ไทยจับมืออินโด-มาเลย์ดันครัวฮาลาลโลก!?! ชิงตลาดมุสลิม 2,200 ล้านคน มูลค่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

2135

สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังไม่รู้ว่าจะจบสิ้นเมื่อใด ทำให้ความต้องการอาหารย่อมเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว สินค้าอาหารฮาลาลเป็นตลาดอาหารที่มีศักยภาพ ทั้งในเรื่องขนาดตลาดและการเติบโต ปัจจุบันมีขนาดค่อนข้างใหญ่จากจำนวนผู้บริโภคชาวมุสลิมที่มีมากกว่า 2,200 ล้านคน หรือคิดเป็น 30% ของประชากรโลก มูลค่าตลาด 1,533,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อรัฐบาลเอาจริง ก.เกษตรฯและก.พาณิชย์ รับเป็นแม่งานผลักดันให้สำเร็จ เน้นผลิตสินค้าอาหารที่มีมาตรฐานตรงกฎเกณฑ์ฮาลาล และตั้งเป้าส่งออกปีหน้าสามารถโตได้ 4%

มาตรฐานอาหารฮาลาล เป็นระบบเชิงบูรณาการ (Integrated Standard System) โดยมีองค์ประกอบ สำคัญคือ กระบวนการผลิตตั้งแต่เริ่มต้นถึงสิ้นสุด ตลอด “สายโซ่การผลิต” จะต้อง “ฮาลาล” คือถูกต้องตาม บัญญัติศาสนาอิสลาม ปราศจากสิ่ง “ฮารอม” คือสิ่งที่ต้องห้ามตามบัญญัติศาสนาอิสลาม อาทิ วัตถุดิบ ส่วนประกอบ สารปรุงแต่ง สารพิษ สิ่งปนเปื้อน เป็นต้น

โอกาสทองของไทยส่งออกอาหารฮาลาล

วันนี้ ประเทศไทยถือว่าอยู่ในฐานะได้เปรียบในเชิงการแข่งขัน ด้านการส่งออกอาหารฮาลาล เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบการมากกว่า 1.4 แสนรายที่ผลิตอาหารฮาลาล โดย 95% ของผู้ประกอบการไม่ใช่มุสลิม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจอาหารฮาลาลเปิดกว้างให้กับผู้ประกอบการทุกคนที่เห็นโอกาส ได้เข้ามาชิงธงร่วมเป็นผู้ส่งออกเบอร์ 1 ของโลกได้ หากสร้างมาตรฐานการผลิตให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลอย่างแท้จริง

ปีพ.ศ. 2562 ไทยยังส่งออกอาหารฮาลาลไปประเทศสมาชิกองค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) รวม 57 ประเทศ มูลค่ารวม 5,217 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.6 แสนล้านบาท) หรือ 16% ของการส่งออกทุกรายการ โดยมีสินค้าส่งออก ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผักผลไม้กระป๋องและแปรรูป นมและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จากข้าวและสิ่งปรุงรส

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการ ต้องผนึกกำลังเร่งขจัดอุปสรรคที่ขัดขวางการเติบโตของอาหารฮาลาลในไทย เพื่อจะผลักดันยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นเบอร์ 1 ผู้ส่งออกอาหารฮาลาลของโลก โดยมีเป้าหมายที่ต้องสร้างมาตรฐานทั้งระบบซัพพลายเชน ตั้งแต่การวางแผนวัตถุดิบ กระบวนการผลิตและมาตรฐานที่ตรงตามหลักเกณฑ์ทุกประการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค และผลักดันมูลค่าการส่งออกให้มากขึ้น โดยมีตลาดสำคัญคือ จีน สหรัฐ และญี่ปุ่น

ได้เวลารัฐบาลเอาจริงต้องปิดจุดอ่อน-เสริมจุดแข็ง

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทยมาอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องยังคงเดินหน้าการขับเคลื่อนแผนงานตามแนวทางดังกล่าว ในการนี้กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ยังคงเป็นแกนหลักในฝั่งรัฐบาลที่จะผลักดันให้ประสบความสำเร็จ  

