ดร.วรัชญ์ หวดก้น จอมขวัญ สอนวิธีการเป็นพิธีกร แบบไม่เอียงตกขอบ

15526

จากกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงถึงการวางตัวในการเป็นพิธีกรของ พิธีกรชื่อดัง “จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์” จากรายการ “ถามตรงๆ กับจอมขวัญ”

ที่เปิดให้แขกรับเชิญ ซึ่งก็คือ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชา คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์และคณาจารย์สถาบันทิศทางไทย กับ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง หนึ่งในแกนนำม็อบราษฎร ถกกันในประเด็น พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 2561

ฟองสนาน ย้อนเกล็ด จอมขวัญ ปมเราไม่ได้อยู่ในสังคมที่ทุกคนพูดได้เท่ากัน

ล่าสุดทางด้านของ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) NIDA ได้โพสต์ข้อความในเชิงสอนการเป็นพิธีกรที่ดี แขวะ จอมขวัญ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

หลักการและจรรยาบรรณของการเป็นผู้ดำเนินรายการที่ดี คือการให้ความยุติธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย
จากที่คุณจอมขวัญทวิตมา ถ้าจะมองโลกในแง่ดี ว่าการ “ออกตัว” ไปดีเบต หรือพยายามพูดสรุปความคิดเห็นของฝ่ายหนึ่งแทน นั้นมาจากสาเหตุที่ฝ่ายนั้นไม่สะดวกจะพูด หรือพูดไม่ออก หรืออะไรก็ตาม เพื่อให้น้ำหนักของการสนทนา ไม่ “เอียง” ไปข้างใดข้างหนึ่ง ในแง่ของเวลา (ถ้ามองโลกในแง่ไม่ดีก็คือ คุณจอมขวัญมี hidden agenda บางอย่าง)

แต่การทำเช่นนั้น กลับการเป็นการกระทำที่ “ไม่ยุติธรรม” ในฐานะของผู้ดำเนินรายการ เพราะทำให้เกิดการ “เอียง” ในด้านการวางตัว เพราะกฎหลักของการเป็นผู้ดำเนินรายการคือ ต้อง “เป็นกลาง” ไม่เข้าข้าง ออกรับ อธิบายแทน หรือแก้ตัวแทนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่างมากที่สุดก็คือการ “ถามคำถาม” เท่านั้น

ข้อนี้ผู้ดำเนินรายการที่ยึดหลักจรรยาบรรณทราบดีกันอยู่แล้ว จริงๆแทบไม่ต้องมาบอกคนที่มีประสบการณ์อย่างคุณจอมขวัญ คนทั่วไปก็ยังรู้
แล้วถามว่า ถ้าแขกรับเชิญฝ่ายหนึ่งเกิดช็อต งง และพูดไม่ออกอย่างวันนั้น จะให้ผู้ดำเนินรายการทำอย่างไร?

ก็ยังมีวิธีอีกมากมายที่จะทำได้ ผมจะขออนุญาตแนะนำในฐานะอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ที่เคยเป็นผู้ดำเนินรายการมาเหมือนกัน

1. ง่ายที่สุดคือตั้งคำถามไปเรื่อยๆ ในสิ่งที่คิดว่าเขาจะตอบได้ เพื่อให้แน่ใจว่าได้ให้โอกาสเขาพูดเต็มที่แล้ว โดยเอาเวลาของแต่ละฝ่ายเป็นตัวตั้งคร่าวๆ (และอย่าอ้างว่าอีกฝ่ายพูดแทรก เพราะคุณเป็นผู้ดำเนินรายการ)

2. ทำการบ้านให้มากขึ้น เกี่ยวกับสิ่งที่คนนั้นเคยเรียกร้องมา และนำข้อมูลเหล่านั้นมาสอบถามให้ละเอียดขึ้น หรือถ้ามันตื้นเขินจริงๆ จะเอาสิ่งที่คนอื่นพูดและใกล้เคียงกันมาถามก็ยังได้

3. ใช้คำถามที่ไม่ใช่ให้ตอบแค่ ใช่หรือไม่ แต่ตั้งคำถามให้ “อธิบาย” เช่น “เพราะอะไร” “ติดขัดตรงไหน” “ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร” “ถ้า…แล้วจะเป็นอย่างไร” “แนวโน้มจะเป็นอย่างไร” ฯลฯ

4. ใช้เทคนิค Devil’s Advocate ในการซักถึงความชอบธรรมของจุดยืนของแขกรับเชิญคนนั้น (ซึ่งคุณจอมขวัญใช้กับอีกฝ่าย แต่ไม่ใช้กับฝ่ายที่คนมองว่าเข้าข้าง) เช่น “เหตุใดจึงเชื่อว่าข้อมูลที่ได้มานั้นเป็นความจริง” “มีหลักฐานอะไรบ้าง”

5. ใช้เทคนิคอื่นประกอบ เช่นระหว่างเบรก ช่วยให้ทีมงานหาภาพหรือคลิปประกอบ แล้วถามความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนั้น

6. หากเห็นท่าไม่ดี ระหว่างเบรก อาจขอตัวแขกคนนั้นไปพูดคุยกันว่าต่อไปจะถามเรื่องอะไร เพื่อให้เวลาเตรียมตัว

และยังมีวิธีอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งหมดนี้ ไม่มีข้อไหนที่เป็นการ “ช่วยพูดแทน” เลย เพราะการทำเช่นนั้น มันผิดทั้งหลักการผู้ดำเนินรายการที่ดี และจรรยาบรรณของวิชาชีพสื่อมวลชน
และทั้งหมดนี้ คงไม่ต้องอ้างว่าทำไม่ได้ เพราะพูดไม่ได้ มีข้อจำกัดจากการออกอากาศ มีวิธีการพูดอีกมากมายที่เข้าถึงประเด็นโดยที่ไม่ผิดกฎหมาย ถ้าพูดช่วงออกอากาศไม่ได้ ก็มาพูดช่วงออนไลน์

และมันไม่เกี่ยวอะไรเลย กับการที่ “คนเราพูดได้ไม่เท่ากัน” อย่างที่คุณจอมขวัญอ้างมา คุณจอมขวัญอย่าสรุปเอาเอง แล้วก็ทึกทัก พูดแทนแขกรับเชิญ อย่าลืมว่าคุณเป็นผู้ดำเนินรายการ เป็นสื่อมวลชน มีคนติดตามจำนวนมาก
หรือถ้ายังทำไม่ได้ ก็เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นดีกว่าครับ