คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแถลงการณ์ร่วมฯเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย- มาเลเซีย- ไทย (IMT-GT) ดันอุตสาหกรรมฮาลาล เมืองยางพาราให้เป็นจริง ทั้งเป็นการร่วมมือระดับอนุภูมิภาคฝ่าปัญหาโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกัน ทั้งนี้ได้แสดงความยินดีในด้านความสำเร็จการร่วมมือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในปีที่ผ่านมา เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเดินทางทั้งสนามบิน ทางด่วน เมืองสีเขียวเป็นต้น
โครงการพัฒนาความร่วมมือเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย ระหว่างประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย (Indonesia – Malaysia – Thailand Growth Triangle Project Development : IMT-GT) เป็นการรวมกลุ่มกันเฉพาะพื้นที่บางส่วนของแต่ละประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อใกล้เคียงกัน ซึ่งประกอบด้วยบริเวณตอนเหนือเกาะ สุมาตราของอินโดนีเซีย คือ สุมาตราเหนือ เมดาน และอาเชห์ บริเวณ 4 รัฐ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของ มาเลเซีย คือ รัฐเคดาห์ เปรัค เปอร์ลิส และปีนัง ส่วนประเทศไทยครอบคลุมบริเวณ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ว่า ครม.เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 26 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย- มาเลเซีย- ไทย (IMT-GT) ซึ่งประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1.เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยสนับสนุนการดำเนินการร่วมกันของประเทศสมาชิกแผนงาน IMT-GT ในการบรรเทาผลกระทบจากโรคโควิด-19 และเตรียมการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
2.แสดงผลการดำเนินงานและร่วมยินดีกับความสำเร็จของโครงการใน 7 สาขาคณะทำงานภายใต้แผนงาน IMT-GT ในปีที่ผ่านมา โดยมีการดำเนินงานและโครงการที่สำคัญ อาทิ 1)โครงการก่อสร้างสนามบินเบตง จังหวัดยะลา ประเทศไทย 2)โครงการก่อสร้างทางด่วนเปกันบารู-ดูไม ประเทศอินโดนีเซีย 3)ส่งเสริมขั้นตอนการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าและคนระหว่างกันในอนุภูมิภาค 4)การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวระหว่างกันในระดับอนุภูมิภาค และ 5)การกำหนดบทบาทความรับผิดชอบรายสาขาของสภาเทศมนตรีเมืองสีเขียว
3.กำหนดแนวทางแต่ละสาขาความร่วมมือ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานของแผน IMT-GT ในระยะต่อไป โดยมีประเด็นสำคัญ อาทิ 1)พัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมฮาลาลให้เข้มแข็ง 2)สร้างความร่วมมือระหว่างเมืองยางพาราของประเทศสมาชิก เพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าอุตสาหกรรมยางในอนุภูมิภาค และ 3)พัฒนาหลักสูตรการพัฒนาและเสริมทักษะใหม่สำหรับแรงงานในอนุภูมิภาค โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการศึกษาและการปรับตัวให้เข้ากับชีวิตวิถีใหม่
4.ยืนยันที่จะพัฒนาความร่วมมือกับธนาคารพัฒนาเอเชีย และสำนักงานเลขาธิการอาเซียนต่อไป รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับหุ้นส่วนใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ อาทิ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) ธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม (IsDB) ศูนย์ยุทธศาสตร์สังคมสิ่งแวดล้อมโลกของสถาบันภายใต้ความร่วมมือกับโครงการสหประชาชาติด้านสิ่งแวดล้อม (IGES/CCET) เป็นต้น
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มว่า ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ คือ
1)ส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากการพัฒนาความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคภายใต้แผนงาน IMT-GT
2)สร้างความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาค เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการรับมือและการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ผ่านโครงการสำคัญที่จะดำเนินการต่อไป เช่น การจัดทำแนวทางปฏิบัติร่วมกันสำหรับธุรกิจการ เพื่อส่งเสริมให้ IMT-GT เป็นอนุภูมิภาคการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย เร่งรัดความร่วมมือด้านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs) ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล และการพัฒนาศักยภาพผู้ฝึกอบรมด้านการตลาดดิจิทัล เป็นต้น