายามของรัฐในการยัดข้อหาให้ประชาชน เช่นเดียวกับเพื่อนอีกหลายคนที่โดนหมายย้อนหลัง
คดีดังกล่าวเป็นการชุมนุมของกลุ่มราษฎร เริ่มจากเดินขบวนแยกสามย่านไปยังสถานทูตเยอรมนี ถนนสาทร ซึ่งตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานพร้อมออกหมายเรียกแกนนำและแนวร่วมนักศึกษาเข้ารับแจ้งข้อหาหลายความผิดด้วยกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ น.ส.ภัสราวลี และพวกได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในมาตรา 112 ในวันที่ 8 ตุลาคม 2563 ทั้งหมดให้การปฏิเสธ ต่อมาในเดือนพฤศจิกายนโดนหมายเรียกในความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 จากการชุมนุมในครั้งเดียวกัน
ด้าน นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ เปิดเผยว่า วันนี้มาให้คำให้การเพิ่มเติมเป็นเอกสาร และร้องขอให้เจ้าหน้าที่สอบปากคำเพิ่ม ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะสอบเพิ่ม เพื่อความเป็นธรรม ทำให้ระยะเวลาที่เราได้ยื่นขอให้สอบเพิ่มต้องขยายระยะเวลาออกไป ขณะนี้จึงได้นัดหมายกันว่าอย่างน้อยอีก 15 วัน ก็จะส่งตัวอัยการอีกครั้ง หากยังไม่เสร็จก็ต้องนัดหมายใหม่อีกครั้งหนึ่ง กล่าวสรุปคือมีการเลื่อนส่งตัวอัยการไปอีก 15 วัน วันนี้จึงได้มีการลงบันทึกประจำวันว่า พวกเราได้มารายงานตัวตามเรียกนัด
ย้อนไปเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 กลุ่มคณะราษฎร รวมตัวกันที่แยกสามย่าน เดินขบวนไปยังสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี โดยเคลื่อนไปตามถนนพระราม 4 ไปทางคลองเตย เลี้ยวขวาเข้าถนนสาทรใต้ ไปยังที่ตั้งของสถานทูตเยอรมนี
โดยในวันนั้น พ.ต.อ.พาติกรณ์ ศรชัย ผกก.สน.ปทุมวัน ได้แจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบว่า การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ถือเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ทั้งทางทรัพย์สินและการจราจร แต่การชุมนุมครั้งนี้ ผู้จัดไม่ได้แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะก่อนจัดชุมนุม จึงถือเป็นการฝ่าฝืน ม.10 พ.ร.บ.การชุมนุมฯ จึงอาศัยอำนาจตามกฎหมายสั่งยุติการชุมนุมภายในเวลา 17.30 น. จากนั้นตำรวจจะบันทึกหลักฐานต่าง ๆ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
และในเวลาประมาณ 19.52 น.ได้มีการอ่านแถลงการณ์ เป็นภาษาไทย ตามด้วยภาษาอังกฤษ และเยอรมัน โดยเนื้อหาในแถลงการณ์เป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมันตรวจสอบพระมหากษัตริย์ไทย ลงท้ายด้วยการตะโกนว่าศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ หลังจากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมยังคงปักหลักอยู่หน้าสุานทูตเพื่อรอให้แกนนำทั้ง 3 คนออกมา
หลังจากนั้นแกนนำทั้ง 3 คนได้ออกมาจากสถานทูตเยอรมัน และน.ส. ภัสราวลี ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยต่อผู้ชุมนุม โดยบอกว่าทางสถานทูตเยอรมันประจำประเทศไทยรับปากจะส่งข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมไปยังรัฐบาลเยอรมันเพื่อให้พิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งทางผู้ชุมนุมจะรอดูต่อไป ถ้ายังไม่มีการตอบสนอง ก็จะมาเจอกันอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 นี้จะพบว่าเหล่าแกนนำ หรือ กลุ่มคนที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ชุมนุมฝ่าฝืนกฎที่กำหนด กำลังถูกหมายเรียก ซึ่งบางคนทำผิดหลายคดี