ท่ามกลางความยากลำบากของการแพร่ระบาดโควิด และเศรษฐกิจหดตัวทั่วโลก ไทยได้ผลักดันการส่งออกสินค้าด้วยเครื่องมือดิจิทัล ใช้ระบบ ‘TraceThai’ผ่านบล็อกเชน ดันสินค้าเกษตรรุ่ง ชูเป็นประเทศแรกๆของโลกที่ใช้วิธีนี้ ทำข้าวอินทรีย์ราคาพุ่ง 3.5 เท่า ขณะที่แนวโน้มการส่งออกในไตรมาส 4 มีแนวโน้มบวก พาณิชย์คาด ถ้ารักษาระดับส่งออกเดือนละ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเท่าปัจจุบัน ภาพรวมยิ่งดีมาก ดาวรุ่งยังคงเป็นอาหารและเกษตร
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการผลักดันสินค้าข้าวอินทรีย์ให้เป็นที่ยอมรับ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยใช้ระบบบล็อกเชนในการตรวจสอบย้อนกลับ ขณะนี้มีกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการนำร่องจำนวน 7 ราย ได้แก่ เนเจอร์ฟู้ด จ.สุรินทร์ บ้านสวนข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี กรีนลิฟวิ่ง จ.นครปฐม ซองเดอร์ จ.สุพรรณบุรี กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรยั่งยืนบ้านน้ำอ้อม จ.ยโสธร ไร่ทองออร์แกนิกส์ฟาร์ม จ.ศรีษะเกษ และกลุ่มวิสาหกิจศูนย์ข้าวชุมชนบ้านมะยาง จ.ศรีษะเกษ ที่ได้ทดลองใช้ระบบบล็อกเชนแล้ว และยังมีกลุ่มที่สนใจเพิ่มเติมอีก เช่น วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ทุ่งทองยั่งยืน จ.สุพรรณบุรี วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ข้าวคิดคิด จ.สุรินทร์ และวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านหนองไผ่ บ้านลาวาเซาะตลุง จ.บุรีรัมย์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในกลุ่มนำร่อง มีกลุ่มที่ทดลองติดสติ๊กเกอร์ TraceThai กับสินค้าล็อตจริงแล้ว 3 ราย ได้แก่ บ้านสวนข้าวขวัญ ปลูก สี แพ็กข้าวอินทรีย์หลายพันธุ์ เช่น ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวทับทิมชุมแพ ข้าวกล้องหอมปทุมเทพ กรีนลิฟวิ่ง ปลูก สี แพ็กข้าวอินทรีย์หลายพันธุ์ เช่น ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวไรซ์เบอรี่ และซองเดอร์ ผลิตสินค้าแปรรูปจากข้าวอินทรีย์ เช่น โจ๊กข้าวและผักอินทรีย์สำหรับเด็ก
“ผลจากการทดลองใช้ระบบ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน ทั้งตัวเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกข้าวอินทรีย์ และผู้ตรวจรับรองมาตรฐานอินทรีย์ ที่เห็นตรงกันว่า TraceThai ทำให้ไทยเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงรายแรกๆ ของโลก ที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับ และช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับข้าวอินทรีย์ของไทยเหนือคู่แข่ง ส่วนผู้ซื้อ ผู้บริโภค ก็มีความมั่นใจ และรู้ว่าสินค้าที่ตัวเองซื้อมีที่มาที่ไปอย่างไร ใครปลูก ใครผลิต ใครรับรอง”น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สนค. จะเดินหน้าขยายผลให้มีกลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการข้าวอินทรีย์เข้าร่วมระบบ TraceThai เพิ่มมากขึ้น และจะขยายผลไปยังสินค้าเกษตรและสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น สินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สินค้าอินทรีย์ สินค้าเกษตรปลอดภัย สินค้าประมง อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น รวมทั้งจะร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรในการต่อยอดระบบ เช่น การเชื่อมโยงเอกสารทางการค้าระหว่างประเทศ การดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วม เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และวิสาหกิจชุมชนต่างๆ
ส่วนแผนการสร้างการรับรู้ เพื่อให้มีการใช้งานระบบ TraceThai เพิ่มมากขึ้น สนค.จะผลักดันให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ต้องเข้าร่วมใช้ระบบ TraceThai เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และจะช่วยทำตลาดให้กับสินค้าที่ได้เข้ามาใช้ระบบ TraceThai ทั้งการประชาสัมพันธ์แบรนด์ TraceThai การนำสินค้าเข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ และเปิดโอกาสให้เจรจาจับคู่ธุรกิจ เช่น งานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX และงานเกษตรอินทรีย์นานาชาติ BioFach เป็นต้น
ในปี 2562 ไทยส่งออกข้าวอินทรีย์ประมาณ 1.7 หมื่นตัน มูลค่า 780 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.22% ของปริมาณการส่งออก หรือสัดส่วน 0.6% ของมูลค่าการส่งออกข้าวของไทย (ไทยส่งออกข้าว ปี 2562 ปริมาณ 7.58 ล้านตัน มูลค่า 1.3 แสนล้านบาท) โดยข้าวอินทรีย์ราคาประมาณ 47 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ข้าวทั่วไปราคา 13 บาทต่อกิโลกรัม และข้าวหอมมะลิ มีราคา 34 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเห็นได้ว่าข้าวอินทรีย์สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงกว่าข้าวทั่วไปประมาณ 3.5 เท่า และสูงกว่าข้าวหอมมะลิประมาณ 40%
