นายกฯย้ำทุกฝ่ายต้องตั้งสติ!?! ยันเดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจ เน้นผลิตรถEV พัฒนาเทคโนโลยีควบคู่แก้ปัญหาโควิดเคร่งครัด

1855

บิ๊กตู่ย้ำการลงทุนและเศรษฐกิจต้องเดินหน้าต่อไป ทั้งการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย  การหนุนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งสาธารณะและบุคคล ขณะที่ส่งเสริมคนไทยไปลงทุนในต่างประเทศด้วย   โดยบอร์ดบีโอไอเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหญ่ เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2564ต่อ แม้เผชิญการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ก็ต้องติดตามแก้ไขปัญหาอย่างเคร่งครัดจริงจัง  

วันที่ 21 ธ.ค.63 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 2/2563  ย้ำการส่งเสริมการลงทุนและเศรษฐกิจต้องเดินหน้าต่อ ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังสถานการณ์โควิด-19  ด้วยความระมัดระวังและเน้นปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด มั่นใจสถานการณ์จะคลี่คลายโดยเร็ว

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า นายกรัฐมนตรีย้ำในที่ประชุม ให้พิจารณาแนวทางที่จะส่งเสริมให้การลงทุนของประเทศในช่วงนี้และอนาคตให้ดีขึ้น 

ตะลุยภายในประเทศ 

1.เน้นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ของประเทศให้ครอบคลุมไปถึงส่งเสริมการลงทุนด้านเกษตรกรรม ท่องเที่ยว ตลอดจนการส่งออกและนำเข้า เป็นต้น 

2.สนับสนุนการลงทุนในประเทศและส่งเสริมนักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศขนาดเล็กและประเทศหมู่เกาะที่มีศักยภาพ รวมไปถึงการเร่งลงทุนนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ จะช่วยเสริมในการบริหารจัดการค่าเงินบาทได้  

  1. เน้นถึงการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicle (EV) ในประเทศให้มากขึ้น โดยเน้นรถยนต์ที่ผลิตและประกอบในประเทศไทย รวมถึงการเตรียมแผนพัฒนาแบตเตอรี่และสถานีชาร์ต ให้รองรับเพียงพอ โดยจะเริ่มนำร่องใช้รถยนต์ไฟฟ้าในส่วนราชการก่อนในปีหน้า (พ.ศ.2564) ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้การใช้บริการระบบขนส่งคมนาคมรถไฟฟ้าให้มากขึ้น เน้นประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้สามารถเข้าถึงบริการดังกล่าวด้วย
  2. นายกรัฐมนตรียังย้ำถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะเรื่อง Cloud หรือ Data Center ว่ามีความจำเป็นในแง่ของการส่งเสริมการลงทุน เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยในอุตสาหกรรมการผลิตและบริการในอนาคตของภูมิภาค  โดยให้ดำเนินการในลักษณะแพ็จเก็จที่จูงใจและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เตรียมพร้อมทรัพยากรบุคคลที่มีขีดความสามารถ 
  3. พลังงานสะอาดจะเป็นจุดแข็งที่จะช่วยดึงดูดให้นักลงทุนต่างประเทศที่ให้ความสำคัญพลังงานสะอาดเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นและสอดคล้องกับการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามนโยบายรัฐบาล

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ทั้งมาตรการกระตุ้นการลงทุนปี 2564 สำหรับโครงการที่มีการลงทุนจริง 1,000 ล้านบาทขึ้นไป โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ  ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กำหนดให้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ หากมีเงินลงทุนจริงอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท ภายใน 12 เดือนหลังออกบัตรส่งเสริม และไม่อนุญาตให้ขยายเวลาในขั้นตอนการตอบรับให้การส่งเสริมและการออกบัตรส่งเสริม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอรับการส่งเสริมได้ตั้งแต่วันทำการแรกของปี 2564 ถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2564

รวมถึงการขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ SEZ 10 จังหวัด (กาญจนบุรี เชียงราย ตราด ตาก นครพนม นราธิวาส มุกดาหาร สงขลา สระแก้ว และหนองคาย) และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อกระตุ้นการลงทุนในภูมิภาค 

พร้อมเปิดเขตส่งเสริมกิจการพิเศษการแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) เป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับโครงการที่ตั้งในเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) และศูนย์การแพทย์ครบวงจรธรรมศาสตร์ (พัทยา) (EECmd) 

รวมทั้งเห็นชอบมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมการผลิตและบริการในอนาคต