การประชุมสุดยอดอาเซียน หรืออาเซียนซัมมิททางออนไลน์ครั้งที่ 37 ระหว่างวันที่ 10-15 พ.ย.จะมีการประชุมสำคัญของสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ พร้อมประเทศคู่เจรจา ทั้งนี้ประเทศไทยพร้อมลงนามความตกลงRCEP เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าในการคว้าตลาดที่มีประชากร 3.6 พันล้านคน GDP รวมกว่า 22.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) RCEP เป็นความร่วมมือที่มีขอบเขตใหญ่ที่สุดในโลกมีสมาชิก 16 ประเทศครอบคลุมประชากรกว่า 3.6 พันล้านคน หรือเกือบครึ่งของประชากรโลก และมี GDP ของประเทศสมาชิกรวมกันกว่า 22.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเกือบหนึ่งในสามของ GDP โลก ซึ่งมูลค่าการค้าของไทยกับประเทศสมาชิก RCEP ในปี 2561 ก็มีมูลค่าสูงถึง 2.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และคิดเป็นกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าการค้ารวมของไทยเลยทีเดียว
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สำหรับการประชุมรัฐมนตรีRCEP รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศ กับคู่เจรจา 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะหารือโค้งสุดท้ายก่อนการประชุมผู้นำRCEP ซึ่งความตกลงอาร์เซ็ปจะสนับสนุนการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้าง ครอบคลุม และเป็นไปตามกฎกติกา รวมทั้งจะสร้างความแข็งแกร่งและรักษาความเชื่อมโยงให้กับห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค โดยเฉพาะการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19
รายงานข่าวแจ้งว่า ในโอกาสนี้ ผู้นำRCEPยกเว้นอินเดีย จะร่วมการลงนามข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป โดยรูปแบบจะเป็นการส่งเอกสารข้อตกลงอาร์เซ็ปให้แต่ละประเทศเวียนลงนามกันจนครบจำนวน คือ 15 ประเทศ จากสมาชิกทั้งหมด 16 ประเทศ ยกเว้นอินเดียจะบรรลุข้อตกลงกันไปก่อน แต่จะเปิดช่องเพื่อให้อินเดียสามารถเข้าร่วมได้ในภายหลัง
แม้การบรรลุข้อตกลงแบบไม่มีอินเดียอยู่ด้วยจะทำให้ความน่าสนใจของอาร์เซ็ปลดลง เพราะทั้งด้านจำนวนประชากร และมูลค่าจีดีพีจะลดลงไปแต่โดยภาพรวมอาร์เซ็ปยังมีความน่าสนใจในการค้าและการลงทุนต่อไป และที่สำคัญที่สุดคืออาร์เซ็ปจะเป็นจุดเชื่อมโยงซับพลายเชนที่สำคัญของโลก และประเทศไทยจะยึดกลยุทธ์ซับพลายเชนที่สำคัญของโลกไว้ได้
สำหรับขั้นตอนจากนี้ กระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)ให้ความเห็นชอบการขอลงนามข้อตกลงฯ หลังจากลงนามแล้วจะเข้าสู่ขั้นการพิจารณาของของรัฐสภา หากได้รับความเห็นชอบและให้สัตยาบันข้อตกลงฯก็จะถือว่าจบกระบวนการภายใน
ทั้งนี้อาร์เซ็ปกำหนดว่า ข้อตกลงจะมีผลบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อ สมาชิกอาเซียน ครึ่งหนึ่งให้สัตยาบันและสมาชิกที่ไม่ใช่อาเซียน (Non-Asean) อีกครึ่งให้สัตยาบัน ดังนั้นกว่าจะมีผลบังคับใช้ได้จริงคาดว่าประมาณครึ่งหลังปีหน้า
สำหรับRCEPนั้นนับเป็นข้อตกลงการค้าขนาดใหญ่ที่สุดของโลกด้วยจำนวนประชากรเกือบครึ่งโลกจึงเป็นแหล่งผลิตและตลาดรองรับสินค้าที่สำคัญ โดยด้านการผลิตตามข้อตกลงการค้านี้กำหนดให้สามารถใช้แหล่งกำเนิดสินค้า(ROO) แบบสะสมในสมาชิกอาร์เซ็ปได้ จึงเรียกว่า“Made in Rcep”ซึ่งสอดคล้องกับศักยภาพประเทศไทยที่มีความสามารถการผลิตและมีแรงงานที่มีทักษะ สามารถใช้แต้มต่อนี้นำเข้าวัตถุดิบจากอาร์เซ็ปเพื่อมาผลิตและส่งออกโดยมีสิทธิพิเศษทางภาษีภายในสมาชิกฯเป็นข้อต่อรองที่สำคัญนับเป็นการวางกลยุทธ์การค้าระหว่างประเทศในอนาคตที่กำลังมีการแข่งขันสูงและมีเงื่อนไขทางการค้าและการลงทุนที่แตกต่างออกไปจากปัจจุบันมากขึ้น