สัญญาณเมกะโปรเจ็กต์แห่งปีเริ่มแล้ว กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS นำโดย “บางกอกแอร์เวย์-BTS-ซิโนไทย” เซ็นสัญญาปิดดีลสัมปทาน 50 ปี ได้รับผิดชอบพัฒนา“สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก” มูลค่าลงทุน 2.9 แสนล้านบาท บริษัท UTAได้เริ่มตอกเสาเข็มอาคารสำนักงาน ซึ่งจะเปิดเป็นทางการต้นปี 2564 นับเป็นปฐมฤกษ์แห่งการเดินหน้า โครงการฯอย่างเป็นรูปธรรม หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ตั้งเป้าหมายพัฒนาเป็นศูนย์กลางการบินแห่งภูมิภาค ท่ามกลางโควิด-19 ยังระบาดนี้ เป็นการกระตุ้นการลงทุน เพื่อผลักดันรากฐานเศรษฐกิจทั้งระยะกลางและระยะยาว
บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA เป็นผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้ลงนามกับรัฐบาลไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ถือเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของอีอีซี มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3” เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง รวมถึงการเป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบิน ภาคตะวันออก” ซึ่งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์การพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางทางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย
โครงการ “สนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก” มีพื้นที่ 6,500 ไร่ เป็นการร่วมลงทุนระหว่าง กองทัพเรือ และ UTA มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท แบ่งเป็น วงเงินของภาครัฐ 1.04 แสนล้านบาท และวงเงินเอกชน 1.86 แสนล้านบาทโครงการที่รัฐได้ผลประโยชน์ด้านการเงิน 305,555 ล้านบาท ได้ภาษีอากรกว่า 62,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปีในระยะ 5 ปีแรก
โมเดลจำลอง (scale model) ของสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกและพื้นที่เกี่ยวข้อง จะลงทุนพัฒนาบนเนื้อที่ 6,500 ไร่ ซึ่งนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ และ คีรี กาญจนพาสน์มีความตั้งใจให้เป็นโปรเจ็กต์มาสเตอร์พีซในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และผลักดันให้ “ประเทศไทย” เป็นศูนย์กลางทางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย
ปฐมฤกษ์อัญเชิญเสามงคลก่อสร้างอาคารสำนักงาน
บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA นำโดย นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ นายคีรี กาญจนพาสน์ นายกวิน กาญจนพาสน์ นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายภาคภูมิ ศรีชำนิ นายรังสิน กฤตลักษณ์ และคณะกรรมการบริษัทฯ ประกอบพิธีอัญเชิญเสามงคลเพื่อเป็นปฐมฤกษ์ ในการก่อสร้างอาคารสำนักงาน ณ พื้นที่ก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 99 หมู่ 14 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ด้วยวงเงิน 50 ล้านบาท โดยซิโน-ไทยฯ เป็นผู้ดูแลงานก่อสร้าง มีกำหนดแล้วเสร็จ พร้อมเปิดทำการภายในปี 2564
ความคืบหน้าล่าสุด
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA กล่าวในฐานะคณะผู้บริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ว่า ความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก บริษัทฯ เข้าสำรวจพื้นที่เพื่อเตรียมการแล้ว หลังจากจัดส่งแผนแม่บทตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุนโครงการ เพื่อกำหนดตำแหน่งและจุดเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุน
สำหรับงานที่จะเริ่มดำเนินการตามแผนในปี 2564 กำลังคัดเลือกผู้ออกแบบอาคารผู้โดยสาร รวมถึงศูนย์กลางการขนส่งทางบก ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะออกแบบเมืองการบินด้วย เพื่อให้แนวคิดของทั้งโครงการสอดคล้องกัน โดยคาดว่าใช้เวลา 4-5 เดือน เพื่อให้ได้รายละเอียดของงานออกแบบ
ด้านการคาดการณ์จำนวนผู้โดยสาร บริษัทฯ ได้คำนึงถึงปัจจัยด้านโควิด-19 แล้ว โดยได้ศึกษาและใช้ข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน อาทิ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) รวมถึงหน่วยงานภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจมาประยุกต์ใช้ในการปรับการคาดการณ์จำนวนผู้โดยสาร ซึ่งจะนำไปปรับใช้ออกแบบอาคารผู้โดยสารและวางแผนสิ่งอำนวยความสะดวกของโครงการ
“บริษัทฯ ยังคงดำเนินงานตามแผนงานที่กำหนดไว้ ซึ่งคาดว่าจะมีการออกหนังสือการส่งมอบพื้นที่เพื่อเริ่มการก่อสร้างในต้นปี 2565 ส่วนเรื่องการลงทุนในระยะแรก บริษัทฯ ได้ยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนโครงการสนามบินพาณิชย์ และมีแผนที่จะยื่นคำขอสำหรับโครงการอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการลงทุน”
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2563 บริษัทฯ ได้ส่งแผนแม่บทโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกให้ สกพอ.เดินหน้าเต็มที่ในการพัฒนาโครงการสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นแกนหลักสำคัญต่อการพัฒนาอีอีซีและยกระดับประเทศเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาค
สำหรับแผนแม่บทจะแสดงจุดเชื่อมโยงโครงการกับโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคสำคัญเพื่อให้ สกพอ.ประสานงานกับหน่วยงานรัฐ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการได้เต็มที่ โดยมีรายละเอียดสำคัญ คือ
-การยืนยันแนวเส้นทางของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน,
-การแสดงแนวเส้นทางระบบโครงข่ายถนนเชื่อมต่อสู่สนามบินและเมืองการบิน,
-การแสดงข้อมูลของรันเวย์ที่ 2 ที่กองทัพเรือเป็นเจ้าของโครงการ และ
-การแสดงแนวเส้นทางของระบบสาธารณูปโภคไฟฟ้า ประปา และระบบเชื้อเพลิงเข้าสู่สนามบิน