จุรินทร์ลั่น!จุดยืนปชป.ไม่เอาสาธารณรัฐ หนุนใช้ม.112 ลั่นทุกปท.ล้วนต้องคุ้มครองประมุข

2461

จากที่มีกระแสการปลุกปั่นของคนบางกลุ่มให้ยกเลิกมาตรา112 และทั้งยังมีการนำเรื่องการปกครองระบอบสาธารณรัฐมาใช้ในประเทศไทยนั้น ล่าสุดจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ออกมาพูดถึงเรื่องดังกล่าวเป็นจุดยืน!!!

ทั้งนี้นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนและพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยเรื่องการที่จะไปเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทย เป็นระบอบสาธารณรัฐ หรือ คอมมิวนิสต์ เพราะเรามีจุดยืนชัดเจนว่าประเทศไทยต้องปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น คือสิ่งที่เป็นจุดยืน และเป็นสิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับชัดเจนต้องไม่ไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆทั้งสิ้น

ส่วนคำถามเรื่องการยกเลิกมาตรา112 นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ทุกประเทศในโลกก็จะต้องมีกฎหมายที่คุ้มครองประมุขของประเทศด้วยกันทั้งสิ้น โดยกฎหมายมาตรา 112 ก็เป็นมาตราหนึ่งสำหรับประเทศไทยที่คุ้มครองหรือปกป้องประมุขของประเทศไทยของเราเช่นเดียวกับทุกประเทศในโลก คือสิ่งที่อยากให้ทุกท่านได้เกิดความเข้าใจ

นอกจากนี้ นายจุรินทร์ ยังกล่าวถึงที่มา สสร.200 คนที่มีคำถามว่าควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ด้วยว่า อันนี้เป็นหน้าที่ของกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้กำหนดขณะนี้การแก้รัฐธรรมนูญผ่านการรับหลักการวาระที่หนึ่งแล้ว และอยู่ในวาระที่สองคือขั้นแปรญัตติ ทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับกรรมาธิการที่จะเป็นผู้พิจารณาก่อนนำกลับมาพิจารณาในรัฐสภาใหญ่แล้วมีมติอย่างใดอย่างหนึ่งในวาระที่สาม

“เรื่อง สสร.นั้นเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าในจำนวนประมาณ 200 คน ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ หรือมาจากการเลือกตั้งส่วนใหญ่แล้วมาจากการสรรหาบางส่วนซึ่งมีข้อดีข้อด้อยด้วยกันทั้งสองส่วน ถ้ามาจากการเลือกตั้งทั้งหมดก็อาจจะอ้างได้ว่าประชาชนเป็นผู้เลือกมาแต่อาจมีจุดอ่อนได้ถ้าผลการเลือกตั้งที่ออกมากลายเป็นผู้ที่อิงอยู่กับพรรคการเมืองหรือในเส้นสายทางการเมืองได้รับเลือกตั้งมาจำนวนมาก สุดท้ายอาจจะกลายเป็นคล้ายกับสภาผัวสภาเมียเหมือนที่เกิดขึ้นในวุฒิสมาชิก กับสภาผู้แทนราษฎรในอดีตได้

ไม่ได้แปลว่าผมจะมีความเห็นอย่างนั้นแต่มีข้อท้วงติงได้ แต่ข้อดีคือสามารถอ้างได้ว่ามาจากการเลือกตั้งจากประชาชนแต่สำหรับรูปแบบผสมคือมาจากการเลือกตั้งส่วนใหญ่แต่ว่ามาจากการสรรหาอีกจำนวนหนึ่ง เหมือนกับร่างของพรรคร่วมรัฐบาลคือให้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน 150 คนและมาจากการสรรหา 50 คนในจำนวน 50 คนนั้นประกอบด้วยตัวแทนของสภาผู้แทนจำนวนหนึ่ง วุฒิสมาชิกตัวแทนของวุฒิสภาจำนวนหนึ่ง และอีก 20 คนมาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการสรรหาของที่ประชุมอธิการบดีหรือทางฝ่ายวิชาการและอีกจำนวนหนึ่งประมาณ 10 คนมาจากตัวแทนนักศึกษา จะช่วยให้เกิดความหลากหลายขึ้น”  นายจุรินทร์ กล่าว