สำหรับระบบ TraceThai เป็นระบบตรวจสอบย้อนกลับมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยบนบล็อกเชน นำร่องด้วยข้าวอินทรีย์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงและมีศักยภาพในการส่งออก ด้วยการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาสนับสนุนกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก การผลิต การแปรรูป จนถึงการจำหน่ายข้าวอินทรีย์ รวมถึงทราบข้อมูลของผู้ประกอบการ ข้อมูลการผลิตสินค้า รวมทั้งข้อมูลมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ว่าสินค้านั้นผ่านมาตรฐานใด ได้รับการตรวจรับรองจากหน่วยงานรับรองมาตรฐาน ด้วยการสแกน QR Code หรือตรวจสอบจากเลขล็อตการผลิตบนฉลากสินค้ากับเว็บไซต์ TraceThai.com
แนวโน้มไตรมาส4- ส่งออกอาหารยังรุ่ง
การส่งออกของไทยในเดือนส.ค.2563 มีมูลค่า 20,212.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.94% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ ทั้งในแง่มูลค่าที่กลับมาส่งออกเกิน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในรอบ 5 เดือนนับจากเดือนเม.ย.2563 และการขยายตัวติดลบน้อยลง จากที่เคยลบสูงสุดถึง 23.17% ในเดือนมิ.ย.2563. ถือว่าพ้นจุดต่ำสุดแล้ว และกำลังจะเป็นขาขึ้นลักษณะเครื่องหมายถูก ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 15,863.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 19.68% ทำให้เกิดดุลการค้ามูลค่า 4,349.4 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับการส่งออกรวม 8 เดือนของปี 2563 มีมูลค่า 153,374.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.75% นำเข้ามูลค่า 134,981.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 15.31% เกินดุลกาค้ามูลค่า 18,393.6 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกฟื้นตัวดีขึ้น แม้ว่าจะยังขยายตัวติดลบอยู่ มาจากการฟื้นตัวของภาคการขนส่งและโลจิสิตกส์ที่มีความคล่องตัวมากขึ้น การค้าโลกเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ หลายประเทศมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น แต่ก็เริ่มน่าเป็นห่วง เพราะมีบางประเทศเริ่มที่จะล็อกดาวน์อีก และสินค้าส่งออกสำคัญในกลุ่มเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ทูน่ากระป๋อง เนื้อสุกร สิ่งปรุงรสอาหาร อาหารสัตว์เลี้ยง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน ของใช้ในบ้าน และซ่อมแซมบ้าน เช่น คอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า และโซลาร์เซลล์ และสินค้าป้องกันการติดเชื้อ เช่น ถุงมือยาง ส่งออกได้ดีขึ้นตั้งแต่โควิด-19 ระบาด และยังดีจนถึงปัจจุบัน
ส่วนรายละเอียดการส่งออก พบว่า สินค้าอุตสาหกรรมยังคงหดตัว 6.2% โดยอัญมณีและเครื่องประดับ ลด 55.6% สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ลด 15.7% รถยนต์และส่วนประกอบ ลด 28.7% เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ ลด 18.3% แต่ถุงมือยาง เพิ่ม 125.9% เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เพิ่ม 31.3% เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 35.8% และทองคำ เพิ่ม 71.5%
ขณะที่สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ลด 13.2% โดยน้ำตาลทราย ลด 64.2% ผักผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ลด 28.7% ข้าว ลด 15% แต่น้ำมันปาล์ม เพิ่ม 599.6% สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง เพิ่ม 962.1% อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่ม 22.3% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่ม 15.6%
ทางด้านตลาดส่งออก พบว่า หลายๆ ตลาดการส่งออกติดลบน้อยลง บางตลาดเริ่มเป็นเทรนด์ขาขึ้น บางตลาดเริ่มเป็นแนวราบ โดยมีรายละเอียดดังนี้ ตลาดหลักลดลง 4.1% โดยสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น 15.2% แต่ญี่ปุ่น ลด 16.6% สหภาพยุโรป 15 ประเทศ ลด 16.9% ตลาดศักยภาพสูง ลด 10.2% เช่น อาเซียน 5 ประเทศ ลด 16.5% CLMV ลด 9.3% อินเดีย ลด 18.8% จีน ลด 4% ตลาดศักยภาพระดับรอง ลด 24.3% เช่น ทวีปออสเตรเลีย ลด 22.5% ตะวันออกกลาง ลด 30.3% ลาตินอเมริกา ลด 34.7% รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ลด 43.4% ทวีปแอฟริกา ลด 9.6%
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกคาดว่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง แม้จะยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีข่าวความสำเร็จของการผลิตวัคซีน-19 ในหลายประเทศ ทำให้บรรยากาศการค้ากลับมาคึกคัก แต่ก็ต้องระวังเรื่องการระบาดซ้ำ และบางประเทศเริ่มกลับมาล็อกดาวน์ รวมถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ยังไม่ฟื้นตัว ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ กับจีน ที่จะเป็นตัวกดดันการค้าโลก “ถ้าไทยยังคงรักษาระดับการส่งออกแต่ละเดือนได้ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป ทั้งปีการส่งออก จะไม่ติดลบในระดับ 2 หลักอย่างที่หลายๆ ฝ่ายได้ประเมินเอาไว้ น่าจะติดลบ 5% ถึงลบ 8% โดยการส่งออกลบ 5% ต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 20,145 ล้านเหรียญสหรัฐ และลบ 8% ต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 18,298 ล้านเหรียญสหรัฐ”น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว