ทูตพาณิชย์เตือนสิ้นปีหมดอายุ GPS สหรัฐ?!? กระทบสินค้าอาหาร-เครื่องปรุง 3.05 หมื่นล้านดอลลาร์ วอนรัฐผู้ส่งออกรับมือ

1995

ทูตพาณิชย์ไทย สำนักงานไมอามี, สหรัฐอเมริกา เตือน 31ธ.ค.นี้ หมดเขตจีเอสพี ขณะที่บริษัทและสมาคมการค้า 222 แห่งของสหรัฐฯ ได้ร่วมกันส่งหนังสือร้องเรียนสภาคองเกรสขอให้ต่ออายุจีเอสพีประเทศคู่ค้ารวมของไทยด้วยอยู่ระหว่างพิจารณา รัฐบาลและภาคเอกชนส่งออกควรตั้งการ์ดรับแรงกระแทกให้ดี ถ้าสหรัฐใช้เป็นเครื่องมือกดดันไทย

หากเกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบกับไทยแน่นอน ถ้าเปรียบเทียบบทเรียนถูกตัดจีเอสพีต้นปีที่ผ่านมา คาดไม่กระทบมากถึงแม้ว่าตลาดสหรัฐจะเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย และที่ผ่านมาเราได้ตลาดจีนและอาเซียนมาทดแทนไม่น้อย คงต้องจับตาดูฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการรับมืออย่างไร ให้เสียหายน้อยที่สุด

ผู้บริโภคสหรัฐนิยมเครื่องปรุง-ซอสของไทย

นางสาวนิธิมา ศิริโภคากิจ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี  ประเทศสหรัฐอเมริกา  เปิดเผยว่าจากกระแสความนิยมบริโภคสินค้าเพื่อสุขภาพในตลาดสหรัฐฯ ทำให้ ผู้ประกอบการสินค้าเครื่องปรุงรสในตลาดหันไปพัฒนาสินค้าทั้งด้านรสชาติและอรรถประโยชน์ต่อสุขภาพเพื่อ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและเพิ่มยอดการจำหน่ายสินค้า โดยผู้ประกอบการแต่ละรายต่างมีกลยุทธ์ การทำตลาดที่แตกต่างกัน เช่น การเพิ่มผักและผลไม้ที่มีประโยชน์ในน้ำจิ้มหรือซอส การเพิ่มสารอาหารที่มี สรรพคุณต่อสุขภาพ และการปรับสูตรการผลิตสินค้าให้ตรงตามแนวโน้มด้านสุขภาพที่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่ม ผู้บริโภคในปัจจุบัน เป็นต้น  

 จากข้อมูลการสำรวจด้านอาหารและสุขภาพของคณะกรรมการมูลนิธิด้านข้อมูลอาหาร ระหว่างประเทศ (The International Food Information Council Foundation หรือ IFIC) พบว่า ผู้บริโภค ชาวอเมริกันบางส่วนยังมีเป้าหมายที่จะบริโภคผักและผลไม้เพิ่มเป็นอาหารมากขึ้นด้วย อีกทั้งเมื่อสอบถามถึง แนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า แนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภค ชาวอเมริกันที่เปลี่ยนไป ได้แก่ แนวโน้มการลดปริมาณบริโภคน้ำตาล แนวโน้มการลดปริมาณการบริโภคแป้ง และ คาร์โบไฮเดรต และแนวโน้มการบริโภคผักและผลไม้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการในตลาดเองก็ได้พยายามที่จะ ตอบสนองแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคดังกล่าว

นางสาวนิธิมา กล่าวอีกว่า จำนวนประชากรในสหรัฐฯ ในปัจจุบันที่มีจำนวนมากกว่า 300 ล้านคนใน ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอาหารภายในประเทศนั้นกลับมีจำนวนไม่มากนัก จึงทำให้ไม่สามารถผลิตอาหาร ได้เพียงพอคนสำหรับประชากรในประเทศ ทำให้สหรัฐฯ จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอาหารหลายรายการ รวมถึงไทยด้วยที่ สหรัฐฯ ถือเป็นประเทศคู่ค้ารายสำคัญในกลุ่มสินค้าอาหารของไทย โดยในแต่ละปีไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่ม อาหารและเครื่องดื่มไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่าเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์ โดยพบว่า กลุ่มสินค้าเครื่องปรุงรสของสหรัฐฯ มีขนาดตลาด ทั้งสิ้น 2.64 หมื่นล้านดอลลาร์นปี 2562 แบ่งเป็นกลุ่มสินค้าเครื่องปรุงสำหรับประกอบอาหาร  36.76%  ซอสสำหรับวางบนโต๊ะอาหาร 33.65%  น้ำจิ้ม 15.91%  อาหารหมัก  9.91%  ซอสมะเขือเทศและซอสอื่น ๆ 2.34%  โดยคาดว่า ตลาดสินค้าดังกล่าวจะมีแนวโน้มขยายตัวเป็นมูลค่าตลาดทั้งสิ้น 3.05 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563

