การต่อสัญญา สัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือ BTS ยังคงมีความยืดเยื้อหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมตามข้อสังเกตของกระทรวงคมนาคม ทั้งนี้คมนาคมยืนยันลดได้อีก 20% บีทีเอสแจงต้นทุนสูง 65 บาทเหมาะสม นายกฯต้องยื่นมือเคลียร์ปมปัญหา เพื่อตัดสินใจขั้นสุดท้าย BTSยังต้องลุ้นก่อนปีใหม่ทั้งที่ต้องเปิดเดินรถกลางเดือนธ.ค.นี้ ขณะที่ศรีสุวรรณฟันธง คนเสียประโยชน์คือประชาชนไม่ใช่เอกชน
ดูบทวิเคราะห์เชิงลึก:นายกฯตู่ เมิน ศักดิ์สยาม ขวางรถไฟฟ้าสีเขียว ย้ำประโยชน์ปท.ต้องมาก่อน
คมนาคมยื้อต่อสัญญา-บี้ลดอีก 20%?
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ความคืบหน้าของการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรอทางกรุงเทพมหานคร กระทรวงมหาดไทย ตอบกลับข้อมูลที่กระทรวงคมนาคมได้สอบถามไว้ ในประเด็นคำถาม 4 ด้าน 1)เกี่ยวกับการดำเนินการตามกรอบ ม.44 2)การคำนวณราคาค่าโดยสาร 3)การใช้ทรัพย์สินของรัฐ และ4)ข้อพิพาททางกฎหมาย
“เรื่องนี้ต้องพิจารณาอย่างละเอียด รอบคอบ และส่วนตัวผมเชื่อว่ายังมีเวลาที่จะพิจารณา เพราะสัมปทานจะสิ้นสุดในปี 2572 และยังมาสัญญาเดินรถถึงปี 2585 ดังนั้นการใช้เวลาพิจารณาอย่างละเอียดนี้ ไม่กระทบต่อการใช้บริการของประชาชนแน่นอน”นายศักดิ์สยาม กล่าว
อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมได้เตรียมข้อมูลทั้งหมดที่มี เพื่อชี้แจงต่อนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดค่าโดยสาร ที่มีการนำเสนอข้อมูลก่อนหน้านี้ว่า ได้มีการคำนวณราคาค่าโดยสารรวมในเส้นทางปัจจุบัน รวมกับส่วนต่อขยายแล้ว จะมีราคาสูงสุดไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย ซึ่งในส่วนนี้ไม่ทราบว่ากทม.ที่มีการคำนวณค่าโดยสารดังกล่าวนำฐานข้อมูลมาจากไหน ซึ่งขณะนี้นายกรัฐมนตรีเตรียมนัดหารือข้อมูลร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่กำกับดูแลรถไฟฟ้า ทั้งหน่วยงานทางกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ข้อมูลทั้งหมดที่รวบรวมเป็นการใช้ฐานการคำนวณจากดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI (Consumer Price Index) และเมื่อลองนำสูตรคำนวณดังกล่าวมาคำนวณราคาค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวรวมกับส่วนต่อขยายแล้ว ยืนยันว่าประชาชนจะจ่ายค่าโดยสารสูงสุด ต่ำกว่า 65 บาท
คำชี้แจงจากบีทีเอส-65 บาทตลอดสายเหมาะสมเพราะต้นทุนสูง
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดเผยถึงปัญหาการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับกรุงเทพมหานครไปอีก 30 ปี จากปี 2572 เป็นหมดอายุ ปี 2602 เนื่องจากว่ามีข้อคิดเห็นว่า ราคาสูงสุดไม่เกิน 65 บาท เป็นราคาที่สูงเกินไปนั้น
ขอชี้แจงว่าราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว กับ MRT สายสีน้ำเงิน มีค่าเฉลี่ยค่าโดยสารใกล้เคียงกัน โดยสายสีเขียวมี 59 สถานี เก็บไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย ส่วนสายสีน้ำเงินมี 38 สถานี เก็บค่าโดยสารสูงสุด 42 บาท แต่ที่ต่างกันคือภาระต้นทุน ที่แตกต่างกันมาก โดยสายสีเขียวบีทีเอสต้องรับชำระหนี้ค่างานโยธาแทนกทม. กว่า 6 หมื่นล้าน แต่สายสีน้ำเงินไม่ต้องมีต้นทุน รัฐออกค่างานโยธาให้ทั้งหมด นอกจากนี้บีทีเอสต้องแบ่งรายได้ให้ กทม. ทุกปี รวมแล้วเกิน 2 แสนล้านบาท และเมื่อรวมกับหนี้ต่างๆ รวมถึงวงเงินที่ต้องลงทุนเพิ่มเติม ทำให้ค่าต่ออายุสัมปทานสายสีเขียวเกิน 3 แสนล้านบาท
แต่สายสีน้ำเงินไม่ต้องแบ่งรายได้ ยกเว้นว่าผลตอบแทนลงทุนเกินกว่า 9.75% จึงจะจ่ายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ส่วนสายสีเขียว หากผลตอบแทนเกินกว่า 9.60% ต้องแบ่งรายได้ให้กทม. เพิ่มอีก
หากไม่มีการต่อสัญญาสัมปทานให้บีทีเอส และจะเปิดประมูลใหม่หรือไม่นั้น คงต้องรอให้สัมปทานหมดลงก่อนในปี 2572 แต่จากการที่ กทม. เคยประเมินความสนใจของเอกชนพบว่า ไม่มีเอกชนสนใจ แต่สาเหตุที่ต้องเร่งให้ได้ข้อสรุปเรื่องการต่ออายุสัมปทานนั้น เพราะเดือน ธ.ค.นี้ จะเปิดเดินรถเพิ่มอีก 7 สถานีจนถึงสถานีคูคต โดยจะเป็นการให้บริการสายสีเขียวครบตลอดทั้งเส้นเชื่อมการเดินทาง 3 จังหวัด กรุงเทพฯ สมุทรปราการ และปทุมธานี และถ้าไม่ต่อสัมปทานทาง กทม. จะมีภาระที่ต้องหาเงินมาจ่ายหนี้ และต้องเก็บค่าโดยสารตามระยะทางโดยราคาสูงสุดอยู่ที่ 158 บาท ซึ่งการจะเปิดเดินรถฟรีไปตลอดก็คงไม่ได้ เพราะจะยิ่งเป็นภาระแก่ กทม. ดังนั้นจึงต้องทำให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วเพราะหากต่ออายุสัมปทานก็จะเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย
ยื้อต่อสัญญาผู้รับผลกระทบคือประชาชนผู้ใช้บริการ
“ศรีสุวรรณ”ชวนสังคมจับตาครม.ยื้อการลงให้ความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสีเขียว ชี้เป็นโครงการที่ให้บริการสาธารณะไม่ใช่ผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง
เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พ.ย.โดยกระทรวงมหาดไทยขอถอนเรื่องการพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสีเขียว กับ บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์กลับไปทบทวน หลังจากจากกระทรวงคมนาคม หยิบยกผลการศึกษาของกรมขนส่งทางราง ลงวันที่ 10 พ.ย.2563 ขึ้นมาคัดค้าน
ตนถือว่าเป็นการทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบทางธุรกิจโครงการขนาดใหญ่ประเภทนี้ต้องวางแผนการลงทุนระยะยาว แต่ผู้กระทบโดยตรงอย่างแท้จริงคือ ผู้โดยสารทั้งนี้ การที่รัฐบาลยกเหตุไม่ให้ความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสีเขียว ส่วนตัวมองว่า ผู้เสียหายที่สุดคือประชาชน เพราะบีทีเอส มีสัญญาอีกนับ 10 ปี กว่าจะครบสัญญาสัมปทาน ยังมีรัฐบาลอีกหลายรัฐบาล แต่หากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ โดยเร็ว จะทำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจว่า จะไม่หยุดยั้งการพัฒนาการให้บริหารเพื่อประโยชน์ผู้โดยสาร ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่เห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ ผู้ประกอบการก็มีเหตุผลที่ไม่กล้าลงทุนในระยะยาว เพราะไม่รู้ว่าตัวเองจะได้ไปต่อหรือไม่ถไฟฟ้าบีทีเอส ที่ขาดโอกาสที่จะมีความสะดวกสบายในการเดินทาง
นอกจากนี้ บีทีเอส คือผู้ลงทุนโครงการแต่ต้น ย่อมรู้เทคนิควิธีการเดินรถอย่างช่ำชองแล้ว แต่การชักเข้าชักออก คนที่กระทำการอย่างนี้เท่ากับไม่ได้ยึดถือประชาชนเป็นที่ตั้ง แต่เวลาหาเสียงกลับบอกว่าตัวเองยึดถือประชาชนเป็นที่ตั้ง ดังนั้น การเร่งรีบให้ความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จึงเอื้อประชาชนไม่ใช่เอกชน
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า อยากให้สังคมจับตาว่า โครงการที่ให้บริการสาธารณะไม่ใช่ผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส จึงอยากให้ประชาชนส่งเสียง เพื่อที่นักการเมืองจะเกิดความยำเกรงเสียงประชาชนบ้าง