เบลารุสไล่ออกนศ.ร่วมประท้วงขับไล่รัฐบาล?!? ชี้การชุมนุมฝ่ายค้านเป็นก่อการร้ายมีต่างชาติหนุนหลัง

2461

ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก พันธมิตรของมอสโกกำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่นับตั้งแต่ปกครองประเทศแห่งนี้มานานกว่า 26 ปี ฝ่ายค้านและผู้สนับสนุนจัดชุมนุมใหญ่เรียกร้องให้เขาลาออก แต่เขาให้นิยามผู้ประท้วงฝ่ายค้านว่าได้ประกาศสงครามก่อการร้ายเพื่อโค่นล้มรัฐบาลภายใต้การสนับสนุนจากต่างชาติ  และมีคำสั่งให้ไล่ออกนักศึกษาที่ประท้วงรัฐบาลด้วยการไม่เข้าเรียนเมื่อวันจันทร์ที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา การเมืองลงถนนในเบลารุส เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับไทย ท่ามกลางโควิด-19 ระบาด และภายใต้การขับเคลื่อนขบวนการต่อต้านรัฐบาลก็มีมหาอำนาจสหรัฐเป็นโต้โผใหญ่แบบออกหน้า เพียงแต่ที่เบลารุส คือสหรัฐ-รัสเซีย และที่ประเทศไทยคือ สหรัฐ-จีน

ครองเก้าอี้มานาน-อยู่ข้างรัสเซียมานาน
เวตลานา ซิคานุสกายาผู้นำฝ่ายค้าน ได้หลบหนีไปยังลิทัวเนีย และประกาศหนุนการชุมนุมของผู้สนับสนุน ในเบลารุสให้จัดการชุมนุมครั้งใหญ่ในเมืองหลวงมินสก์ หลังการเลือกตั้งที่ปธน.ลูคาเชนโกได้รับชัยชนะกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย โดยอ้างว่ามีการโกงเลือกตั้ง ลูเชนโกถือว่า ผู้นำฝ่ายค้านและพวกสนับสนุนเป็นพวกก่อการร้ายเป็น “นักปฏิวัติที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ”

ผู้นำเบลารุส พูดถึงผู้ประท้วงที่เป็นนักศึกษาว่า ” ใครก็ตามที่ดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นละเมิดต่อกฎหมาย จะหมดสิทธิ์ในการเป็นนักศึกษา และให้ส่งบางคนไปเป็นทหาร ส่วนคนอื่น ๆ ก็เอาไปปล่อยบนถนน ให้อยู่กันตามถนน แต่พวกเขาจะต้องถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย” เขายังเรียกร้องให้บรรดาพ่อแม่ดูแลลูก ๆ ให้ดี จะได้ไม่เจ็บปวดในภายหลัง

ในการประท้วงเมื่อวันจันทร์(26 ต.ค.2563) นักศึกษามหาวิทยาลัยหลายร้อยคน พากันออกสู่ถนนในเมืองหลวง และพากันปรบมือและร้องตะโกน ขณะที่รถวิ่งผ่านได้บีบแตรเพื่อแสดงการสนับสนุน ในช่วงที่ลูกาเชนโกได้ท้าทายต่อการยื่นคำขาดของแกนนำฝ่ายค้านที่เรียกร้องให้เขาลงจากอำนาจก่อนเวลาเที่ยงคืนของวันจันทร์ โดยผู้นำเบลารุสท้าทายให้ฝ่ายตรงข้ามดำเนินการตามที่ขู่ เรื่องที่จะทำให้ประเทศเป็นอัมพาตด้วยการนัดหยุดงาน

ผู้นำเบลารุสบอกว่า เมื่อมีการล้ำเส้น เจ้าหน้าที่ก็ต้องตอบโต้เกี่ยวกับการเรียกร้องจากโปแลนด์และลิทัวเนียเรื่องยื่นคำขาดให้ลากออกไม่เช่นนั้นจะมีการนัดหยุดงาน เบลารุสมีประชากร 9 ล้าน 5 แสนคน ก่อนหน้านี้ฝ่ายค้านได้นัดโรงงานของรัฐให้หยุดงาน แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุน

สหรัฐ-นาโต้ประกาศหนุนฝ่ายค้าน
-8ก.ย.ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่าสหรัฐฯ “มีความกังวลอย่างยิ่ง” ต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่เบลารุสที่มีต่อ มาเรีย โคเลสนิโควาพร้อมกับกล่าวยกย่องความกล้าหาญของเธอ ในขณะที่ โคเลสนิโควา เป็นหนึ่งในแกนนำฝ่ายค้านที่มีชื่อเสียงมากที่สุดที่ยังคงอยู่ในประเทศและถูกจับ

“สหรัฐฯ ในความร่วมมือกับคู่หูและพันธมิตรของเรา กำลังพิจารณาเพิ่มเติมมาตรการคว่ำบาตรคว่ำบาตรอย่างเจาะจง เพื่อกระตุ้นความรับผิดชอบของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการกดขี่ในเบลารุส” พอมเพโอกล่าวในถ้อยแถลง  “เราเรียกร้องเจ้าหน้าที่เบลารุสให้หยุดกระทำรุนแรงกับประชาชนของตนเอง ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยไม่ยุติธรรม ในนั้นรวมถึง วิตาลิ ชาเคลียรอฟ พลเมืองสหรัฐฯ และหาทางเจรจาอย่างมีความหมายกับตัวแทนทุกภาคส่วนสังคมของเบลารุส”

สำหรับ ชาเคลียรอฟ เป็นนักวิเคราะห์การเมืองที่มีถิ่นพำนักในวอชิงตัน แต่ถูกควบคุมตัวขณะเดินทางกลับไปยังเบลารุส และถูกกล่าวหาให้ความช่วยเหลือวางแผนก่อความไม่สงบครั้งใหญ่ ซึ่งเขาปฏิเสธ

