นายกรมว.ประยุทธ์ฯจัดสรรกำลังทีมแก้วิกฤติชาติ คุมเอง “ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ” ร่วมกับรัฐมนตรี สมาคมด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนภาคเอกชนและนักธุรกิจชั้นนำ สั่งเข้มภารกิจเร่งด่วน 5 เรื่องที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจต้องดำเนินการทันที ชี้โลกไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ประเทศไทยต้องแก้วิกฤติเฉพาะหน้าดูแลประชาชน และเตรียมรับสถานการณ์โลกหลังโควิด-19 กำชับ ทุกฝ่ายทำโครงการต้องตอบโจทย์ประเทศและ ทำให้เกิดความเจริญยั่งยืน
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีคำสั่งนายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง “ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) หรือ “ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ” มีคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
จัดทัพแก้วิกฤติเศรษฐกิจ-บิ๊กตู่คุมเอง
ทีมกู้วิกฤติ-ฟื้นฟูเศรษฐกิจ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระกรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ผู้แทนจากสภาหอการค้า , สภาอุตสาหกรรม, สมาคมธนาคารไทยและนักธุรกิจชั้นนำ ร่วมเป็นกรรมการ
มีอำนาจหน้าที่ดังนี้คือ
- จัดทำข้อเสนอและกรอบแนวทางการดำเนินมาตรการเศรษฐกิจทั้งระยะเร่งด่วน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19
- จัดทำข้อเสนอและกรอบแนวทางการดำเนินมาตรการเศรษฐกิจระยะปานกลางและระยะยาว เพื่อยกระดับศักยภาพและวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตหลังโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลง
- ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร สร้างความรู้และความเข้าใจ ทั้งนี้อาจมีผู้เหมาะสมทำหน้าที่ผู้ชี้แจงและประชาสัมพันธ์ในนามของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ ตามที่ประธานกรรมการมอบหมายด้วย
ตั้งทีมติดตามงานประกบหนวยราชการ และหน่วยงานเอื้อการปฏิบัติให้บรรลุนโยบาย
ภายใต้ “ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ” นอกจากคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ ฯ ยังให้มี “คณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ” ที่มีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธานกรรมการ ผอ. สำนักงบประมาณ ปลัดกระทรวง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการโดยมีคณะอนุกรรมการอีก 3 ชุด ได้แก่
- คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รวมทั้ง SMEs
- คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว เพื่อยกระดับศักยภาพและวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตภายหลังจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สิ้นสุดลง และ
- คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และสนับสนุนข้อมูลเศรษฐกิจรายสาขา เพื่อสนับสนุนด้านข้อมูลและรายละเอียดข้อเสนอแนะมาตรการเศรษฐกิจในสาขาต่าง ๆ ด้วย
นายกรมว.ประยุทธ์ฯแจงเหตุตั้งทีม ศบค.เศรษฐกิจ ระดมคนมีความรู้มาช่วยเหลือประชาชน
“การจัดการวิกฤติเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญมาก วิกฤติเศรษฐกิจที่เราเผชิญอยู่จะไม่หายไปโดยเร็ววัน เมื่อผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนมากต่างคาดการณ์ว่า เราทุกคนจะต้องทนทุกข์อยู่กุับวิกฤติไปจนเกือบปลายปีหน้า เมื่อทั้งโลกต้องเจ็บหนักกว่าวิกฤติเศรษฐกิจที่เลวร้ายกว่าครั้งไหน ประเทศไทยก็ได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัสด้วย เพราะเศรษฐกิจไทย เชื่อมอยู่กับเศรษฐกิจโลกอย่างมาก เศรษฐกิจประเทศไทยจะเริ่มกลับมาเป็นปกติได้ ก็ต่อเมื่อประเทศอื่นๆในโลกเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ”
5 ภารกิจที่นายกฯเน้นที่รัฐมนตรีต้องทำทันที
- เยียวยาประชาชนที่ตกงาน-เอสเอ็มอี
- แก้ปัญหาในแนวทางที่จะช่วยให้เศรษฐกิจประเทศอย่างยั่งยืน ทำโครงการที่ทำได้จริง ตอบโจทย์ปัญหาที่แท้จริงไม่เลื่อนลอย ใช้งบประมาณให้คุ้มค่า
- สร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจยังจ้างงาน และใหัผลักดันให้ธุรกิจปรับองค์กร
- กำหนดแผนจ้างงาน คนรุ่นใหม่ นักศึกษาจบใหม่
- ต้องทำงานอย่างซื่อสัตย์โปร่งใส และ รับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย
พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า “โลกยุคใหม่ต้องการให้เรา เรียนรู้ที่จะทำงานด้วยกันอย่างเป็นหนึ่งเดียว เป็นทีมเดียวกัน แม้ว่าอาจมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน”
ส่องรัฐมนตรีใหม่-ภารกิจท้าทาย
รองนายกฯและรมว.กระทรวงการคลัง-นายปรีดี ดาวฉาย คุมบังเหียนงานเศรษฐกิจแทนดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รมว.คลังเดิมทั้งหมด วันที่ 17 ส.ค.จะเข้าประชุมและมอบนโยบายผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลัง และจะรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน พร้อมเปิดแผนมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วง 6 เดือนหลัง และ 2564
รมว.กระทรวงแรงงาน- นายสุชาติ ชมกลิ่น ดูแลเรื่องปัญหาแรงงาน-คนตกงาน เปิดเผยเตรียมตั้งศูนย์บริหารแรงงาน ร่วมดูแลปัญหากับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประสานงานกับอีก 3 กระทรวง กระทรวงอุตสาหกรรม+ กระทรวงศึกษาธิการ+ กระทรวงวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
รมว.กระทรวงพลังงาน-นายสุพัฒน์พงษ์ พันธุ์มีเชาว์- ภารกิจเร่งด่วนได้แก่ 1) การต่ออายุอุดหนุนแก๊ซ LPG ภาคครัวเรือน, การชดเชย-อุดหนุนก๊าซ NGV รถโดยสารสาธารณะ 2) การปรับเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชน 3) การเปิดประมูลปิโตรเลียมรอบที่ 23