EICไทยพาณิชย์ฟันธง!?! โอกาสอุตฯข้าวไทยยังรุ่ง คาดส่งออกข้าวปี 64 โต 31% 7.5 ล้านตัน

2072

“ข้าวไทย” โอกาสและความท้าทายปี 2021 ภายใต้ระบาดใหม่โควิด-19 แม้ส่งออกข้าวโดยรวม 11 เดือนปีนี้ 5.8 ล้านตันต่ำกว่าเป้าที่คาดไว้ แต่โดยรวมถือว่าส่งออกข้าวยังโต 27.8% ส่วนข้าวหอมมะลิโต 1.57% มีมูลค่าสวนกระแสโควิด-19 ระบาด โดย 4 ตลาดหลักยอดสั่งซื้อโตต่อเนื่อง แคนาดาทะลุกว่า 100,000 ตันสูงสุดในประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ-ธุรกิจ EIC ของธนาคารไทยพาณิชย์ประเมินว่าปีหน้าโอกาสส่งออกข้าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 31%โต 7,500,000 ตัน

อนาคตข้าวไทยอนาคตของคนไทย

4 ตุลาคม 2563 ข้าวหอมมะลิไทยคว้าแชมป์ข้าวที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2563 (TheWorld’s Best Award 2020) สร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานของข้าวหอมมะลิไทยให้แก่ผู้บริโภคทั่วโลกได้เป็นอย่างดี

ยอดส่งออกข้าวหอมมะลิไทย 11 เดือน โต 1.57%  สวนกระแสเศรษฐกิจยุคโควิดระบาด  โดยตลาดหลัก 4 ประเทศมีคำสั่งซื้อโตต่อเนื่อง ตอกย้ำความเป็นข้าวเกรดพรีเมี่ยมเป็นที่ต้องการของตลาดกำลังซื้อสูง

เรื่องนี้นายกีรติ รัชโน  อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวหอมมะลิไทยตั้งแต่เดือน ม.ค.- พ.ย.2563 หรือ 11เดือน มีปริมาณ 1.29 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.57%  เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีมูลค่า 1,312.98 ล้านดอลลาร์ ถือว่าลดลงจากปีก่อน 0.93% เนื่องจากราคาข้าวหอมมะลิลดลง อย่างไรก็ตามก็ยังถือว่าข้าวหอมมะลิไทย สามารถรักษาระดับการส่งออกได้ดีแม้มีราคาสูงกว่าคู่แข่งและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด- 19ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก แสดงว่าของดียังมีโอกาส

การส่งออกไปยังตลาดสำคัญ 4 ประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกรวมกว่า 50 % ของการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยทั้งหมด ได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา สิงคโปร์ และฮ่องกง โดยปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปยังตลาดดังกล่าวเพิ่มขึ้น 10.46%  และมูลค่าเพิ่มขึ้น 4.69 % 

ปีนี้ตลาดข้าวไทยที่แคนาดาเปรี้ยงปร้าง  ไทยสามารถส่งออกข้าวทะลุกว่า 108,259 ตัน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยในช่วง 11เดือนแรก (ม.ค.-พ.ย.)ไทยส่งออกข้าวไปแคนดา 108,259 ตัน เพิ่มขึ้น21.78%เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ส่งออกข้าวปริมาณ 88,899 ตันเป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันของกรมการค้าต่างประเทศและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโตรอนโตและนครแวนคูเวอร์ ได้จัดกิจกรรมเชิงรุกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานข้าวไทยให้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องในหลายช่องทางเช่น การพบปะหารือกับผู้นำเข้า (Importers) และผู้กระจายสินค้า(Distributors) เพื่อขยายช่องทางการตลาดการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์เมนูอาหารไทยจากร้าน Thai  Select โดยเน้น  ข้าวหอมมะลิไทยและข้าวสีของไทย สนับสนุนการบริการอาหารจากร้านดังกล่าวส่งตรงถึงผู้บริโภค (Delivery)ผ่านแอพพลิเคชั่นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID -19 และยังมีมาตรการ Lock down เป็นต้น

สมาคมฯมองส่งออกข้าวทั้งปีอาจต่ำกว่าเป้า ปีหน้าต้องเร่งสปีด

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเปิดเผย 11 เดือน ส่งออกข้าว 5,244,557 ตัน มูลค่า  3,418.8 ล้านดอลลาร์ คาดเดือนธ.ค.ส่งออก 600,000 ตัน  ทั้งปีส่งออกรวม 5.7-5.8 ล้านตัน ไม่ถึงเป้าที่วางไว้ 6.5 ล้านตัน

สถานการณ์การส่งออกข้าวไทย  

การส่งออกข้าวในช่วง 11 เดือนปี 2563 (ม.ค.-พ.ย.)  มีปริมาณ 5,244,557 ตัน มูลค่า  3,418.8 ล้านดอลลาร์ โดยปริมาณส่งออกลดลง 26.3% และมูลค่าลดลง 12.1% เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีการส่งออกปริมาณ 7,119,158 ตัน มูลค่า 3,898.6 ล้านดอลลาร์

