ปี 2564 สัญญาณบวกของเศรษฐกิจไทย จากมาตรการรัฐที่ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นกำลังซื้อและ หนุนการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศทำให้ระบบเศรษฐกิจการเงินหมุนเวียนประคองตัวผ่านภาวะถดถอยมาได้ ปีนี้เป็นปีแห่งความท้าทาย ส่วนหนึ่งจะได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงภายในที่ถ่วงรั้งทำให้เศรษฐกิจไทยอาจไม่ฟื้นตามเศรษฐกิจโลก ที่สำคัญคือ การเมืองร้อนที่ประกาศจะถล่มรัฐบาลในทุกวิถีทางทั้งในสภาและท้องถนน ท่ามกลางการระบาดใหม่โควิด-19รุนแรง ปีนี้ได้เวลาผนึกกำลังทั้งรัฐบาล-ประชาชน-ภาคเอกชน เตรียมรับมือภัยเชื้อโรค-ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่จะถาโถมเข้ามา ร่วมมือกันนำพาประเทศชาติสู่ความเจริญรุ่งเรืองให้จงได้
จริงหรือถ้าเศรษฐกิจโลกฟื้นไทยจึงฟื้น? ปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัว
ไอเอ็มเอฟ:กองทุนการเงินระหว่างประเทศประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ตั้งแต่ต้นปีจนถึงล่าสุดเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีการปรับมุมมองเศรษฐกิจดีขึ้นต่อเนื่อง โดยไอเอ็มเอฟคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัว 4.4% และขยายตัว 5.2% ในปี2564
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นำโดยสหรัฐ และจีน โดยไอเอ็มเอฟ คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐปีนี้จะหดตัว 4.3 % และเติบโต 5.2% ในปีหน้า เศรษฐกิจยูโรโซนปีนี้หดตัว 8.3% และปีหน้าขยายตัว 5.2% ญี่ปุ่นปีนี้จีดีพีหดตัว 5.3% และปีหน้าขยายตัว 2.3% กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ปีนี้หดตัว 3.3% และปีหน้าขยายตัว 6.% ส่วนจีนปีนี้ขยายตัว 1.9% และปีหน้า 8.2%
โออีซีดี: องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ เพิ่งประกาศปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้หดตัว 4.2% และกลับเติบโต 4.2% ในปีหน้าเนื่องจากมีความคืบหน้าเรื่องวัคซีนต้านโควิด-19 ทำให้ความเชื่อมั่นมีเพิ่มขึ้น สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจยังมีสัญญาณบวก จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่และการกระจายวัคซีนจะช่วยเสริมการฟื้นตัวต่อเนื่อง
โดยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯทยอยปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งดัชนีภาคการผลิตที่แตะระดับสูงสุดในรอบ 68 เดือน รวมถึงดัชนีภาคบริการที่เพิ่มสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 5 ปี ขณะเดียวกันยังมีความคืบหน้าเกี่ยวกับวัคซีนโดยคาดว่าจะเริ่มฉีดแก่ประชาชนกลุ่มแรกประมาณสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนธันวาคมและอาจกระจายวัคซีนให้กับประชาชนถึง 70% ภายในเดือนพฤษภาคม 2564
นักวิเคราะห์บลูมเบิร์กคาดศ.โลกจะค่อยๆฟื้น เศรษฐกิจโลกและสหรัฐฯ ในปี 2564 นักวิเคราะห์โดยเฉลี่ยที่ลงตัวเลขประมาณการใน Bloomberg คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวถึง 5.1% ในปี 2564 จากที่จะหดตัวในปี 2563 ขณะที่มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโต 3.8% ในปีหน้าขณะที่ติดลบ -5.1% ในปีนี้ ซึ่งนับเป็นการฟื้นตัวที่จัดว่าดีทีเดียว
เมื่อดูจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 3 ของปี 2563 ที่ทยอยประกาศออกมาพบว่าตัวเลขเริ่มมีการทยอยฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับทั้งตัวเลขการจ้างงาน ตัวเลขด้านการผลิต การบริโภค และแม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ จะยังสูงขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตกลับลดลง อีกประเด็นที่สำคัญคือเรื่องของวัคซีนซึ่งดูมีความคืบหน้าเป็นลำดับทั้งจากทางจีน รัสเซีย และสหรัฐฯ ซึ่งถ้าโลกมีความหวังได้วัคซีนเมื่อไหร่ และสามารถนำออกแจกจ่ายได้ในวงกว้าง ความเชื่อมั่นของภาคผู้บริโภคและการท่องเที่ยวน่าจะเริ่มฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน
เศรษฐกิจไทยฟื้นแน่จากปัจจัยภายในและเศรษฐกิจโลกฟื้น
สภาพัฒน์ฯมองเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเป็นบวกแม้มีความไม่แน่นอน รายงานของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ที่ได้มีการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2564 จะขยายตัว 3.5-4.5% มีมูลค่าการส่งออก ขยายตัว 4.2% การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 2.4% และการลงทุนรวมขยายตัว 6% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.7-1.7% และดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุล 2.6% ของจีดีพี
เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยบวกจาก 1. การปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ 2. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก 3. การเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณและมาตรการทางเศรษฐกิจของภาครัฐ ปัจจัยด้านลบ 1.สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ 2. การรับมือระบาดโควิด-19 รอบใหม่สามารถควบคุมได้หรือไม่ ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมาก 3. มาตรการกีดกันการค้าจากมหาอำนาจซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูง
ธนาคารแห่งประเทศไทย:ดร.ดอน นาครทรรพ ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน วิเคราะห์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ปี 2564 ว่า ค่อนข้างแน่นอนที่เศรษฐกิจโลกสามารถหลีกพ้นการซ้ำรอย Great Depression ไม่เพียงเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังของปี 2563 จะฟื้นตัวได้ดีกว่าที่ทุกฝ่ายคาด แต่การค้นพบวัคซีนโควิด-19 ปิดประตูที่เศรษฐกิจโลกจะกลับไปหดตัวลึกเหมือนช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ที่มีการพร้อมใจกันล็อคดาวน์ทั่วโลก
ภาพรวมประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งออกมาหลังจากที่เริ่มการระบาดรอบใหม่แล้ว ถือว่าดีขึ้นกว่าประมาณการรอบเดือนกันยายนพอสมควร แม้ประมาณการเศรษฐกิจของปี 2564 จะปรับลดลงจากร้อยละ 3.6 เป็นร้อยละ 3.2 แต่ก็ถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับประมาณการปี 2563 ที่ปรับดีขึ้นจากติดลบร้อยละ 7.8 เป็นติดลบร้อยละ 6.6 และที่สำคัญ รอบนี้มีการประกาศประมาณการของปี 2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.8 ซึ่งแสดงถึงการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ก็น่าจะยังขยายตัวเป็นบวกได้ ทั้งนี้เป็นเพราะปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่กำหนดทิศทางของเศรษฐกิจไทยในข่วงวิกฤตโควิด-19 คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยมีการใช้จ่ายกันเองในประเทศเป็นปัจจัยเสริม ซึ่งประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดของ ธปท. ใช้สมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2564 ที่เพียง 5.5 ล้านคน ซึ่งต่อให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาเลย ไม่ว่าจะเพราะกลัวการติดเชื้อ หรือเพราะรัฐบาลยังคงจำกัดการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยว ก็ทำให้ประมาณการลดลงไม่มาก ต่างจากปี 2563 ที่จีดีพีดำดิ่งเพราะจำนวนนักท่องเที่ยวหายไปจากปี 2562 ถึงกว่า 30 ล้านคน คิดเป็นรายได้เงินตราระหว่างประเทศที่หายไป 15 ล้านล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 9 ของจีดีพีปี 2562
นอกจากนี้ ในส่วนของการใช้จ่ายกันเองในประเทศ เชื่อมั่นว่าภาครัฐเรียนรู้การรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับสาธารณสุขจากการระบาดรอบแรก และหากการแพร่ระบาดมีความรุนแรงมาก ภาครัฐก็มีความพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และความไม่เชื่อมั่นในการใช้จ่าย โดยการออกมาตรการการเงิน การคลัง และสถาบันการเงินเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ในที่สุดแล้ว เศรษฐกิจยังประคองตัวไปได้ ดังเช่นที่เห็นในหลายประเทศ
ผลกระทบทางเศรษฐกิจของการระบาดรอบใหม่จะทำให้เวลาที่ต้องใช้ในการฟื้นตัวลากยาวออกไป การฟื้นตัวในที่นี้ ไม่ใช่การฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ที่หลายสำนักคาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี (ปี 2565) แต่หมายถึงการฟื้นตัวกลับไปสู่แนวโน้มเดิมในกรณีที่ไม่มีโควิด-19
ในมิติสาธารณสุข ศึกนี้อาจจะจบภายในสองสามปีเมื่อไทยเรามีภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ในมิติเศรษฐกิจ ศึกนี้ยังอีกยาวไกล!