รมว.ต่างประเทศ UK กังวลสถานการณ์อิหร่าน เรื่องการลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ กำลังรอข้อเท็จจริงเหตุการณ์ อ้างจุดยืนยึดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้นำอิหร่านถูกลอบสังหาร ไม่ว่าสหประชาชาติ-ชาติตะวันตกไม่เคยทำอะไรได้ อังกฤษอยู่ตรงไหนในความขัดแย้ง แม้สหรัฐคว่ำบาตรเศรษฐกิจต่ออิหร่านตามอำเภอใจ จะยกที่ราบสูงโกลันในซีเรียให้อิสราเอลอย่างถือสิทธิ์ ก็ไม่เห็นอังกฤษจะทำอะไรได้ เป็นเพียงลมปากทางการทูต แต่เสมือนส่งสัญญาณตึงเครียดขั้นสูง อาจบานปลายตูมตามเป็นสงครามเชิงพื้นที่ได้ทุกขณะ
ประเทศตะวันตกหรือจะสนใจอิหร่าน?
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายโดมินิค แรบ แถลงในวันอาทิตย์ (29 พ.ย.2563) ว่าเขากังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในอิหร่านและภูมิภาคตะวันออกกลาง จากกรณีการลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน
“เรากังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในอิหร่านและภูมิภาค เรากำลังพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับความขัดแย้ง”แรบให้สัมภาษณ์กับสกายนิวส์ หลังนักวิทย์นิวเคลียร์ถูกลอบสังหารในวันศุกร์ (27 พ.ย.2563)
“เรากำลังรอฟังข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในอิหร่าน แต่ผมกล่าวได้ว่าเรายืนหยัดในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งบ่งชัดว่าต่อต้านการพุ่งเป้าทำร้ายพลเรือน”
เป็นคำพูดที่ฟังดูดีว่า ยังห่วงเรื่องกระทำต่อพลเมือง แต่ยังไม่เคยเห็นศาลโลก หรือสหประชาชาติจะดำเนินการทางกฏหมายต่อมหาอำนาจได้เลยไม่ว่าจะเป็นการถล่มระเบิดสังหารใส่พลเมืองในตะวันออกกลาง การใช้โดรนสังหารทารุณฝ่ายตรงข้าม ทั้งหมดเป็นแค่ลมปากทางการทูตที่ไร้ค่าอย่างแท้จริง
ความตึงเครียดระหว่างเตหะรานกับวอชิงตันพุ่งสูงมาตั้งแต่ปี 2018 ครั้งที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนสหรัฐฯออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ที่อิหร่านทำไว้กับมหาอำนาจ 6 ชาติ และรื้อฟื้นมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานเศรษฐกิจของอิหร่าน ล่าสุดแม้สิ้นสุดระยะเวลาคว่ำบาตรแล้วสหรัฐยังคงคว่ำบาตรเศรษฐกิจอิหร่านต่อแม้ประชาชาติจะค้าน ซ้ำสั่งคว่ำบาตรบริษัทรัสเซีย-จีนที่คบหาค้าขายกับอิหร่านด้วย
อังกฤษซึ่งอยู่ในกลุ่มมหาอำนาจที่เคยทำความตกลงกับอิหร่าน ระงับพัฒนานิวเคลียร์ปี 2015 ก็คงไม่อาจทำอะไรมากไปกว่าแค่วิตกกังวล แต่สะท้อนกลิ่นสงครามคุกรุ่นแล้วในภูมิภาคแห่งนี้
อิหร่านประกาศล้างแค้นในเวลาที่เหมาะสม
คามิล คาร์ราซี หัวหน้าสภายุทธศาตร์ของอิหร่าน ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และที่ปรึกษาของอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนาอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านแถลงทันทีว่า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่า อิหร่านจะให้คำตอบอย่างแน่วแน่และไตร่ตรองไว้ก่อน ต่อพวกอาชญากรผู้พราก มอห์เซน ฟาครีซาเดห์ ผู้เสียสละไปจากประเทศ”
ฟาครีซาเดห์ ถูกสงสัยมานานโดยรัฐบาลตะวันตกและอิสราเอล ว่าเป็นผู้บงการโครงการอาวุธนิวเคลียร์ลับของอิหราน ถูกกลุ่มติดอาวุธโจมตีด้วยระเบิดและปืนกลขณะโดยสารรถยนต์บนถนนเมืองแอบซาร์ด เมืองเล็กๆ นอกกรุงเตหะราน เมื่อวันศุกร์(27พ.ย.) ก่อนไปสิ้นใจที่โรงพยาบาล แพทย์ไม่อาจกู้ชีวิตได้
คณะผู้ปกครองทางศาสนาและทางทหารของอิหร่าน กล่าวโทษ อิสราเอล ศัตรูเก่าแก่ของประเทศ ดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งเตหะรานมักกล่าวหาอิสราเอลอยู่เบื้องหลังเหตุสังหารเหล่านักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านนับตั้งแต่ปี 2010 ทำเนียบนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นต่อเหตุลอบสังหารครั้งนี้ ส่วน ซาชี ฮาเนกบี หนึ่งในคณะรัฐมนตรีของอิสราเอล บอกในวันเสาร์(28พ.ย.) ว่าเขาไม่รู้ว่าใครเป็นคนลงมือ
หนังสือพิมพ์เคย์ฮาน ซึ่งบรรณาธิการได้รับการแต่งตั้งจาก อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนาอี เรียกร้องให้โจมตีไฮฟา เมืองท่าของอิสราเอล หากมีข้อพิสูจน์ว่าอิสราเอลมีบทบาทในเหตุลอบสังหารฟาครีซาเดห์ “การโจมตีควรทำในแนวทางใดแนวทางหนึ่ง เพิ่มเติมจากการทำลายสิ่งปลูกสร้างต่างๆ มันควรสร้างความสูญเสียด้านชีวิตมนุษย์อย่างหนักเช่นกัน” ซาโดเลาะห์ ซาเรอี บรรณาธิการแสดงความคิดเห็น
สหรัฐเคลื่อนกำลังรบ จังหวะถอนทหาร-อิสราเอลสั่งเตรียมพร้อม
28 พ.ย.2563 เว็บไซต์เดลี่เมล์รายงาน กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯสั่งส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Nimitz (ยูเอสเอส นิมิตซ์) มุ่งหน้าไปยังอ่าวเปอร์เซีย เพื่อสนับสนุนด้านการต่อสู้ และการให้ความคุ้มครองกำลังทหารอเมริกันราว 2,500 นาย ที่จะถอนกำลังออกจากอิรักและอัฟกานิสถาน ในขณะที่ภูมิภาคตะวันออกกลางทวีความตึงเครียดทันทีที่ศาสตราจารย์โมห์เซน ฟาครีซาเดห์ นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ระดับสูงของอิหร่าน ถูกลอบสังหารสุดสลด เมื่อวันที่ 27พ.ย.ที่ผ่านมา และทางการอิหร่านเชื่อว่าเป็นฝีมือของอิสราเอล
เดลี่เมล์เผยด้วยว่า รัฐบาลปธน.ทรัมป์ ได้กำหนดเส้นตายในวันที่ 15 มกราคม 2564 ที่จะถอนกำลังทหารอเมริกัน 2,500 นาย ออกจากอิรักและอัฟกานิสถาน ขณะที่ตามรายงานของสื่อในตะวันออกกลาง ‘Middle East Eye’ เผยว่ารัฐบาลอิสราเอลได้กำลังผลักดันให้รัฐบาลทรัมป์จัดการต่อโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ด้วยการโจมตีถล่มเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่สำคัญของอิหราน ทว่าเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียซึ่งได้ทรงพบปะหารืออย่างลับๆ กับนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล และนายไมค์ ปอมเปโอ รมว.ต่างประเทศศหรัฐฯเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ย.นั้น ทรงไม่เห็นด้วยที่จะใช้แผนนี้ต่ออิหร่าน
ตะวันออกกลางระอุเพราะบทบาทแยกข้างของอิสราเอล-ชาติอาหรับ-สหรัฐ
27 พ.ย.2563 สถานีโทรทัศน์อิสราเอลรายงานอ้างคำพูดเจ้าหน้าที่ว่า นายเนทันยาฮูและนายยอสซี โคเฮน หัวหน้าหน่วยสืบราชการลับของอิสราเอลได้เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย เพื่อพบกับเจ้าชายบิน ซัลมานและนายพอมเพโอที่เมืองนิอุม การประชุมดังกล่าวมีขึ้นหลังอิสราเอลตอบตกลงที่จะสถาปนาความสัมพันธ์กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรน สองชาติพันธมิตรของซาอุดีอาระเบียในอ่าวอาหรับ โดยมีรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐเป็นตัวกลาง เจ้าหน้าที่ของทางการสหรัฐและอิสราเอลได้ย้ำให้เห็นว่า มีชาติอาหรับอีกหลายชาติที่ต้องการสานสัมพันธ์กับอิสราเอล ขณะที่ซาอุดีอาระเบียประกาศว่า จะยึดมั่นในจุดยืนของสันนิบาตอาหรับที่มีมาหลายทศวรรษว่า จะไม่สานสัมพันธ์กับอิสราเอลจนกว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์จะได้รับการแก้ไข แก่กรณีนี้แสดงชัดว่าไม่จริง
ความรู้สึกของกลุ่มประเทศอาหรับมองว่า เป็นยุทธการแบ่งแยกสร้างความร้าวฉานในกลุ่มประเทศสันนิบาตอาหรับอย่างได้ผล และเปิดเผยว่าชาติอาหรับประเทศไหนบ้างที่ยืนเคียงข้างมหาอำนาจตะวันตก สหรัฐ อิสราเอลอย่างเปิดเผย อ้างเหตุผลเองว่าจับมือกันเพราะมีเงื่อนไขยุติทำลายปาเลสไตน์ แต่อิสราเอลยืนยันว่าแค่ชั่วคราว
เงื่อนไขสงครามสุกงอมหรือยัง คงต้องจับตาติดตามอย่างใกล้ชิด? ไม่มีประเทศไหนต้องการเข้าสู่สงครามเต็มรูปแบบ และโศกนาฏกรรมระดับสงครามโลกก็คงไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ความขัดแย้งระดับโลกหลายครั้งก็เกิดจากเหตุน้ำผึ้งหยดเดียว ที่หยดลงไปบนกองความขัดแย้งที่คุกรุ่นจนพร้อมจะระเบิดกลายเป็นสงครามได้ทุกเมื่อ ซึ่งก็ไม่แน่ว่าความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน ระลอกนี้ อาจกำลังก่อสร้างกองถ่านที่พร้อมจะระเบิดกลายเป็นเปลวไฟสงครามในอนาคตได้ทุกเมื่อก็ได้