ก.เกษตรชงไทยผลิต-ส่งออกสินค้ามาตรฐานฮาลาล

เรื่องนี้  นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกสินค้าอาหารและผลผลิตเกษตรมาตรฐานฮาลาลสู่ตลาดโลก ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล 

เนื่องจากในปี 2563 ตลาดอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลทั่วโลก มีมูลค่า 1,533,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 48,004,350 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2569 จะเพิ่มมูลค่าสูงถึง 2,285,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 71,545,354 ล้านบาท ขณะที่ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองฮาลาล ประมาณ 150,000 รายการ และเพื่อให้การตั้งเป้าหมายนี้สัมฤทธิ์ผล กระทรวงเกษตรฯได้จัดทำวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลเกษตรมาตรฐานฮาลาล ประกอบด้วย 

1.นโยบายเพิ่มศักยภาพหน่วยงานรับรองมาตรฐานฮาลาล 2.นโยบายยกระดับความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรและอาหาร 3.นโยบายเสริมสร้างองค์ความรู้ในการผลิตและการบริหารจัดการ ตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงผู้บริโภค 4.นโยบายเพิ่มศักยภาพทางตลาดและโลจิสติกส์ 5.นโยบายยกระดับความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ 

ซึ่ง 5 นโยบายนี้มีแนวทางการดำเนินงานสำคัญๆ อาทิ การจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า (Halal Hub) การจัดตั้งสถาบันฮาลาล การส่งเสริมฐานข้อมูลวัตถุดิบฮาลาล (H Number) ระบบศูนย์ข้อมูลกลางการแลกเปลี่ยนทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ด้านฮาลาล (System Protocol for Halal Electronic Resources Exchange)  วิสัยทัศน์ฮาลาลนี้ถือเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ภาคเอกชน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรและอาหารมาตรฐานฮาลาลอย่างครบวงจร รวมถึงจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคอีกด้วย 

รองโฆษกฯ กล่าวอีกว่า ควบคู่ไปกับการทำงานของกระทรวงเกษตรฯ มุ่งเป้าสู่การเป็นครัวฮาลาลโลก ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กำลังขับเคลื่อนแผนงานส่งเสริมการผลิตกับการพัฒนาคุณภาพของเนื้อไก่ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญของอาหารฮาลาล รวมถึงผลักดันการแปรรูปไก่ฮาลาลเพื่อการส่งออก ทั้งนี้ ศอ.บต.ได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วนในการส่งเสริมฟาร์มเลี้ยงไก่ให้กระจายทั่วพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงไก่ KKU-1 ที่เป็นผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ไก่พันธุ์นี้ทั้งเลี้ยงง่าย และดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคด้วย เพราะมีกรดยูริคและโคเลสเตอรอลต่ำ ไขมันน้อย เนื้อเหนียวแน่นและนุ่ม เรื่องนี้จึงถือว่าเป็นสร้างประโยชน์อย่างมากต่อการส่งเสริมมาตรฐานอาหารฮาลาล รวมถึงการสร้างอาชีพและรายได้แก่ประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้

พาณิชย์ดันการส่งออก-รวมมือ 3 ฝ่าย

“ก.พาณิชย์มีแผนการผลักดัน การส่งออกไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 4 เปอร์เซ็นต์ หลังจากเศรษฐกิจของหลายๆประเทศเริ่มฟื้นตัว และในด้านการต่างประเทศ รัฐบาลได้ผลักดันแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ที่กำหนดแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมฮาลาลให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยสร้างการยอมรับมาตรฐานฮาลาล และการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในอนุภูมิภาคให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก” นางสาวรัชดา กล่าว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีบทบาทในการผลักดันอาหารฮาลาลมาโดยตลอด ได้ผล้กดันการบูรณาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ากับงานฮาลาลอย่างเป็นระบบ ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น  Big data ปัญญาประดิษฐ์ และบล็อกเชนในการสร้างพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า บริการฮาลาล และสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับ เครื่องหมายฮาลาลไทยในระดับประเทศและระดับสากล วันนี้นำมาประมวลใช้เพื่อยกระดับการส่งออกของไทยอีกขั้นหนึ่ง