สหรัฐใช้โอเอสซีอีขอเอี่ยวผลประโยชน์ในเบลารุส
สหรัฐฯ เสนอให้ องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป ( โอเอสซีอี )เข้าไปเป็นคนกลางในการเจรจา เพื่อจัดสรรผลประโยชน์ทางอำนาจ ซึ่งแน่นอนว่าผลประโยชน์นั้นสหรัฐฯ สนับสนุนทางด้านผู้นำฝ่ายค้านของเบลารุส ที่กำลังหลบหนีอยู่นอกประเทศ

นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น มีสหรัฐฯ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการประท้วง และต้องการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ผู้นำประเทศเบลารุส หรือก่อให้เกิดความรุนแรง โดยเขาบอกกับสื่อมวลชนว่า การชุมนุมและเดินขบวนประท้วงยังคงเกิดขึ้นทั้งของฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านรัฐบาล แต่เป็นการเคลื่อนไหวโดยสงบ ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นอีก ความเรียบร้อยที่มากขึ้นคงไม่ถูกใจคนบางกลุ่ม ซึ่งหวังให้ความขัดแย้งทางการเมืองของเบลารุสบานปลายเป็นการนองเลือด แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยูเครน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศรัสเซียตอบอย่างตรงไปตรงมาว่านักการเมืองชาวเบลารุสและนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลจำนวนหนึ่งซึ่งรวมตัวกันในนาม คณะมนตรีประสานงานมีสหรัฐฯเป็นหัวเรือใหญ่ที่พยายามชี้นำว่าบุคคลกลุ่มนี้ต้องต่อรองอำนาจกับทางด้านผู้นำเบลารุส

และสิ่งที่นายเซอร์เกลาฟรอฟพูดก็กระจ่างชัดเมื่อทางด้านนายสตีเฟน บีกันรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้เดินทางไปยังลิทัวเนียและได้เข้าพบกับนางเวตลานา ซิคานุสกายาแกนนำฝ่ายค้านของเบลารุสที่หลบหนีออกนอกประเทศไปยังลิทัวเนีย  หลังจากพบกันแล้วทางด้านนายสตีเฟน บีกันบอกกับสื่อมวลชนว่าจุดยืนของสหรัฐฯต่อสถานการณ์ในเบลารุสเรียกร้องให้ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ลูคาเชนโกยอมรับบทบาทคนกลางขององค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป(โอเอสซีอี)เพื่อทำการเจรจาจัดสรรอำนาจในประเทศเบลารุสให้เกิดความเหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่

สหภาพยุโรปเสียงไม่เป็นเอกฉันท์ค้านลูคาเชนโก
-วันที่ 9 สิงหาคม หลังจากผลการเลือกตั้งได้รับการประกาศด้วยชัยชนะเป็นของประธานาธิบดี ลูคาเชนโก นักการทูตหลายคนของอียูและสหรัฐได้ประกาศว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีเบลารุสไม่มีความยุติธรรมและไม่มีความเป็นอิสระ โดยนาง เออร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไล (Ursula von der Leyen) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปหรืออีซีได้ขู่จะใช้มาตรการคว่ำบาตรที่จำเป็นต่อเจ้าหน้าที่ของเบลารุสเนื่องจากได้ 

“ละเมิดคุณค่าของประชาธิปไตยและฉกฉวยใช้ประเด็นสิทธิมนุษยชน” และ ประธานสภายุโรป ชาร์ลส์ มิเชล (Charles Michel)  ได้ประกาศว่า อียูไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเบลารุสและ “อียูจะใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง สลายการชุมนุมและทุจริตในการเลือกตั้ง”

-วันที่ 19 สิงหาคม บรรดาผู้นำอียูก็ได้จัดการประชุมฉุกเฉินผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตในเบลารุส แต่ประเทศสมาชิกอียูกำลังมีทัศนะที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการใช้มาตรการคว่ำบาตร จนถึงขณะนี้ อียูยังไม่สามารถมีความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตรเบลารุส ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแตกแยกอย่างเด่นชัดภายในกลุ่มอียูต่อปัญหาที่ร้อนระอุที่สุดของยุโรปในปัจจุบัน  ความแตกแยกในทัศนะระหว่างประเทศสมาชิกอียู มีแค่ 3 ประเทศสมาชิกอียูคือเอสโตเนีย ลัตเวียและลิทัวเนียที่มีคำสั่งห้ามนาย ลูคาเชนโก และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเบลารุส 29 คน เข้าประเทศ ในขณะที่ 24 ประเทศสมาชิกที่เหลือของอียูยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ เยอรมนีและฝรั่งเศสมีความประสงค์เน้นผลักดันมาตรการทางการทูตในการแก้ไขวิกฤต 

-วันที่ 20 สิงหาคม นาย เอ็มมานูเอล มากรง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้เสนอให้อียูเป็นคนกลางในการแก้ไขวิกฤตในเบลารุสในปัจจุบัน และแสดงความเห็นว่า การสนทนาเป็นสิ่งที่จำเป็นเป็นอย่างยิ่ง

-วันที่ 28 สิงหาคม นายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล ได้ย้ำถึงความสำคัญของการธำรงการสนทนากับรัสเซียเกี่ยวกับสถานการณ์ในเบลารุส และยืนยันว่า ทางการมอสโคว์มีบทบาทสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ระดับโลก

“ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดีเมียร์ ปูติน ได้ยืนยันว่า การแทรกแซงจากภายนอกต่อกิจการภายในของเบลารุสจะทำให้สถานการณ์ทวีความตึงเครียดและเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้”