รฟม.ได้ยื่นอุทธรณ์เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองกรณีปรับเกณฑ์ประมูลสายสีส้มในวันที่ 2 พ.ย.2563 หลังการประชุมคณะกรรมการ ม.36 วันที่ 4 พ.ย.2563 ได้ประกาศให้เอกชนยื่นซองวันที่ 9 พ.ย.2563 อ้างคำสั่งศาลให้ทุเลาเกณฑ์ใหม่ไม่ได้ห้ามยื่นซอง ทั้งนี้ได้วางแนวทางรองรับกรณีให้ยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง และหรือยกเลิกประมูลร่าง TOR ใหม่ รฟม.มั่นใจว่าสามารถคัดเลือกและลงนามดำเนินการได้อย่างช้าที่สุดใน ก.ย. 2564 โดยไม่กระทบเปิดด้านตะวันออกศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี มี.ค. 67
จากที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2563 คุ้มครองชั่วคราว ให้ รฟม.ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ที่ให้ใช้การประเมินซองที่ 2 ข้อเสนอทางเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมกันแล้วแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
คณะกรรมการ มาตรา 36 พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 ได้มีการประชุมกันวันนี้้(4 พ.ย.)เพื่อเตรียมแนวทางในการดำเนินการประกวดราคาตามประกาศที่ได้ขยายเวลาในการรับเอกสารประกวดราคา กำหนดยื่นซองประกวดเป็นวันที่ 9 พ.ย. 2563 นี้
เบื้องต้น รฟม.ได้มีการจัดทำกรอบแนวทางในการดำเนินการ กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งก่อนวันที่ 9 พ.ย.นี้ ซึ่งประเมินไว้ 3 กรณี ได้แก่
- กรณีศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลปกครองกลาง รฟม.โดยคณะกรรมการมาตรา 36 พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 จะรับซองวันที่ 9 พ.ย. 63 จากนั้นจะประชุมเพื่อกำหนดเกณฑ์ และเปิดซองด้านคุณสมบัติ (ซอง 1) วันที่ 23 พ.ย. 63 ประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติ และเปิดซองด้านเทคนิค (ซอง 2) และซองข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน (ซอง 3) ประเมินข้อเสนอ สรุปประมาณปลายเดือน ธ.ค. 63 เพื่อเข้าสู่การเจรจาต่อรองผู้ผ่านการประเมินสูงสุด คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงต้นปี 64 และลงนามสัญญาในต้นเดือน มี.ค. 64
- กรณีศาลปกครองสูงสุดยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง และ รฟม.เดินหน้าการประมูลต่อ โดยรับซองวันที่ 9 พ.ย. 63 ตามกำหนดนั้น รฟม.จะต้องออก RFP Addendum ยกเลิกปรับปรุงวิธีการประเมินก่อนรับซองก่อน ขณะที่กรอบเวลา การพิจารณายังเป็นไปตามกำหนดเดิม โดยเปิดซองที่ 1 วันที่ 23 พ.ย. 63 ประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติ จากนั้นเปิดซองที่ 2 ประเมินข้อเสนอด้านเทคนิค และเปิดซองที่ 3 ประเมิน ข้อเสนอการลงทุนและผลตอบแทน จะเร่งรัดเพื่อสรุปผลให้ได้ในเดือน ม.ค. 64 เพื่อเข้าสู่การเจรจาต่อรองผู้ผ่านการประเมินสูงสุด คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงต้นปี 64 และลงนามสัญญาภายใน มี.ค. 64
- กรณีศาลปกครองสูงสุดยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง และ รฟม.ยกเลิกการประมูลโดยจะออกประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนก่อนวันที่ 9 พ.ย. 63 และเริ่มขั้นตอนการจัดทำร่างข้อเสนอการร่วมลงทุน (RFP) ใหม่เสร็จใน ก.พ. 64 ขายเอกสารเดือน ก.พ.-มี.ค. 64 ยื่นซองประมูลเดือน พ.ค. 64 สรุปผลประมูลเดือน ก.ค. 64 ลงนามสัญญาได้ในเดือน ก.ย. 64 ทั้งนี้ แผนงานนี้จะต้องมีการเร่งรัดกรอบการทำงานทุกขั้นตอนเพื่อไม่ให้โครงการล่าช้า
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ส่วน ได้แก่ งานโยธา สายสีส้มด้านตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กม. เป็นโครงสร้างใต้ดิน 13.6 กม. โครงสร้างยกระดับ 8.9 กม. มี 17 สถานี กรองวงเงินรวม 82,907 ล้านบาท ปัจจุบันงานก่อสร้างมีความก้าวหน้า 70%
สายสีส้ม ด้านตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ งานโยธา ระยะทาง 13.4 กม. เป็นโครงสร้างใต้ดินตลอดสาย มี 11 สถานี กรอบวงเงินรวม 96,012 ล้านบาท และการจัดหา ติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถ และการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาตลอดเส้นทาง ตั้งแต่ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กรอบวงเงินลงทุน 32,116 ล้านบาท โดย รฟม.เปิดประมูล PPP ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนออกและก่อสร้างงานโยธา ด้านตะวันตก และจัดหาระบบรถไฟฟ้า และเดินรถตลอดสาย โดยรัฐสนับสนุนค่างานโยธาตามค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้น
ซึ่งมีกำหนดเปิดให้บริการ 2 ส่วน โดยส่วนตะวันออกภายในเดือน มี.ค. 2567 และส่วนตะวันตก (ครบตลอดสาย) ในเดือน ก.ย. 2569
ขณะที่หลายฝ่ายฝากความหวังไว้ว่าการลงทุนของรัฐในโครงการเมกะโปรเจกท์ทั้งหลายจะเป็นพระเอกมาช่วยประคองเศรษฐกิจไทยไม่ให้ทรุดหนักไปกว่านี้ แต่เอาเข้าจริงในแต่ละโครงการลงทุนกลับมีประเด็นก็ไม่ชอบมาพากล ทำให้โครงการนั้นๆต้องมีอัน“ติดหล่ม”ทำให้การลงทุนไม่เกิดขึ้นตามแผนงาน เม็ดเงินที่จะไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจก็ติดค้างเติ่งไปด้วย โครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มนี้ก็เป็นหนึ่งที่เริ่มมีเสียงครหา คงต้องจับตาผลสรุปในที่สุดว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป!