เปิดสินค้าไทยถูกสหรัฐตัดGSP?!? 147 รายการมูลค่า 604 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นักวิเคราะห์ชี้กระเทือนผิวๆ

2077

เปิดผลกระทบสินค้าไทยที่ถูกสหรัฐตัดสิทธิ GSPมี 231 รายการมูลค่า 817 ดอลลาร์สหรัฐ ราว 25,327 ล้านบาท เดิมมี 147 รายการที่ใช้สิทธิGSP ส่งออกไปสหรัฐมูลค่า 604 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลัง 30 ธ.ค.63 ยังส่งไปได้แต่ต้องจ่ายภาษีปกติ 3-4% มูลค่าประมาณ 19 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 600 ล้านบาท นักวิเคราะห์มอง ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ตัดสินใจตามผลทางการเมือง และผลกระทบต่อการส่งออกไทยไม่มากเพราะแม้ภาษีจะสูงขึ้นแต่สินค้าไทยมีมาตรฐาน ตลาดสหรัฐยังต้องการสูง ทางตลาดเงินกระทบชั่วคราว

สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ระบุรายชื่อสินค้านำเข้าจากไทยที่ถูกตัดสิน ได้แก่ ชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (พวงมาลัยรถและล้อรถ) กระปุกเกียร์ กรอบโครงสร้างแว่นตาทำด้วยพลาสติกเคมีภัณฑ์ เกลือฟลูออรีน ที่นอนและฟูกทำด้วยยางหรือพลาสติก หลอดและท่อทำด้วยยางวัลแคไนซ์ อะลูมีเนียมเจือแ่ผ่นบาง สินค้าอิเล็คทรอนิกส์บางชนิด เคมีภัณฑ์บางชนิด อาหารอบแห้งบางชนิด และเครื่องครัว เป็นต้น

ทรัมป์ตัดGSPตามคาด-กดดันให้เปิดเสรีนำเข้าเนื้อหมู

วันที่ 30 ต.ค. สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) wfhประกาศว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ได้ระงับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสินค้าไทยภายใต้โครงการ Generalized System of Preferences (GSP) เป็นมูลค่า 817 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.53 หมื่นล้านบาท เนื่องจากไม่มีความคืบหน้าในการที่สหรัฐที่เข้าสู่ตลาดผลิตภัณฑ์เนื้อหมู

วันที่ 31 ต.ค. นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ผลกระทบจากการที่สหรัฐตัดสิทธิ GSP สินค้าไทย จำนวน 231 รายการ ไม่ได้รุนแรง เนื่องจากสินค้าทั้ง 231 รายการดังกล่าว พบว่าในปี 2562 มีการใช้สิทธิจริง 147 รายการซึ่งมูลค่าประมาณ 604 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นภาษีที่ต้องกลับไปเสียในอัตราปกติมูลค่า 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 600 ล้านบาท

“การที่สินค้าไทยถูกตัด GSP ไม่ได้หมายความว่าเราส่งออกไม่ได้ เพียงแต่สินค้า 147 รายการที่เราเคยใช้สิทธิ GSP ในการส่งออกไปสหรัฐนั้น จะต้องกลับไปเสียภาษีเหมือนเดิมที่ระดับ 3-4% ซึ่งนั่นคิดเป็นประมาณ 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 600 ล้านบาท” นายกีรติกล่าว

สำหรับสินค้าที่ได้รับผลกระทบ อาทิ อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ พวงมาลัยรถยนต์ ล้อรถยนต์ กระปุกเกียร์ กรอบโครงสร้างแว่นตาทำด้วยพลาสติก เคมีภัณฑ์ เกลือฟลูออรีน ที่นอนและฟูกทำด้วยยางหรือพลาสติก หลอดและท่อทำด้วยยางวัลแคไนซ์ อะลูมิเนียมเจือแผ่นบาง เป็นต้น

ประสานเสียงกระทบผิวๆ

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยและอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ผลกระทบทางลบต่อภาคส่งออกไทย เศรษฐกิจไทยโดยรวมไม่มากนักจากการตัดสิทธิจีเอสพีของสหรัฐฯต่อสินค้าไทย 231 รายการ และไม่มีความจำเป็นในการทำตามที่สหรัฐอเมริกาต้องการในเปิดตลาดเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงเพราะได้ไม่คุ้มเสีย โดยเฉพาะประเด็นทางด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนชาวไทย โดยประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์น่าจะตัดสินใจบนพื้นฐานผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าความสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อรักษาฐานคะแนนจากกลุ่มเกษตรกรสหรัฐฯ