โดยเฉพาะในเดือนพ.ย. มีปริมาณ 721,779 ตัน เพิ่มขึ้น62%มูลค่า 13,072 ล้านเพิ่มขึ้น  53% เมื่อเทียบกับเดือนต.ค. 2563 ที่ส่งออกปริมาณ 445,144 ตัน มูลค่า 8,561 ล้านบาท เนื่องจากประเทศ ผู้นำเข้าได้นำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมไว้สำหรับเทศกาลปลายปีนี้และต้นปีหน้า ส่งผลให้การส่งออกข้าวขาวมีปริมาณ 255,779 ตัน เพิ่มขึ้น 89% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น บราซิล เบนิน จีน โมซัมบิก สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก แองโกล่า เป็นต้น

ขณะที่การส่งออกข้าวนึ่งปริมาณ 249,425 ตัน เพิ่มขึ้น 39% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่ส่งไปตลาดประจำ ในแถบแอฟริกา เช่น เบนิน แอฟริกาใต้ เยเมน แคเมอรูน เป็นต้น 

ส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 124,245 ตัน เพิ่มขึ้น 74% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนซึ่งส่วนใหญ่ยังคงส่งไปยังตลาดประจำ เช่น สหรัฐฯ จีน ฮ่องกง แคนาดา เป็นต้น

สมาคมฯคาดว่าในเดือนธ.ค. ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ประมาณ 600,000 ตัน ซึ่งจะทำให้ในปีนี้ไทยส่งออกข้าวได้ประมาณ 5.7-5.8 ล้านตัน เนื่องจากในช่วงนี้ประเทศผู้นำเข้าในแถบแอฟริกาได้นำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่องทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่ง ขณะที่ตลาดประจำที่นิยมบริภาคข้าวฤดูใหม่โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิยังคงนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาข้าวมีแนวโน้มอ่อนตัวลง อย่างไรก็ตามการส่งออกข้าวในช่วงนี้อาจจะมีปริมาณไม่มากเหมือนช่วงเวลาปกติ เนื่องจากผู้ส่งออกประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ประกอบกับค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้การส่งมอบสินค้าต้องล่าช้ากว่ากำหนดและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

สำหรับราคาข้าวของไทยในช่วงนี้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่ง ขณะที่ข้าวหอมมะลิค่อนข้างทรงตัว ท่ามกลางภาวะค่าเงินบาทที่ยังอยู่ในทิศทางแข็งค่า ซึ่งส่งผลให้ราคาข้าวไทยห่างจากอินเดียประมาณ 150 ดอลลาร์ต่อตัน ทั้งนี้สมาคมฯ ได้ตั้งเป้าการส่งออกปี 63  ไว้ที่  6.5 ล้านตัน หรือมูลค่าประมาณ 4,200 ล้านดอลลาร์  แต่ปีนี้ส่งออกได้เพียง5.7-5.8 ล้านตัน ถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้

ปี 2021 อุตฯข้าวไทยจะฟื้นตัวโอกาสในวิกฤตโควิดรออยู่

ศูนย์วิเคราะห์EIC ธนาคารไทยพาณิชย์วิเคราะห์ “อุตสาหกรรมข้าวไทยปี 2021”โดยมองว่า ในปี 2020 การส่งออกข้าวไทยต้องเผชิญแรงกดดันและความท้าทายหลายด้าน ทั้งราคาส่งออกที่พุ่งสูงขึ้นทำให้แข่งขันในตลาดโลกยากขึ้น จากสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงที่ทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวลดลงจากปกติ รวมทั้งประเทศผู้นำเข้าข้าวหันไปนำเข้าข้าวจากอินเดียซึ่งราคาต่ำกว่ามากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยลบจากการแข็งค่าของเงินบาทสะสมในช่วงก่อนหน้า รวมถึงสายพันธุ์ข้าวไทยเริ่มไม่ตอบโจทย์ความนิยมบริโภคข้าวในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดย EIC คาดว่า  ปริมาณการส่งออกข้าวไทยในปี 2020 จะอยู่ที่ 5.7 ล้านตัน หดตัว -24%YOY

 

สำหรับในปี 2021 EIC คาดว่า ปริมาณการส่งออกข้าวไทยจะฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ 7.5 ล้านตัน ขยายตัว 31%YOY โดยประเทศผู้นำเข้าข้าวยังคงมีแนวโน้มเพิ่มปริมาณสต็อกข้าวในประเทศ เป็นโอกาสสำหรับการส่งออกข้าวไทย ขณะที่โครงการประกันรายได้ในปี 2020/2021 รวมถึงเงินสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิต ที่ในเบื้องต้นกำหนดที่ 500 บาท/ไร่ จะยังจูงใจให้ชาวนาเพาะปลูกข้าวต่อไป ประกอบกับปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการเพาะปลูกข้าวนาปีปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 เป็นต้นมา จะส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งอุปทานที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกในปี 2021 มีแนวโน้มลดต่ำลงจากปีนี้ และทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาส่งออกข้าวไทยกลับมาปรับตัวดีขึ้น