คลังตุนกระสุนกว่า 6 แสนล้านบาทสู้โควิด-19 ระบาดใหม่!?! ยันจีดีพี 3.6% ส่งออกขยาย 4.5%

1797

กระทรวงการคลังยันกระสุนพร้อมเป็นเม็ดเงินที่ไม่มีภาระผูกพัน เตรียมงบฯสู้โควิดระบาดใหม่ไว้กว่า 6 แสนล้าน มั่นใจเพียงพอ คาดจีดีฟีปีนี้ 3.6% ส่วนส่งออกขยายตัว 4.5% ชี้การใช้จ่ายภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก พร้อมไปกับการกระตุ้นการใช้จ่าย ดูแลภาคเปราะบาง ภาคแรงงาน รอมีวัคซีนหนุนช่วยการระบาดโควิด-19 รอบใหม่คลี่คลายอีกไม่นาน 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ยืนยันว่า รัฐบาลมีงบเพียงพอในการรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ เพราะรัฐบาลยังมีเม็ดเงินที่ไม่มี ‘ภาระผูกพัน’ ประมาณ 6-7 แสนล้านบาท สำหรับใช้พยุงเศรษฐกิจตลอดทั้งปี 2564 ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 1 ธ.ค.2563 พบว่าเงินกู้จากพ.ร.ก.กู้เงินฯเหลืออยู่ 5.09 แสนล้านบาท รวมถึงยังมีงบกลางรายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อีก 4.03 หมื่นล้านบาท และงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 9.9 หมื่นล้านบาท

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ โดยมีวงเงินรวมกว่า 6 แสนล้านบาท จากงบกลาง 2564 และจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท

“ผมประเมินว่าวงเงินกว่า 6 แสนล้านบาท เพียงพอใช้ดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดรอบนี้ เพราะเชื่อว่าประชาชนทุกภาคส่วนจะร่วมมือป้องกันการระบาด และการติดเชื้อต่อวันที่สูงกว่าปีที่แล้ว ทำให้ประชาชนระวังมากขึ้น เชื่อว่า ภายใน 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือนนับจากนี้ เราน่าจะเห็นตัวเลขติดเชื้อลดลง”

ทั้งนี้ หากสถานการณ์ยืดเยื้อและรัฐบาลจำเป็นต้องใช้วงเงินเพิ่มก็สามารถดึงงบประมาณจากส่วนราชการมาใช้ได้อีก ซึ่งเหมือนปี 2563 ที่เราบังคับโอนงบประมาณมาใช้ได้ 8 หมื่นล้านบาท แต่ขณะนั้นเป็นช่วงยังไม่ออก พ.ร.ก.กู้เงิน แต่ขณะนี้มีวงเงินกู้ที่คงเหลือมากจึงเชื่อว่าจะเพียงพอและการบังคับโอนงบประมาณจากส่วนราชการเป็นทางเลือกสุดท้าย

ภาวะเศรษฐกิจไทย 2564

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบ สำหรับเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2563 กระทรวงการคลังมองว่า  มีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 7.8 เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวดทั้งในและต่างประเทศ  การท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า เป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ในส่วนของการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 8.2  โดยการส่งออกไปอาเซียนและตะวันออกกลางยังอยู่ในระดับต่ำตามแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ขณะที่การส่งออกไปกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักและจีนเริ่มทยอยฟื้นตัว

ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ3.6 คาดว่าการส่งออกจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 ขณะที่การส่งออกบริการมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าเนื่องจากคาดว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวได้จำกัด จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 9 ล้านคน ด้านอุปสงค์ในประเทศการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ในส่วนการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว แต่ยังมีปัจจัยฉุดรั้งจากหนี้ครัวเรือนสูง รวมถึงรายได้ครัวเรือนที่เปราะบางและไม่แน่นอนสูง โดยมีสาเหตุมาจากปริมาณผู้ว่างงาน และเสมือนผู้ว่างงานที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวันอยู่ในระดับสูง และผู้มีงานทำมีรายได้ลดลงจากค่าจ้างและค่าล่วงเวลาที่ลดลง

ขณะที่เสถียรภาพระบบการเงินไทยยังมีความเสี่ยงสูงตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวมากจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ฐานะทางการเงินของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเปราะบางและมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้  อย่างไรก็ตามมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อเชิงรุกของภาครัฐที่ได้ดำเนินการไป รวมถึงมาตรการเพิ่มเติมที่ตรงจุดมากขึ้น เช่น โครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจธุรกิจไทยมั่นคง และมาตรการการปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้รายย่อยโดยการรวมหนี้ จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ถึงจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19  และเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่แตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจและผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม ภาครัฐจึงควรใช้มาตรการที่ตรงจุด ทันการณ์ และเอื้อให้เกิดการปรับตัวอย่างเหมาะสม รวมทั้งบูรณาการมาตรการให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกันมากขึ้น ทั้งนี้นโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนนโยบายการคลังผ่านต้นทุนการกู้ยืมในตลาดการเงินที่อยู่ในระดับต่ำภายใต้สภาพคล่องในตลาดการเงินที่มีอยู่สูง