ลมตะวันออกพัดแรง!!บิ๊กทหารมังกร-เปอร์เซีย ประกาศจับมือต้านสหรัฐฯ ร่วมมือทางยุทธศาสตร์-ยุทธิวิธี

1211

ท่ามกลางภาวะตึงเครียดในสมรภูมิยูเครน อิหร่านและจีนได้แสดงเจตจำนงค์เคียงข้างกันประกาศให้โลกรู้อย่างเปิดเผยในการพบกันของรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของจีนและอิหร่าน ผู้นำเตหะรานประกาศชัดว่าความสัมพันธ์กับจีนเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในความพยายามของประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ในการเผชิญหน้ากับลัทธิฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ เพื่อสร้างเสถียรภาพและความสงบเรียบร้อยในภูมิภาคและโลก และยืนยันจะพัฒนาให้มั่นคงถาวรต่อไป

วันที่ 28 เม.ย.2565 สำนักข่าววอชิงตันโพสต์และรัสเซียทูเดย์รายงานว่าประธานาธิบดีอิบราฮิม ไรซี แห่งอิหร่าน แสดงความประสงค์ของรัฐบาลของเขาในการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับจีน ในการกล่าวสุนทรพจน์ระหว่างการเยือนของรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของจีน 

ไรซี บอกกับ พลเอกเหว่ย เฟิงเหอ(Wei Fenghe) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของจีน(Defense Minister :Wei Fenghe)ว่า เตหะรานมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับจีนเป็นยุทธศาสตร์ ความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น จะช่วยเผชิญหน้ากับสิ่งที่ประธานาธิบดีอิหร่านเรียกว่าลัทธิฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ ในขณะที่การเจรจาเพื่อรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ของเตหะรานกับมหาอำนาจโลกได้หยุดชะงักลง ด้วยข้ออ้างศึกยูเครน

 

ปธน.อิหร่านย้ำว่า “การเผชิญหน้ากับลัทธิฝ่ายเดียว ตลอดจนการสร้างความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยเป็นไปได้ด้วยความร่วมมือของมหาอำนาจที่เป็นอิสระและมีความคิดเหมือนๆ กัน” 

 

ด้านเหว่ย กล่าวว่า “การปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านและจีนจะทำให้เกิดความมั่นคงยิ่งขึ้นทั้งสองประเทศและภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤติและตึงเครียดในปัจจุบัน”

ไรซีกล่าวว่า การดำเนินการตามข้อตกลงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ 25 ปีระหว่างสองประเทศที่ประสบความสำเร็จและได้ลงนามในปี 2021 นั้นมีความสำคัญสำหรับเตหะรานอย่างยิ่ง

เขากล่าวเสริมว่า”“การพัฒนาระดับภูมิภาคและระดับโลกในปัจจุบันแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างอิหร่านและจีนมากกว่าที่เคยเป็น”

เหว่ยกล่าวว่าการเยือนของเขามีจุดมุ่งหมายเพื่อ”ปรับปรุงความร่วมมือด้านการป้องกันเชิงยุทธศาสตร์”ระหว่างเตหะรานและปักกิ่ง ซึ่งจะมี ผลกระทบ “อย่างน่าทึ่ง”ต่อการต่อสู้กับการก่อการร้าย และขจัดลัทธิฝ่ายเดียวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤติและตึงเครียดในปัจจุบัน”

เหว่ยได้พบกับพลเอกโมฮัมเหม็ด เรซา แอชเทียนี(Mohammed Reza Ashtiani) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอิหร่าน และมีรายงานว่ารมว.กลาโหมจีนเชิญเขาเยือนจีนในเร็วๆนี้ 

ในการประชุมของพวกเขาแอชเทียนี เน้นว่า “ความจำเป็นในการต่อต้านอำนาจของอเมริกาในโลกต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งพหุภาคี”

นอกจากนี้รมว.กลาโหมอิหร่านยังวิพากษ์วิจารณ์การมีอยู่ของกองทัพสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางและที่อื่นๆ โดยกล่าวว่า“ไม่ว่าที่ใดที่สหรัฐฯ มีฐานทัพอยู่ มันก็สร้างคลื่นของความไม่มั่นคง ความแตกแยก การมองโลกในแง่ร้าย สงคราม การทำลายล้าง และการพลัดถิ่นของผู้อพยพมหาศาล”

พล.ต.โมฮัมเหม็ด บาเกรี เสนาธิการกองทัพอิหร่าน ได้พบกับผู้มาเยือนชาวจีนด้วย และได้ให้รายละเอียดบางประการเกี่ยวกับรูปแบบความร่วมมือในอนาคต

บาเกรีกล่าวว่า “เราตกลงที่จะขยายความร่วมมือทวิภาคีในการฝึกซ้อมทางทหารร่วมกัน การแลกเปลี่ยนกลยุทธ์ ปัญหาการฝึกอบรม และสาขาอื่น ๆ ร่วมกันระหว่างกองกำลังติดอาวุธของทั้งสองประเทศ เพื่อให้เราสามารถให้ความปลอดภัยที่ดีขึ้นสำหรับทั้งสองประเทศ”

สนธิสัญญาความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ปี 2021 ได้ปูทางไปสู่ความร่วมมือทางทหารระหว่างอิหร่านและจีน แต่ยังรวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลายตั้งแต่การค้าน้ำมัน การขนส่ง และการเกษตร

อิหร่านอยู่ภายใต้การคว่ำบาตรฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 2018 เมื่อฝ่ายบริหารของทรัมป์ปฏิเสธข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 จีนเป็นหนึ่งในผู้ลงนามในสนธิสัญญาเดิม ร่วมกับสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี และรัสเซีย รัฐบาลสหรัฐชุดปัจจุบันกล่าวว่าต้องการฟื้นฟูข้อตกลง แต่การเจรจาไม่ได้เกิดขึ้นอย่างราบรื่นเนื่องจากวอชิงตันปฏิเสธที่จะยกเลิกการคว่ำบาตรต่อเตหะรานก่อน

ท่าทีของอิสราเอลต่อเนื่องนี้ สถาบัน INSS มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ อิสราเอล แสดงความเห็นว่า ความสัมพันธ์จีน-อิหร่านเป็นจุดเชื่อมระหว่างหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ข้อตกลงเชิงกลยุทธ์ด้านความมั่นคงระหว่างปักกิ่งและเตหะรานที่ลงนามเมื่อเร็วๆนี้ สะท้อนให้เห็นจุดต่ำสุดในความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ 

ความช่วยเหลือของปักกิ่งต่ออิหร่านเพื่อหลุดพ้นจากความโดดเดี่ยวและสร้างเศรษฐกิจใหม่นั้นขัดกับผลประโยชน์ของอิสราเอล ในขณะที่ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการทหารและข่าวกรองระหว่างพวกเขาเพิ่มภัยคุกคามทางทหารต่ออิสราเอลและประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลางและอินโดแปซิฟิก แนวโน้มนี้กดดันให้อิสราเอลต้องปรับเปลี่ยนนโยบาย โดยเน้นที่การจัดการความเสี่ยงที่เข้มงวดยิ่งขึ้นและการเดินหน้าเจรจากับพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ต่อไป