คลังควงสภาพัฒนฯลุยแผนฟื้นฟูศก.!?! กางข้อมูลพุ่งเป้าคนจน ชูจุดแข็งคุมโควิด-มาตรการภาษีดึงนักลงทุนตปท.

1483

สภาพัฒนฯเดินหน้าใช้ข้อมูลแบบชี้เป้า (ทีพีแมพ:TPMAP)เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินการแก้ปัญหาความยากจน  และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ขณะที่กระทรวงการคลังดูแลกระแสเงินสด และภาพรวมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ระยะยาวใช้จุดแข็งคุมโควิดและมาตรการภาษีดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเรียกว่ารัฐบาลสั่งลุยเต็มที่ แต่อุปสรรคที่เห็นชัดวันนี้คือ “ม็อบการเมือง” ที่เป้าหมายชัดเจนแล้วว่าเปลี่ยนยุทธวิธีพุ่งเป้าทำลายเศรษฐกิจโดยเฉพาะ ขณะที่ทั้งภาคเอกชน นักการเมืองพากันโทษพรก.ฉุกเฉินกันอื้ออึง ลืมหรือแกล้งไม่รู้กันแน่ว่า สิ่งที่ทำลายเศรษฐกิจตอนนี้คือ “ม๊อบ”ภายใต้การหนุนต่างชาติ ไม่ใช่กฎหมาย?

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ได้นำระบบบริหารจัดการข้อมูลจากระบบการพัฒนาคนแบบชี้เป้า หรือทีพีแม็พ ของ สศช. ซึ่งเป็นระบบเก็บข้อมูลเรื่องความยากจนของคนไทยทั้งหมด ส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้นำข้อมูลนี้ไปใช้แก้ปัญหาความยากจน หรือความขัดสนของประชาชนในพื้นที่ ให้ตรงตามความต้องการที่แท้จริง

เพื่อช่วยแก้ปัญหาความยากจนของคนไทย ที่ทำมานานให้ดีขึ้นได้ และหากนำระบบไปใช้ได้ดี จะช่วยลดงบฯรัฐเข้าไปช่วยกลุ่มคนยากจนทุกปี “สศช.ได้รวบรวมข้อมูลการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา ผ่านการรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆมาไว้ในคลังข้อมูลของระบบนี้ 

ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ลงไปเก็บข้อมูลถึงบ้านทำให้รู้ว่าชาวบ้านคนไหนขัดสนเรื่องอะไร รายได้ต่อครัวเรือนเท่าใด มีการศึกษาระดับใด”

ข้อมูลจากหน่วยงานอื่น เช่น ฐานข้อมูลด้านสุขภาพ จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ระบุถึงการใช้สิทธิด้านสุขภาพที่ใดบ้าง รวมถึงข้อมูลจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่มีข้อมูลผู้พิการและผู้สูงอายุ การใช้สิทธิรับเบี้ยยังชีพด้านต่างๆ ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าและข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งรวบรวมผู้มีรายได้น้อยไว้มากถึง 14 ล้านคน

**TPMAP คือ ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) ซึ่งได้รับการพัฒนาต่อยอดจากระบบบริหารจัดการข้อมูลคนจนแบบชี้เป้า (Thai Poverty Map and Analytics Platform) ให้สามารถครอบคลุมปัญหาที่กว้างขึ้น เช่น เด็กแรกเกิด การศึกษา ผู้สูงอายุ การพัฒนาสภาพที่อยู่อาศัย โดยยังคงความสามารถของระบบเดิมในการชี้เป้าความยากจนไว้ด้วย TPMAP จึงสามารถใช้ระบุปัญหาความยากจนในระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน ท้องถิ่น/ท้องที่ จังหวัด ประเทศ หรือปัญหาความยากจนรายประเด็น ซึ่งทำให้การแก้ปัญหาตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นและสามารถออกแบบนโยบาย โครงการในการแก้ปัญหาให้ตรงกับความต้องการหรือสภาพปัญหาได้

TPMAP เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

คลังใช้มาตรการภาษีเพิ่มเติมดึงดูดFDI

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ตั้งคณะกรรมการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุน เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ เพื่อให้เบิกจ่ายได้ตามเป้าหมาย พร้อมกันนี้ ต้องให้ความสำคัญในการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี ผ่านมาตรการทางภาษีและระบบการเงิน เพื่อดึงดูดบริษัทรายใหญ่ในต่างประเทศเข้ามาลงทุน ซึ่งจะต้องมีการหารือร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และกระทรวงต่างประเทศ

รวมทั้งจะใช้จุดแข็งเรื่องการป้องกันโควิด-19 ดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ เช่น ใช้มาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย 2-3 เดือน เพื่อเปิดรับการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ 

นอกจากนี้ จะเข้าไปช่วยสนับสนุนการจ้างงาน แม้กระทรวงแรงงานจะมีมาตรการออกมาดูแลการจ้างงานแล้ว แต่ในภาพรวมยังมีผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ จากการขอพักชำระหนี้ ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 22 ต.ค.นี้ ฉะนั้น กระทรวงการคลังจะเตรียมมาตรการออกมารองรับไม่ให้เกิดการว่างงาน เช่น การเพิ่มทักษะ เป็นต้น

นายอาคม กล่าวว่า กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานที่ดูแลรายรับ รายจ่าย และงบการเงินของประเทศ จึงต้องมีมาตรฐานการเงินการคลังตามมาตรฐานสากล จะต้องตรวจสอบได้และมีความโปร่งใส จะต้องรอบคอบภายใต้กรอบวินัยการคลังของประเทศ และกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

จะต้องประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการคลัง ด้านการเงิน ด้านตลาดทุน ที่ดูแลด้านปฏิบัติ ด้านกำกับดูแล ด้านนโยบายในภาพรวม ส่วนในระดับมหภาคหรือในภาพรวมต้องหารืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเศรษฐกิจมหภาค ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย

“กระทรวงการคลังต้องสร้างเข้มแข็งฐานะการคลังอย่างยั่งยืน ดูแลกระแสเงินสดของภาครัฐ ให้เพียงพอต่อการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการจัดเก็บรายได้ ให้ได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งการหารายได้เพิ่มจากรายได้ที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tax revenue) จากทรัพย์สินของรัฐ รายได้จากรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเงินนอกงบประมาณต่างๆ ที่ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ ซึ่งขณะนี้ฐานะการคลังก็ยังมีความมั่งคง”