เปิดเมืองภูเก็ตถกฟื้นเศรษฐกิจ ระหว่าง 2-3 พ.ย.2563 ครม.สัญจรเคาะมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจกลุ่มจังหวัดอันดามันภาคใต้ เอกชนเสนอรัฐทุ่มงบฯโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 3.3 หมื่นล้านบาท รองรับการพัฒนาSmart City-City Data Platform , เมืองท่องเที่ยวสุขภาพโลก, ยุทธศาสตร์มาริไทม์ เป็นต้น ขณะที่มาตรการดูแลภาคประชาชน ก.พาณิชย์เสนอประกันรายได้ชาวสวนยาง, ข้าว นอกจากนี้ที่ประชุมรับทราบหลักการและท่านนายกรมต.สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้องศึกษาความเป็นไปได้และเสนองบประมาณต่อไป
การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, นายกรัฐมนตรีฯเป็นประธานการประชุมในช่วงเช้าพิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ และเข้าประชุมครม.พิจารณาโครงการนำเสนอเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในกลุ่มพื้นที่จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยมีสาระโดยสรุปดังนี้คือ
ข้อเรียกร้องจากเอกชนให้รัฐช่วยสนับสนุน ได้แก่
-มาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเหลือ 2% สำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มจังหวัดเป็นเวลา 3 ปี, -โครงการยกระดับท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก, -แผนยุทธศาสตร์มาริไทม์ ฮับ เป็นต้น
ภาคเอกชนในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ได้มีข้อเสนอผ่านหอการค้าไทย ในการให้รัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ จ.ภูเก็ต และพื้นที่โดยรอบชายฝั่งอันดามัน มูลค่า 1.8 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี เพื่อช่วยปลุกเศรษฐกิจชายฝั่งอันดามัน ซึ่งประกอบด้วย
- แผนการขยายสนามบินนานาชาติ 70,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ส่วนต่อขยายสนามบินภูเก็ต 10,000 ล้านบาท และสนามบินนานาชาติพังงา 60,000 ล้านบาท
- โครงการพัฒนารถไฟรางเบา ในรูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) มูลค่าการลงทุน 30,000 ล้านบาท
- การพัฒนาอุโมงค์ทางลอดเชื่อมกระทู้-ป่าตอง แก้ไขปัญหารถติดและลดอุบัติเหตุ มูลค่า 9,000 ล้านบาท
- โครงการพัฒนาภูเก็ตให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเล (มารีน่าฮับ) มูลค่า 3,000 ล้านบาท
- ศูนย์ดูแลสุขภาพ มูลค่า 5,000 ล้านบาท
รวมถึงข้อเสนอให้อำนวยความสะดวกด้านวีซ่าเข้าประเทศ สำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางมาพำนักในไทยหลังเกษียณ โดยเสนอว่าควรขยายระยะเวลาวีซ่า จาก 3-6 เดือน เป็น 1-2 ปี ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้ต่างชาติที่มาใช้ชีวิตหลังเกษียณในไทย มีการใช้จ่ายเงินช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดได้อีกทาง
นายดนุชา พิชยนันทน์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า เอกชนได้มีข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวในระยะสั้นและวางรากฐานการพัฒนาอนาคตท่องเที่ยวของ จ.ภูเก็ต โดยโครงการระยะกลางและระยะยาวได้เสนอโครงการ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดภูเก็ตเพื่อรองรับการท่องเที่ยวมูลค่ารวม 3.3 หมื่นล้านบาท ได้แก่
- โครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ (สาย บ.เมืองใหม่ – บ.เกาะแก้ว) ระยะทางรวม 22.4 กิโลเมตร วงเงินรวม 3 หมื่นล้านบาท
- โครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลกประกอบด้วย การจัดตั้งศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติครบวงจร (wellness center) วงเงินลงทุน 3 พันล้านบาท
ส่วนโครงการอื่นๆได้แก่ โครงการพัฒนาคุณภาพการคัดกรองด่านตรวจภูเก็ต และการให้สิทธิประโยชน์ให้กับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทเอกชนอื่น ๆ ให้ดำเนินการจัดตั้งพื้นที่สำนักงานในหน่วยงานด้านเทคโนโลยี หรือดิจิทัลที่จังหวัดภูเก็ต โดยโครงการทั้งหมดนายกรัฐมนตรีรับทราบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาความเป็นไปได้และดูความเหมาะสมของแหล่งงบประมาณต่อไป
กระทรวงคมนาคม รายงานความคืบหน้าโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กำลังอยู่ระหว่างเร่งรัดการดำเนินโครงการฯ ให้ครม.รับทราบในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ในวันนี้ด้วย
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้นำเสนอความก้าวหน้าของโครงการ “Phuket Smart City” เป็นโครงการโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ร่วมมือกับบริษัท City Data Analytics ภายใต้ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง ในการพัฒนาระบบ City data platform เพื่อเก็บข้อมูล วิเคราะห์ทั้งข้อมูลปัจจุบันจนถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งข้อมูลมีความแม่นยำ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายมิติ เช่น ความปลอดภัย การท่องเที่ยว การบริหารจัดการเมือง ที่ดิน เป็นต้น
ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการว่า ในการทำ City Data Platform ให้ขยายผลเต็มพื้นที่ทั้งใน ภูเก็ต กระบี่ พังงา ให้เกิดภาพอันดามัน สมาร์ทซิตี้ และอยากให้มีการใช้ประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่องถึงภาคเอกชน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรือที่อยู่อาศัยในพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ประกอบด้วย
- พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง และผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง รวมจำนวน 6 ฉบับ
- พื้นที่ป่าชายเลน ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล และผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง รวมจำนวน 32 ฉบับ
กระทรวงพาณิชย์ เสนอมาตรการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง 3 ชนิด ได้แก่ ยางแผ่นดิบชั้น 3 กำหนดประกันส่วนต่างที่ราคา 60 บาท/กก. น้ำยางข้น 57 บาท/กก. และยางก้อนถ้วย 23 บาท/กก. ใช้วงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ 2 ทาง คือรายได้จากการขายยางพาราและรายได้จากส่วนต่างชดเชย โดยต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน พร้อมกันนี้ จะเสนอการประกันราคาข้าวที่กำหนดวงเงินชดเชยส่วนต่าง 1,000 บาท/ไร่ กำหนดครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่
ที่บริเวณด้านนอกมีตัวเเทนชาวบ้าน เดินทางมาขอพบนายกรมต. เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมเเละให้ดำเนินการกับนายทุนที่บุกรุกที่ป่าชายเลน ก่อนออกเอกสารสิทธิ์เเล้วนำไปขาย เพื่อสร้างสถานีขนส่ง จังหวัด ในหมู่ 3 ตำบลถ้ำน้ำผุด จังหวัดพังงา เเละฟ้องร้องชาวบ้านสร้างความเดือดร้อนอย่างมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้าเจรจา โดยขอให้ตัวเเทนชาวบ้านไปยื่นหนังสือผ่านศูนย์ดำรงธรรมเเทน เพื่อป้องกันความวุ่นวาย