ฮึดสู้ชิงลูกค้าต่างชาติ!!!บีโอไอระดมจัดงานส่งเสิรมลงทุน ชวน 1,800 บ.ต่างชาติย้ายฐานเข้าไทย!!เอกชนจี้ชูอีอีซีแข่งเวียดนามก่อนสาย

1727

บีโอไอเผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนช่วง 6 เดือนแรกปี 2563 รวม 754 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 158,890 ล้านบาท ดีเกินคาด  อุตสาหกรรมการแพทย์เด่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 174 เม็ดเงินลงทุนในอีอีซี 85,480 ล้านบาท และเตรียมจัดงาน ซับคอน ไทยแลนด์ – อินเตอร์แมค แสดงสินค้าเครื่องจักรอุตสาหกรรม หุ่นยนต์ ครั้งใหญ่ จับคู่ธุรกิจผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมไทย 4 พันคู่ คาดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 7 พันล้านบาท

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ภาวะการส่งเสริมการลงทุนช่วง 6 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 754 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 703 โครงการ

ขณะที่มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 158,890 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17 ซึ่งมีมูลค่ารวม 190,330 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และในช่วงเดียวกันของปี 2562 มีโครงการขนาดใหญ่ด้านพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลยื่นขอรับการส่งเสริม แต่มีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปีนี้

ทั้งนี้ จากสถิติภาวะการส่งเสริมการลงทุนช่วง 6 เดือนของปีนี้ เป็นที่น่าสนใจว่ามีนักลงทุนรายใหม่  ให้ความสนใจขอรับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง แม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์ไม่ปกติ โดยพบว่าเป็นการยื่นขอรับการส่งเสริมในโครงการใหม่ถึง 366 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 49 ของจำนวนคำขอรับการส่งเสริมทั้งหมด มีเงินลงทุนรวม 42,520 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27 ของเงินลงทุนทั้งหมด

คำขอรับการส่งเสริมในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เป็นการลงทุนในพื้นที่อีอีซี จำนวนทั้งหมด 225 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 85,480 ล้านบาท

บีโอไอเดินหน้าจัดงานซัพคอนไทยแลนด์ คาดจับคู่ธุรกิจ 4,000 คู่เงินสะพัด 7 พันล้านบาท

นางสาวซ่อนกลิ่น พลอยมี ผู้อำนวยการกองพัฒนาและเชื่อมโยงการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอ ได้ร่วมกับ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ จัดงาน ซับคอน ไทยแลนด์ คู่ขนานไปกับ งานอินเตอร์แมค งานแสดงสินค้าภาคอุตสาหกรรมแบบครบวงจรครั้งยิ่งใหญ่ ที่รวมความก้าวหน้าด้าน เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตที่ครบวงจรที่สุด รวมทั้งเครื่องจักรอัตโนมัติ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม และงานจับคู่ธุรกิจครั้งสำคัญแห่งปี 

โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-26 ก.ย. นี้ ที่ไบเทคบางนา เป็นงานแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการจัดซื้อชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและกิจกรรมจับคู่ธุรกิจชั้นนำระดับภูมิภาค รวบรวมผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมคุณภาพกว่า 200 ราย ผู้ผลิตชิ้นส่วนงานโลหะ พลาสติกและยาง ผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตและให้บริการในอุตสาหกรรมสนับสนุนอื่นๆ โดยในปีนี้ บีโอไอ ได้เชิญผู้ซื้อจากหลากหลายประเทศเข้ามาร่วมงานพร้อมจัดกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจออนไลน์ ไว้รองรับผู้ซื้อต่างชาติในปีนี้อีกด้วย

ปีนี้ตั้งเป้าหมายจับคู่ธุรกิจ 4 พันคู่ ส่วนยอดขายปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 7 พันล้านบาท เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ภาคการผลิตทั่วโลกเกิดการชะงักงัน ทำให้ภาคการผลิตฟื้นกลับขึ้นมาได้เพียง 50%จึงตังเป้าไว้น้อยกว่าปีก่อน

เวียดนามเนื้อหอม แต่ไทยมีจุดเด่นที่ เป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุน-สาธารณูปโภคและโลจิสติกส์

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ชี้หลังวิกฤติโควิด-19  นักลงทุนแห่ย้ายฐานจากไทยไปลงทุนเวียดนาม เหตุแรงงานถูก สิทธิพิเศษทางการค้ามาก ขณะที่ไทย ต่างชาติสนใจในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหาร สุขภาพ แนะไทยควรจะใช้โอกาสจากโรคระบาดเร่งส่งเสริมเน้นอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ

ผู้ประกอบการต่างชาติให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ด้านการค้า การลงทุน ต้นทุนในการผลิต กฎหมายและกฎระเบียบที่เอื้อต่อการนำเข้า-ส่งออก  การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือ ปัจจัยด้านการบริหารจัดการสุขอนามัย ขณะที่ผู้ประกอบการไทยยังคงคำนึงถึงต้นทุนในการผลิตต่ำ เป็นสำคัญนอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สิทธิประโยชน์ กฎหมาย และความชัดเจนในการกำหนดนโยบาย

ทั้งนี้ศูนย์ฯมีข้อเสนอแนะด้านการลงทุนภายใต้สถานการณโควิด-19 คือ  ไทยควรจะใช้โอกาสจากโรคระบาดผลักดัน ส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ เช่น ถุงมือยาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตเพื่อสุขภาพ เครื่องสำอางเพื่อสุขภาพ เครื่องมือทางการแพทย์ ประชาสัมพันธ์ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสุขภาพและอาหารเพื่อสุขภาพของโลก พัฒนาเทคโนโลยี AI วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

หลังโควิด-19  ประเมินว่า ในเรื่องการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการต่างชาติบุญจะหล่นทับ ประเทศเวียดนาม และ เมียนมาร์มากกว่า ในแง่ปริมาณ  เนื่องจากความได้เปรียบ ไทย ในแง่ของแรงงานราคาถูก  และการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี ด้านการส่งเสริมการลงทุน  โดยเฉพาะเวียดนาม ต่างชาติจะย้ายฐานการผลิตไปเป็นอันดับหนึ่ง  เนื่องจากมีพรมแดนติดกับจีนและ อยู่ระหว่างการ upgrade อุตสาหกรรมจากกลางน้ำไปสู่อุตสาหกรรมแปรรูปปลายน้ำมากขึ้น   

แต่ในส่วนไทยอาจจะมีจุดที่ด้อยกว่าคือค่าแรงแพงกว่า  และ การเมืองยังไม่มีเสถียรภาพ ทำให้ นโยบายเศรษฐกิจอาจไม่ต่อเนื่อง แต่ไทย จะมีจุดที่ได้เปรียบในแง่การมีแรงงานมีฝีมือ และ ความพร้อมในระบบสาธารณูปโภคที่ดีกว่า รวมทั้ง  การเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาค และมีการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูป ที่มีมาตรฐานสากลมากกว่า    ซึ่งจะทำให้มูลค่าการลงทุนของไทยยังสูงกว่า