“หมอศิริราช” เตือนโควิด-19 ครั้งนี้รุนแรง เจอเคสแปลก 17 ราย พบในคนอายุน้อย เสี่ยงไม่รอดชีวิต

4767

จากกรณีที่นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้แถลงสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประจำวันที่ 5 ม.ค. 2564 ระบุดังนี้

 

โดยพบผู้ป่วยติดเชื้อใหม่ 527 ราย แบ่งเป็น ติดเชื้อในประเทศ 82 ราย , ติดเชื้อในแรงงานประเทศเพื่อนบ้านจากการค้นหาเชิงรุก 439 ราย , ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 6 ราย โดยผู้ติดเชื้อก้อนใหญ่อยู่ในกลุ่มแรงงานประเทศเพื่อนบ้านที่มีการตรวจค้นหาเชิงรุก

ยอดผู้ป่วยสะสม 8,966 ราย แบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 6,900 ราย, ติดเชื้อในแรงงานประเทศเพื่อนบ้านจากการค้นหาเชิงรุก 2,476 ราย, ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2,066 ราย, ติดเชื้อในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 1,532 ราย

– ผู้ป่วยรักษาหายเพิ่ม 45 ราย / ยอดสะสม 4,397 ราย

-ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม / ยอดเสียชีวิตคงที่ 65 คน

– ผู้ติดเชื้อทั่วประเทศเพิ่มเป็น 56 จังหวัด


และการประชุมศบค.ชุดใหญ่ มีประเด็นสำคัญเรื่องมาตรการจัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามข้อกำหนดในม.9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีการลงรายละเอียดเพื่อให้คณะกรรมการมีข้อสั่งการและปรับในการปฏิบัติต่าง ๆ เพิ่มเติม จึงนำไปสู่ข้อสั่งการด่วนที่สุดของกระทรวงมหาดไทย ที่ออกโดยปลัดมท. ถึงผู้ว่าฯ ให้มีมาตรการสำหรับทุกพื้นที่ คือ ประชาชนต้องร่วมมือในการป้องกันโรค กรณีเคยเดินทางเข้าพื้นที่พบผู้ติดเชื้อ และพื้นที่ควบคุมสูงสุดต้องกักตัวเอง 14 วัน

มาตรการสำหรับจังหวัดควบคุมสูงสุด ต้องปิดสถานที่เสี่ยง ห้ามนั่งบริโภคในร้าน ตั้งแต่ 21.00-06.00 น. โดยห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน

ตรวจคัดกรองเดินทางข้ามจังหวัด หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด กับรอยต่อพื้นที่ควบคุมให้มีการบันทึกข้อมูลและดำเนินการตามมาตรการ สธ. ซึ่งหากเดินทางจากพื้นที่สีแดง ไปสีแดง ก็ต้องมีด่าน ยิ่งพื้นที่สีแดงไปพื้นที่ สีส้มก็ต้องมีด่านที่เข้มข้นมากขึ้น และอาจต้องตั้งด่านระดับหมู่บ้าน

งดเดินทางข้ามพื้นที่ เว้นแต่เหตุจำเป็นหรือขนส่งสินค้า จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม

นอกจากนี้ในพื้นที่ 5 จังหวัดที่มีการระบาดอย่างหนัก นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ได้เสนอให้มีการควบคุมสูงสุดกว่าปกติ คือ สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุนี ตราด ให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อกำหนดมาตรการเข้มงวดที่เข้มข้นกว่า ซึ่งสามารถออกมาตรการที่เข้มงวดกว่า ศบค.ได้ แต่อ่อนกว่าไม่ได้ เช่น ต้องเข้มงวดเวลาเปิดปิดร้านอาหารมากกว่า ตรวจการเข้าออกพื้นที่มากกว่า ทั้ง 5 จังหวัดดังกล่าวจะเข้มงวดมากขึ้นกว่า 23 จังหวัดที่เหลือ เพราะต้องตั้งจุดตรวจมากขึ้น ให้ทุกคนโหลดแอปพลิเคชั่นหมอชนะและไทยชนะไปใช้งาน

 

ทั้งนี้นพ.ทวีศิลป์ ยืนยัน สำหรับคำว่า “พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” ไม่ใช่เป็นการเล่นคำ แต่เป็นการผ่อนคลายจากระดับสูงสุดที่ผ่านมา ซึ่งถ้าหากยังจำกันได้ในช่วงเดือนมีนาคม 2563 ที่มีการประกาศล็อกดาวน์ นั่นหมายถึง การจำกัดการออกจากบ้านช่วงเวลา 22.00-04.00 น. การห้ามเดินทางเข้าา-ออก มีการประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกจากบ้าน การขนส่ง สนามบินหยุดทั้งหมด รวมไปถึงการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน ปิดห้างสรรพสินค้า-ศูนย์การค้า ฯลฯ ซึ่งคำว่า ล็อกดาวน์ คือสิ่งที่พูดมาต้องมีการเกิดขึ้นทั้งหมด

ขณะที่ “พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” ไม่ได้มีการเคอร์ฟิว การขนส่ง เดินทางต่าง ๆ ก็ยังสามารถทำได้ เดินทางได้ตามความจำเป็น แต่ต้องมีการตรวจอย่างเข้มข้น ต้องโหลดแอปฯ หมอชนะ เช็กชื่อผ่านแอปฯไทยชนะทุกคน ซึ่งมันอาจจะดูยุ่งยาก และไม่ได้รับสะดวก ส่วนการนั่งรับประทานอาหารที่ร้านก็ทำได้ แต่จะมีการจำกัดเวลา มีด่านเพิ่มขึ้น ยังนั่งรับประทานในร้านได้ (แต่จำกัดเวลา) มีด่านเพิ่มขึ้น เดินทางได้แต่ได้รับความสะดวกน้อยลง ยืนยันว่าไม่ใช้คำว่าล็อกดาวน์ แต่เป็นการทำให้เกิดความเข้มงวดขึ้นมา เป็นการออกแบบมาตรการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับประชาชนส่วนใหญ่ต้องไม่เดือดร้อน

นอกจากนี้ ทางด้านศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ระลอกใหม่ ว่า มีข้อสังเกตจากคนไข้อาการหนัก 17 คน ที่รักษาตัวที่ รพ.ศิริราช เนื่องจากเกิดขึ้นในคนอายุน้อย รวมถึงพบอัตราการเสียชีวิตในคนอายุน้อย เฉลี่ยอยู่ที่ 20-40 กว่าปี ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อติดเชื้อ COVID-19 จะไม่ค่อยมีอาการและมีอัตราการเสียชีวิตต่ำ

อย่างไรก็ตาม อาจไม่ใช่ปัจจัยจากไวรัสโดยตรง แต่สาเหตุเพราะมาพบแพทย์ช้า บางรายไม่มาพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการ เมื่อมาในช่วงอาการหนักจึงให้ยาฟาวิฟิราเวียร์ไม่ทัน ซึ่งยาดังกล่าวต้องได้รับตั้งแต่ต้น ๆ ย้ำว่าอย่ารอจนอาการหนัก คนที่มีความเสี่ยงหรือเริ่มมีอาการขอให้รีบมาพบแพทย์