ภูมิภาคตะวันออกกลางเดือดระอุ- เมื่อสหรัฐและอิสราเอลเคลื่อนไหวเกี่ยวกับอิหร่านอย่างเอาการเอางานตลอดสัปดาห์ ทั้งเปิดเผยและลับๆ หากวิเคราะห์ความเป็นไปได้อันตรายของสงครามเชิงพื้นที่ จับตาการสังหารผู้นำสำคัญของอิหร่าน ตั้งแต่นายพลสุไลมานีแห่งกองทัพพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม ผู้ปราบไอเอส สหรัฐประกาศเป็นผู้ลงมือ มาถึงฟาครีซาเดห์ บิดานักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ อิหร่านเชื่อว่าอิสราเอลอยู่เบื้องหลัง เป็นการยกระดับความตึงเครียดของคู่ขัดแย้งขึ้นสู่ระดับสูง ความขัดแย้งแย่งชิงผลประโยชน์ และความขัดแย้งทางความเชื่อ เป็นชนวนสำคัญของสงครามเสมอ จะระเบิดหรือไม่ดูว่า ฝั่งพันธมิตรของคู่ขัดแย้งทั้งสหรัฐและอิหร่านแสดงท่าทีอย่างไร เพื่อคนไทยเตรียมรับผลกระทบ ทั้งเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคง
พิรุธพันธมิตรสหรัฐ-อิสราเอลเคลื่อนไหวถี่
26 พ.ย.2563 สนข.อาซิออส (Axios) ของสหรัฐรายงานโดยอ้างเจ้าหน้าที่อิสราเอลว่า รัฐบาลฯได้สั่งให้กองทัพเตรียมพร้อมสำหรับความเป็นไปได้ที่สหรัฐอาจจะโจมตีอิหร่านในช่วงท้ายวาระการดำรงตำแหน่งของปธน.โดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ
คำสั่งเตรียมการดังกล่าวมีขึ้นหลังจากบรรดาเจ้าหน้าที่คาดว่า ช่วงก่อนที่นายโจ ไบเดนจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 ม.ค.นั้น เป็นช่วงเวลาที่อ่อนไหวมาก และไม่ได้มีสาเหตุมาจากข่าวกรองหรือการประเมินใดๆ ว่า สหรัฐจะสั่งโจมตีอิหร่าน
สังหารฝ่ายตรงข้าม-จุดชนวนสงครามร้อน
สื่อของอิหร่านรายงานว่า นายโมห์เซน ฟาครีซาเดห์ นักวิทย์ด้านนิวเคลียร์คนสำคัญในโครงการด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านได้ถูกลอบยิงขณะนั่งอยู่ในรถยนต์ใกล้กรุงเตหะรานในวันศุกร์ (27 พ.ย.2563) โดยเขาเสียชีวิตหลังถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล อิหร่านพุ่งเป้าว่าเป็นการโจมตีของอิสราเอล ขณะที่เปรียบการสังหารดังกล่าวว่าเป็นการอวยพรสำหรับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐที่กำลังจะอำลาตำแหน่ง โดยนายจาวาด ซารีฟ รมว.ต่างประเทศของอิหร่านได้โพสต์ในทวิตเตอร์ว่า “เป็นการกระทำที่ร้ายแรงจากบทบาทของอิสราเอล”
แอปเทเลแกรม (Telegram) ซึ่งให้บริการส่งข้อความในอิหร่านซึ่งเชื่อกันว่าใกล้ชิดกับกองกำลังพิทักษ์การปฎิวัติของอิหร่านนั้นรายงานว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติสูงสุดของอิหร่านได้จัดการประชุมฉุกเฉินขึ้นโดยมีผู้บัญชาการทหารระดับสูงเข้าร่วม
ปัญหาชาติอาหรับ-อิสราเอล มีสหรัฐเป็นกองหน้า
การแอบติดต่อสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างอิสราเอลกับซาอุดิอารเบีย และยูเออี เป็นเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่ในหมู่ชาติอาหรับมาโดยตลอด กองทัพอิสราเอลและยูเออี ต่างพร้อมใจเข้าไปหนุนกบฏแยกดินแดนภาคใต้ของเยเมน เพื่อใช้เป็นพื้นที่อิทธิพลในการควบคุมเส้นทาง “ทะเลแดง” และล่าสุดยูเออีจับมือกับทรัมป์และซาอุฯลงนามข้อตกลงสันติภาพออกนอกหน้า ทำความร้าวฉานในชาติอาหรับปริแยกมากยิ่งขึ้น
“ปัญหาปาเลสไตน์”เป็นปัญหาที่บรรดา “ชาติอาหรับทั้งมวล” เคยแสดงออกถึงจุดยืนไปในแนวเดียวกัน คือมุ่งที่จะให้เกิดการรับรอง “รัฐปาเลสไตน์” ให้เคียงคู่ไปกับ “รัฐอิสราเอล”แบบไม่มีใครต้องตกไปเป็นส่วนหนึ่งของใคร ไม่ได้เป็นแค่ “รัฐในอารักขา” ที่ถูกควบคุมแทบทุกสิ่งทุกอย่าง อันเนื่องมาจาก
“แผนการผนวกดินแดนเวสต์แบงก์” หรือที่อิสราเอลเรียกว่า “ยูเดียและสะมาเรีย” มาตั้งแต่พระเยซูคริสต์ยังไม่ประสูติ ให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในอำนาจอธิปไตยของอิสราเอล โดยมีรัฐบาลอเมริกันของ “ทรัมป์” และลูกเขยชาวยิว“นายจาเร็ด คุชเนอร์” เตรียมให้การรับรองทั้งที่ฝืนต่อมติสหประชาชาติ หรือกฎหมายระหว่างประเทศ อเมริกาสามารถยกแผ่นดินของคนอื่นให้คนโปรดได้โดยไม่แคร์โลก นี่คือธาติแท้อันธพาลโลก
เคลื่อนไหวปิดลับแต่รู้กันทั่ว
ก่อนเหตุการณ์ลอบสังหาร บิดานักวิทยาศาสตร์อิหร่าน การเคลื่อนไหวของสหรัฐในช่วงสองสามวันนี้ เป็นสัญญาณเตือนว่ามีบางสิ่งกำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคแห่งนี้
- การถอนทหารสหรัฐฯออกจากอิรักและอัฟกานิสถานอย่างเร่งรีบ ข้อนี้สืบเนื่องจากทรัมป์ได้สัญญาในการหาเสียงชิงปธน.ปี 2016 ว่าทหารสหรัฐต้องได้กลับบ้าน กลางเดือนพ.ย.2563 ทรัมป์ปลดรมว.กลาโหมที่อิดเอื้อนไม่ดำเนินการ จนปัจจุบันเปลี่ยนหัวใหม่ หางเลยส่าย
- การมาถึงของเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 ของอเมริกาหลายลำพร้อมกับเครื่องบินขับไล่เครื่องบินสอดแนมและสงครามอิเล็กทรอนิกส์ในตะวันออกกลางแต่ไม่เปิดเผยพิกัด
- ไมค์ ปอมเปโอ (Mike Pompeo )รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐพบกับบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของภูมิภาคตะวันออกกลางในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา (ยูเออี-ซาอุดิอารเบีย-การ์ตา)
- ปอมเปโอพบกับเนทันยาฮูและบินซัลมานในซาอุดิอาระเบียเป็นครั้งแรก(ถกประเด็นอิหร่าน)
- การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศสอังกฤษและเยอรมนีในวันอังคารเกี่ยวกับอิหร่าน
- กระทรวงการต่างประเทศเยอรมันเตือนชาวอิหร่านที่อาศัยอยู่ในเยอรมนี อย่าไปเยือนอิหร่านในช่วงนี้
- The Independent กล่าวว่า อังกฤษได้แอบนำกองกำลังไปคุ้มกันปกป้องบ่อน้ำมันใน ซาอุดิอารเบียอย่างลับๆ การส่งกองทหารอังกฤษในซาอุดิอาระเบียเกิดขึ้นโดยที่รัฐสภาซาอุดีอาระเบียไม่รู้เรื่อง(อย่างเป็นทางการ) กระทรวงกลาโหมอังกฤษกล่าวว่ากองกำลังที่ประจำการในซาอุฯ เป็นหน่วยสำหรับการเฝ้าระวังโดรน ขั้นสูง
ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศสหรัฐ-อิสราเอลและอิหร่าน ก็ย่อมจะเกิดกระแสระแวงว่าอาจเกิดสงครามได้ ซึ่งในข้อเท็จจริง ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะประการที่ 1.ต้นทุนของสงครามมีราคา มีความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจำนวนมาก ผู้เริ่มต้องทำแล้วได้ประโยชน์สูงสุด แต่ความขัดแย้งจะยังคงมีอยู่อย่างแน่นอน หากจะเกิดย่อมไม่ใช่อิหร่านเป็นฝ่ายเริ่ม 2.ถ้าจะโจมตีรับรองไม่มีข่าวหลุด รู้อีกทีก็เห็นผลความเสียหายจากการโจมตีแล้ว กล่าวคือ มีข่าวไม่ทำ ทำเมื่อไม่เป็นข่าว จับตาดูอิสราเอลและการเคลื่อนยุทโธปกรณ์ในทุกฟื้นที่ของสหรัฐและพันธมิตร และการขยับของพันธมิตรอิหร่าน รัสเซียและจีนจึงอาจคาดการณ์ได้ใกล้เคียงความจริง