นอกจากนี้การแพร่ระบาดของ เชื้อโควิด – 19 ทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันบางส่วนหันไปปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้านมากขึ้นทำให้ตลาดกลุ่มสินค้าดังกล่าวขยายตัวขึ้น  ในส่วนของการนำเข้าจากไทยพบว่า ในช่วงระหว่างเดือนม.ค. – ก.ค. 2563  มีมูลค่าการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น 5.04% มูลค่า 53.74 ล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าน้ำจิ้มขยายตัว 10% และซอสปรุงรส 20% 

บริษัทคู่ค้าในสหรัฐร้องสภาคองเกรสต่ออายุ

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2563 บริษัทและสมาคมการค้า 222 แห่งของสหรัฐฯ ได้ร่วมกันส่งหนังสือร้องเรียนถึงประธานและรองประธานคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้านการจัดหารายได้แผ่นดิน (Ways and Means) และคณะกรรมาธิการวุฒิสภาด้านการเงินและการคลัง (Finance) ขอให้เร่งผ่านกฎหมายเพื่อต่ออายุสิทธิพิเศษทางศุลกากรหรือ GSP (Generalized System Preference) โดยเร็ว เนื่องจากสิทธิ GSP ที่ได้รับการอนุมัติภายใต้งบประมาณประจำปี 2561 (Omnibus Spending Bill) ไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 นั้น กำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2563

สมาคมการค้าสำคัญในสหรัฐฯ ที่ได้ร่วมมีหนังสือถึงสภาคองเกรสครั้งนี้ เช่น หอการค้าสหรัฐฯ สมาคมเสื้อผ้าและรองเท้าอเมริกัน (American Apparel and Footwear Association:AAFA) สมาคมอุตสาหกรรมเอาท์ดอร์ (Outdoor Industry Association: OIA) สมาคมเพื่อ GSP (Coalition for GSP) สมาคมอุตสาหกรรมประมง (National Fisheries Institute: NFI) และสมาพันธ์ผู้ค้าปลีก (National Retail Federation: NRF)

กลุ่มเอกชนผู้เรียกร้องกล่าวว่า หลายบริษัทกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และทั่วโลกตกต่ำลง พร้อมทั้งยังกล่าวถึงการตัดสิทธิ GSP บางส่วนของไทยเมื่อเดือนเมษายน 2563 ว่า จะเป็นการเพิ่มภาระภาษีนำเข้าให้กับเอกชนสหรัฐฯ หลายล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน โดยหากมีการคืนสิทธิ GSP ที่สูญเสียไป (รวมถึงสิทธิ GSP ที่ให้กับอินเดีย ตุรกี ตลอดจนสิทธิ GSP รายสินค้าหลายรายการ ที่ USTR ปฏิเสธคำขอในการให้สิทธิในการทบทวนรอบปัจจุบัน) จะสร้างประโยชน์อย่างมากให้กับบริษัทและคนงานสหรัฐฯ

นาย Robert Lighthizer ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้เข้าให้ข้อมูลและตอบข้อซักถาม (hearing) ต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภาด้านการเงินและการคลัง เรื่อง The President’s 2020 Trade Policy Agenda โดยในช่วงหนึ่ง ได้ตอบคำถามว่า รัฐบาลยังไม่มีท่าทีอย่างเป็นทางการในเรื่อง   การต่ออายุสิทธิ GSP โดยนาย Lighthizer มองว่า GSP เป็นประโยชน์ แต่ยังต้องมีการปรับเปลี่ยน และขอกลับไปดูรายละเอียดของกฎหมายอีกครั้ง พร้อมทั้งยังกล่าวถึงประเด็นที่สหรัฐฯ เสียเปรียบด้านการค้า เนื่องจากสหรัฐฯ ให้สิทธิ GSP แบบให้เปล่ากับประเทศคู่ค้า แต่ประเทศเหล่านี้กลับทำความตกลงที่ให้สิทธิประโยชน์ที่ดีกว่า (ที่ให้กับสหรัฐฯ) กับประเทศอื่น ๆ อาทิ ประเทศในแถบยุโรป