“คนละครึ่ง” ครบโควต้า 10 ล้านคนแล้ว!?! 10 วันยอดใช้จ่ายทะลุ 4,100 ล้านบาท คลังย้ำไม่ใช้ 14 วันถูกตัดสิทธิ

1803

โครงการ “คนละครึ่ง” ได้รับการตอบรับจากประชาชนสมความตั้งใจรัฐบาล ล่าสุดในช่วงเวลา 10 วันพบยอดใช้จ่ายทะลุ 4,188.30 ล้านบาท โดยรัฐควักกะเป๋า 2,139.93 ล้านบาท โดยกรุงเทพและสงขลา ท็อปฮิตทั้งความถี่ในการใช้และยอดค่าใช้จ่าย มีร้านค้าเข้าร่วม 4.7 แสนร้าน แต่พบอุปสรรค ผู้ใช้งานบ่นอุบระบบยังใช้งานยาก และบางพื้นที่ใช้งานไม่ได้ ประชาชนไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ ล่าสุดธนาคารกรุงไทยลงพื้นที่แก้ไขปัญหา ให้ทันก่อนถึงเส้นตายถูกตัดสิทธิ 

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง  ได้ย้ำว่าประชาชนที่ลงทะเบียนรับสิทธิ์ “คนละครึ่ง” ก่อนวันที่ 23 ตุลาคม 2563 และได้รับ SMS ยืนยันสิทธิแล้วขอให้ติดตั้งแอพพลิเคชัน “เป๋าตัง” รวมทั้งยืนยันตัวตนให้เรียบร้อย ซึ่งขั้นตอนการยืนยันตัวตนสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองโดยง่าย

และจะต้องมีการใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชัน “เป๋าตัง” ภายในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 โดยเมื่อท่านเติมเงินจำนวนเท่าใดก็ได้ตามต้องการเข้าไปในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ก็จะสามารถใช้สิทธิซื้อสินค้ากับผู้ประกอบการร้านค้าที่มีแอพพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการได้ทันที ซึ่งสามารถใช้จ่ายได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 หากไม่ใช้จ่ายภายใน 14 วัน นับจากวันถัดจากวันที่ได้รับ SMS แจ้งรับสิทธิ ท่านจะถูกตัดสิทธิและไม่สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้อีก

ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 2 พ.ย. 2563 เวลา 11.00 น. จำนวนยอดใช้จ่ายสะสม 4,188.30 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 2,139.93 ล้านบาท และรัฐช่วยจ่ายอีก 2,048.37 ล้านบาท ยอดใช้จ่ายเฉลี่ย 225 บาทต่อครั้ง

โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ ทั้งนี้ มีร้านค้าสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 4.7 แสนร้านค้า

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ได้มีการลงพื้นที่สำรวจการดำเนินโครงการคนละครึ่งในจังหวัดภูเก็ตพบว่า มีประชาชนจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถยืนยันตัวตนเข้าร่วมโครงการได้สำเร็จหรือมีการใช้งานแอพพลิเคชัน “เป๋าตัง” ไม่ได้ เนื่องจากจำรหัสเข้าใช้งานไม่ได้ หรือสแกนหน้าไม่สำเร็จ จึงทำให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวมารอเข้าคิวยืนยันตัวตนที่สาขาเป็นจำนวนมาก และระบบของธนาคารได้ตรวจสอบพบว่ามีการรอคิวจำนวนมากของประชาชนในบางพื้นที่ เช่น สาขาในจังหวัดขอนแก่น ชัยนาท นครราชสีมา อีกด้วย

ดังนั้น ธนาคารกรุงไทยจึงได้เร่งดำเนินการเพิ่มเครื่องยืนยันตัวตนกว่า 1,000 เครื่องใน 200 สาขาทั่วประเทศ โดยเฉพาะสาขาที่ระบบตรวจพบว่ามีการรอคิวของประชาชนเป็นจำนวนมาก ตลอดจนเพิ่มจำนวนพนักงานอีกร้อยละ 20 ในแต่ละสาขา เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถยืนยันตัวตนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งได้ทันท่วงทีป้องกันการถูกตัดสิทธิ ตลอดจนแนะนำการใช้งานแอพพลิเคชัน “เป๋าตัง” อีกด้วย