นอกจากนี้สินค้าไทย 231 รายการที่ถูกตัดสิทธิล่าสุดและมีผลตั้งแต่เดือนธันวาคม มีเพียง 147 รายการเท่านั้นที่ผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิ สินค้ากลุ่มนี้ (147 รายการ) มีมูลค่านำเข้าเฉลี่ยประมาณ 600-700 ล้านดอลลาร์ต่อปี เมื่อเสียภาษีเพิ่ม 3-5% คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 20-30 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 640-960 ล้านบาท

ผลกระทบต่อบริษัทส่งออกขนาดกลางขนาดเล็ก (SMEs)ที่อาศัยตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นหลักจะกระทบมากพอสมควร ฉะนั้นต้องเร่งหาตลาดใหม่ทดแทนหากแข่งขันไม่ได้ในด้านราคาในตลาดสหรัฐฯอันเป็นผลที่ไม่ได้รับสิทธิจีเอสพีแล้ว สินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ กระปุกเกียร์ ผลิตภัณฑ์ยางหลากหลายประเภท กรอบแว่นตา เคมีภัณฑ์ อลูมิเนียมแผ่นบาง เป็นต้น

ผลที่มีต่อตลาดการเงินในประเทศมีจำกัดแต่บริษัทที่ผลิตและส่งออกสินค้าประเภทดังกล่าวในตลาดหลักทรัพย์อาจได้รับผลกระทบบ้าง โดยราคาหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์และกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางที่ราคาปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้อาจปรับฐานลดลงได้จากข่าวการตัดจีเอสพีดังกล่าว ส่วนความเคลื่อนไหวของเงินบาทไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญใดๆ ขณะที่ไทยยังคงใช้สิทธิและยังไม่ถูกตัดสิทธิจีเอสพีในสินค้าอีก 638 รายการ โดยตนมองว่า ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมหาตลาดใหม่ๆไว้ทดแทนบ้างเนื่องจาก ไทยอาจถูกติดสิทธิจีเอสพีจากการอ้างเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ในระยะต่อไป

สรท.เสนอไทยเดินหน้าFTA ลดภาษีถาวรดีกว่า

นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า ขณะนี้สรท.กำลังวิเคราะห์ผลกระทบรายสินค้าจากกรณีที่สหรัฐระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ธ.ค.นี้ ว่าจะกระทบต่อภาพรวมการส่งออกปี 2564 จากที่เคยคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 5% จากปี 2563 ที่คาดว่าจะติดลบ 6.5 ถึง ลบ7% หรือไม่

“เดิมเมื่อตัวเลขส่งออก ก.ย.ดีเราคิดว่าส่งออกปีนี้จะติดลบลดลงจาก 7% เหลือลบ 8- ลบ 6.5% และปีหน้าจะฟื้นเป็นบวก 5% แต่ก็ยังไม่ดีเท่าปี 2562” 

“ตลาดสหรัฐคิดเป็นสัดส่วน 14% ของการส่งออกไทย การตัดสิทธิ์จะกระทบ หรือไม่ขึ้นอยู่กับ สินค้าที่ถูกตัดสิทธิ์เป็นสินค้าที่ไทยผลิตและส่งออกให้สหรัฐเพียงรายเดียวหรือไม่ หากไทยผลิตรายเดียวผู้บริโภคสหรัฐจะต้องบริโภคสินค้าราคาสูงขึ้น แต่หากสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ์เป็นสินค้าที่มีผู้ผลิตเช่นเดียวกับไทย ก็จะทำให้ไทยเสียเปรียบการส่งออก ซึ่งขณะนี้ก็มีปัจจัยลบจากโควิด กระทบกำลังซื้อเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว”

สำหรับสาเหตุที่ประกาศตัดสิทธิก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 พ.ย.นี้ คาดว่าเป็นการหวังผลทางการเมือง เพราะขณะนี้เศรษฐกิจชะลอตัวจากที่ไม่ได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับไทยส่งออกไปสหรัฐ เยอะมาก 9 เดือนที่ผ่านเติบโตถึง 7% เทียบกับตลาดจีนที่เศรษฐกิจฟื้นยังไม่ดีเท่ากับสหรัฐเลย ทำให้เกิดขาดดุลการค้ากับไทย นำมาสู่การใช้มาตรการ  อย่างไรก็ตาม ไทยไม่ควรรอพึ่งจีเอสพี เพราะเป็นสิทธิพิเศษที่เกิดจากการให้ฝ่ายเดียว ดังนั้น ไทยควรพิจารณาเรื่องการจัดทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีซึ่งเป็นการลดภาษีระหว่างกันอย่าถาวร หากไบเดนชนะเลือกตั้งก็มีโอกาสที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทยมากขึ้น เพราะนโยบายต่างจากทรัมป์