หลังจากที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้จัดรายการเฟซบุ๊กไลฟ์พิเศษ ในหัวข้อ “ประเทศไทย 2021 : ข้อเสนอจัดการโควิดและวิกฤติเศรษฐกิจ” เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา
โดยมีใจความบางช่วงบางตอน ที่ได้ตั้งคำถามถึงงบประมาณจัดสรรการซื้อวัคซีนโควิด-19 และบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ที่ก่อตั้งด้วยทุนของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และมาจากพระราชปณิธาน ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9 )
ระบุว่า “มาตรการที่จะทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ได้ ต้องประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน 1) มาตรการในระยะที่ต้องทำทันที 2) มาตรการระยะสั้นที่ต้องทำในปีนี้ และ 3) มาตรการระยะยาวที่ต้องเริ่มทำในปีนี้แต่หวังผลได้ในอีก 2-3 ปีหน้า
“เริ่มที่ปัญหาวัคซีน ตอนนี้ที่เป็นข่าวอยู่คือทางรัฐบาลได้ร่วมมือกับ Siam Bioscience และบริษัท AstraZeneca ในการจัดหาวัคซีนสำหรับคนไทยจำนวน 26 ล้าน โดส 1 คนใช้ 2 โดส เพียงพอสำหรับคน 13 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด แผนนี้เราไม่เคยได้รับรู้รายละเอียดเลยว่าคนที่เหลือจะทำอย่างไร จะจัดสรรด้วยงบประมาณอย่างไร
ที่จะทำให้คนได้วัคซีนอย่างถ้วนหน้าและเป็นธรรม เมื่อตอนโควิดแพร่ระบาดใหม่ ๆ ในปีที่แล้ว ทั้งคณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกลได้นำเสนอประเด็นนี้ไปแล้ว ว่า พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้น ควรจะต้องตั้งเอาไว้เลย 6.7 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดสรรวัคซีนให้กับคนไทย จนเพียงพอที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นในประเทศ เสียดายที่รัฐบาลไม่เคยกันงบประมาณส่วนนี้ไว้ จนถึงวันนี้เราจึงยังไม่เคยเห็นว่ารัฐบาลจะมีตัวเลขประชากรเป้าหมายที่จะต้องได้รับวัคซีนเท่าไหร่ ใช้งบประมาณเท่าไหร่ จะไปหาจากบริษัทไหน และจะแจกจ่ายให้ประชาชนเมื่อไหร่ ตราบใดที่เรายังจัดการโจทย์นี้ไม่ได้
ไม่มีทางที่ประเทศและเศรษฐกิจจะเดินหน้าต่อไปได้ ไม่มีทางที่ประชาชนจะอยู่ด้วยความมั่นใจ จะใช้ชีวิตเป็นปกติด้วยความสบายใจ ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำทันทีคือสร้างความชัดเจนในเรื่องนี้ ว่าวัคซีนในประเทศไทยจะเข้าถึงคนทุกคน จนทำให้เกิดภูมิต้านทานหมู่ขึ้นในประเทศไทยได้ เพราะประชาชนไม่ใช่ภาระของประเทศ ประชาชนคือประเทศ”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ธนาธรพล่ามแก้โควิดยาว ๆ โหนปิดร.ร.แต่เปิดห้าง สุดท้ายวกเข้าเสรีภาพเยาวชน
ทางด้านดร.ทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ได้เปิดเผยว่า บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี จากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา และได้เตรียมความพร้อมทั้งด้านสถานที่ โรงงาน วัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ เครื่องจักร ปัจจุบันอยู่ในขั้นการทดสอบการผลิตเพื่อให้ได้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีคุณภาพดี มีมาตรฐานเทียบเท่ากับมาตรฐานกลาง ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับโรงงานผลิตทั่วโลก ภายใต้บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า มีกำลังผลิตประมาณ 200 ล้านโดสต่อปีหรือเดือนละ15- 20 ล้านโดส
ส่วนทางด้านนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับหลายฝ่าย เพื่อให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะได้รับวัคซีนในเวลาไม่ช้ากว่าประเทศส่วนใหญ่ โดยตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อคนไทย ได้เตรียมการหาข้อมูล วางเป้าหมาย วิธีการทำงาน มีกลไกต่าง ๆ ที่จะทำให้ได้วัคซีนมา ตั้งแต่ยังไม่ทราบผลการวิจัยวัคซีนชนิดใดที่จะประสบความสำเร็จ
โดยตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีนให้คนไทยโดยรัฐบาล ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของประชากร หรือประมาณ 70 ล้านโดส และได้ทำสัญญาจองซื้อวัคซีนล่วงหน้าจำนวน 26 ล้านโดสกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งใช้เทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และขณะนี้ อยู่ระหว่างถ่ายทอดกระบวนการผลิตให้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ คาดว่าจะเริ่มทยอยส่งมอบได้ภายในปลายเดือนพฤษภาคม
ส่วนอีกร้อยละ 30 อยู่ระหว่างการเจรจากับ COVAX เพื่อทำข้อตกลงกับบริษัทผลิตวัคซีนที่คาดว่ามีโอกาสนำมาใช้ได้ รวมทั้งได้เจรจากับบริษัทอื่น ๆ เช่น ไฟเซอร์ , โมเดอร์นา , บริษัทจากประเทศจีน หรืออาจขอซื้อเพิ่มจากแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อให้ได้วัคซีนตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ความสำคัญของทางรอดวิกฤตครั้งนี้ ทางบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ได้เข้ามามีส่วนสำคัญในกระบวนการผลิต ซึ่งบริษัทนี้ ถูกจัดตั้งมาจากพระราชปณิธาน ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยทรงพระราชทานพระราชดำรัสเรื่องสุขภาพของประชาชน ด้วยทรงเห็นว่า ‘คน’ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะพัฒนาประเทศ สร้างความพอมี พอกิน และทรงให้ความสำคัญในการฟื้นฟูปัญหาสุขภาพของประชาชน เพื่อการพัฒนาประโยชน์สุขให้เกิดกับส่วนรวมและประเทศชาติ
ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2552 โดยทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ถือหุ้น 100% ด้วยทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 บริษัทหลักคือ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด และบริษัท เอเพ็กซ์เซล่า จำกัด โดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จะดำเนินการวิจัย พัฒนา และผลิตยา เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ มีการวิจัยพัฒนาและผลิตครบวงจร ตั้งแต่ตัวยาสำคัญและสารออกฤทธิ์ จนถึง ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป
ขณะที่ บริษัท เอเพ็กซ์เซล่า จำกัด จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2553 เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการตลาดและการขายทั้งในประเทศและส่งออก รวมทั้งการพัฒนาธุรกิจสร้างเครือข่ายพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ
และในปี 2560 เครือสยามไบโอไซเอนซ์ ได้มีการจัดตั้งบริษัทลูกอีก 2 บริษัท เพื่อต่อขยายธุรกิจ คือ
บริษัทเอบินิส จำกัด เพื่อวิจัย พัฒนา ผลิตและส่งออกยาชีววัตถุอย่างครบวงจร เน้นยารักษาโรคมะเร็ง โรคโลหิตจาง และโรคแพ้ภูมิตนเอง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ สะเก็ดเงิน เป็นต้น โดยเป็นบริษัทร่วมทุนกับ CIMAB รัฐวิสาหกิจยาอันดับหนึ่งของคิวบา
และบริษัท อินโนไบโอคอสเมด จำกัด เพื่อผลิตและจำหน่าย ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ชีวเวชสำอาง ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากงานวิจัยและพัฒนาของเครือฯ
พร้อมผลิตวัคซีนโควิด-19 เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย ทำการผลิตต่อ แจกจ่ายหรือบรรจุ ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมเอาไว้ และวันนี้ทุกอย่างถือว่าพร้อมรับหากวัคซีนผลิตได้สำเร็จ นอกจากที่ดูแลและจ่ายประชาชนในประเทศ ยังมีสัญญากับอาเซียนว่าจะต้องดูแลซึ่งกันและกัน และวัคซีนจะต้องเป็นสินค้าสาธารณะเพื่อให้คนทุกคนนั้นเข้าถึง ส่วนด้านการวิจัย พัฒนายา และวัคซีน หรือการวิจัยอื่น ๆ รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว มีการจัดทำกองทุนและระเบียบใหม่ในการวิจัยและพัฒนา ซึ่งในขณะนี้มีหลายผลิตภัณฑ์ทางสุขภาพที่มีการผลิตภายในประเทศ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประเทศด้วย พร้อมกับในอนาคต หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าและสามารถฟื้นฟูได้ ประเทศไทยจะต้องพึ่งตัวเองให้ได้ในเรื่องวัคซีน และจะต้องเพียงพอต่อประชาชน
นอกจากนี้นายกฯ ยังเคยกล่าวตอนหนึ่งด้วยว่า “มีพยานมาวันนี้ บริษัทสยามไบโอไซน์ของเราซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย เป็นพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าเราจะต้องมีบริษัทหรือหน่วยงานที่จะต้องผลิตยาและวัคซีนให้คนไทยให้เกิดความทั่วถึงในประเทศ ซึ่งถือเป็นสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ด้วย ซึ่งรัชกาลที่ 10 ก็ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดตรงนี้มา
และทรงพระราชทาน พระราชานุญาตให้บริษัทสยามไบโอไซน์ เป็นผู้ที่จะทำการผลิตต่อ ถ่ายทอดเทคโนโลยีเข้ามาด้วย และคงไม่ใช่แค่ตรงนี้ เพราะวันหน้าเราไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นมาอีก แต่อันนี้ถือเป็นความพร้อมของเราแล้ว ให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมในเรื่องของวัคซีน ก็ขอให้คนไทยทุกคนได้ช่วยกันตั้งจิตให้ทุกอย่างสำเร็จด้วยดี”
อย่างไรก็ตามในเฟซบุ๊กของทนายอานนท์ นำภา ยังได้โพสต์ข้อความในทำนองต้องการดิสเครดิต การทำงานของบริษัทสยามไบโอไซน์ ระบุว่า “รู้แหละ ว่าช้าเพราะอะไร
คำถามคือ มีการประมูลแข่งกันหรือไม่ ทำไมไม่ให้เอกชนอื่นทำ ทำไมต้องบริษัทของกษัตริย์วชิราลงกรณ์ ” ซึ่งจากข้อมูลข้างต้นก็พอจะเห็นได้แล้วว่า ในหลวงทั้ง 2 พระองค์ได้มีสายพระเนตรอันยาวไกล ที่มองเห็นความสำคัญในการก่อตั้งบริษัท เพื่อต้องการช่วยเหลือประชาชน และทำการผลิตวัคซีน ผลิตยา เพื่อจำหน่ายในราคาที่ไม่แพงมากนัก ช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน และถึงแม้ว่าวันนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะไม่อยู่แล้ว แต่ประชาชนคนไทยก็ยังได้พึ่งพระบารมีของพระองค์ท่าน นำมาซึ่งความซาบซึ้งใจอย่างยิ่ง ในท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังยากลำบากเช่นนี้