จากที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ค่าก๊าซแอลพีจีและก๊าซหุงต้ม ตรึงไว้ที่่ 423 บาทต่อ 15 กิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือนนั้น
ล่าสุดวันนี้ (03 ม.ค.67) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่ารมว.พีระพันธุ์อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า จัดสรรก๊าซหุงต้มระหว่างครัวเรือนกับปิโตรเคมีเป็นธรรมแล้ว
รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานตอบกระทู้พรรคก้าวไกลว่าคำถามล้าสมัยหมดแล้ว และคุยว่าท่านได้แก้ไขให้ครัวเรือนได้ใช้ราคาก๊าซอ่าวไทยเป็นก๊าซหุงต้มในราคาถูกที่สุดที่ 219 บาท ส่วนปิโตรเคมีได้ใช้ราคา 362 บาท
ราคาที่ท่านยกขึ้นมา แค่เป็นการตีกินกันด้วยตัวเลขต้นทางเท่านั้น ใช่หรือไม่
ราคาLPG ต้องเทียบกันที่ราคาปลายทางระหว่างครัวเรือน กับปิโตรเคมี ไม่ใช่เทียบกันที่ราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ว่าใครได้ราคาถูกกว่ากัน
ปัจจุบันราคาก๊าซหุงต้มยังแพงถึงถัง (15กิโลกรัม)ละ 495 บาท แม้ว่าท่านรัฐมนตรีจะสั่งให้ตรึงราคาก๊าซหุงต้มถึงเดือนมีนาคม 2567 ไว้ที่ 423 บาท/ถัง แต่ก็ต้องเอาเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชยถังละ 107 บาท ประชาชนยังติดหนี้กองทุนน้ำมันที่ต้องชดใช้เป็นเงินร่วมแสนล้านบาท
ราคาก๊าซ LPG เคยมีราคาถูกเพราะเป็นทรัพยากรในประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นก๊าซหุงต้ม รัฐบาลในอดีตจึงกำหนดนโยบายให้ครัวเรือนได้ใช้ก่อนในราคาควบคุมที่ 333เหรียญ/ตัน คิดเป็นราคาก่อนภาษี และค่าการตลาดที่กิโลกรัมละ 10-11บาท และขายปลีกถังละ 290 – 300 บาท
ก๊าซอ่ธรรมชาติอ่าวไทยที่แยกเป็น LPGเพื่อใช้เป็นก๊าซหุงต้มมีปริมาณประมาณ 3ล้านตัน ครัวเรือนใช้อยู่ประมาณ 2ล้านตัน จึงเพียงพอต่อความต้องการใช้ของประชาชน
LPGราคาถูกจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเริ่มไม่เพียงพอ เมื่อธุรกิจปิโตรเคมีต้องการใช้ LPGราคาถูกจากอ่าวไทยเพิ่มขึ้น จึงมีกระบวนการออกแบบเพื่อเปลี่ยนถ่ายLPGจากอ่าวไทยราคาถูกไปให้ธุรกิจเอกชนขายแพงให้ประชาชนเพื่อทำกำไร ใช่หรือไม่
เหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 2551 ในสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์คือเปลี่ยนมติให้ปิโตรเคมีมาใช้ก๊าซ LPG พร้อมกับครัวเรือน
จากมตินี้ ทำให้ปตท.สามารถเปลี่ยนสัดส่วนผู้ใช้ก๊าซLPGจากอ่าวไทยมาให้บริษัทปิโตรเคมีที่เป็นบริษัทลูกใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และใช้การซื้อขายแบบ Net Back คือตกลงราคากันเองระหว่างบริษัทแม่กับลูก บริษัทปิโตรเคมีในเครือปตท.จึงได้ใช้LPG ราคาถูกที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยก่อนครัวเรือน ใช่หรือไม่
LPG จากก๊าซธรมชาติในอ่าวไทย 3ล้านตัน ปิโตรเคมีใช้ไปในสัดส่วน 2.7 ล้านตัน เหลือให้ครัวเรือนได้ใช้LPG จากก๊าซอ่าวไทยเพียง 3แสนตัน ครัวเรือนต้องใช้ก๊าซ LPG ที่ได้จากโรงกลั่นน้ำมัน ที่มีราคาแพงกว่าLPG อ่าวไทย
ก่อนสมัยรัฐบาลลุงตู่ ก๊าซหุงต้มยังมีการควบคุมราคาที่ 333เหรียญ/ตัน คือกิโลกรัมละ 11-12 บาท และขายปลีกกิโลกรัม 18 บาท ถังละ 290 -300 บาท เมื่อต้องใช้ก๊าซLPGจากโรงกลั่นน้ำมันทำให้ราคาสูงขึ้น เริ่มมีการใช้กองทุนน้ำมันมาชดเชยราคาก๊าซหุงต้มไม่ให้ราคาขายปลีกต่อถังสูงเกินไป แต่ก็ชดเชยน้อยกว่าปัจจุบันมาก
เหตุการณ์หนักข้อที่สุดเกิดในยุครัฐบาลคสช.ของพล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ปี2558 ลุงตู่ได้ประกาศยกเลิกราคาควบคุม LPG ครัวเรือนที่ราคา 333 เหรียญ/ตัน และประกาศให้ใช้ราคานำเข้าก๊าซLPG แบบเสรี โดยใช้ราคานำเข้าจากประเทศซาอุดิอาระเบีย ทำให้ก๊าซLPG จากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย 3 ล้านตัน ได้โอกาสใช้ราคาตลาดโลกมาขายแพงให้ประชาชน ใช่หรือไม่
เมื่อยกเลิกราคาควบคุมก๊าซหุงต้มที่ 333เหรียญ/ตัน มาใช้ราคานำเข้าเสรีLPG ทำให้ครัวเรือนต้องแบกราคาตลาดโลกที่แพงขึ้น แต่บริษัทลูกของปตท.ยังได้ใช้ LPG อ่าวไทยในราคา Net Back ทรัพยากรก๊าซในอ่าวไทย จึงถูกเปลี่ยนไปเป็นกำไรของปตท. ซึ่งสามารถโยกย้ายกำไรไปมาระหว่างบริษัทปิโตรเคมีในกลุ่ม ใช่หรือไม่
ราคาLPGตลาดโลกเป็นราคาที่ครัวเรือนจ่ายจริง เจ็บจริง นโยบายนี้ทำให้ราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มผลิตจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยขยับขึ้นจากถังละประมาณ 300 บาทเป็นถังละ 495 บาท ต้องเอากองทุนน้ำมันมาอุ้มราคาถังละ 107 บาท เป็นการอำพรางราคาที่แท้จริง และรัฐบาลได้หน้าว่าช่วยตรึงราคาไว้ที่ถังละ 423 บาท แต่ใช้เงินกองทุนฯมาอุ้ม หนี้ในกองทุนน้ำมันเป็นแสนล้าน ประชาชนต้องจ่ายอยู่ดี
บริษัทปิโตรเคมีได้ใช้LPG ราคาถูก และได้รับการเกื้อหนุนจากนโยบายรัฐบาลว่าLPGที่ใช้เป็นวัตถุดิบ ไม่ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิต ไม่ต้องจ่ายภาษีเทศบาล ไม่มีค่าการตลาด จึงมีราคาถูกกว่าLPG ของครัวเรือนยิ่งขึ้นไปอีก และไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันมาชดเชยการได้ใช้ก๊าซLPG ราคาถูกจากอ่าวไทยเลย ใช่หรือไม่
ในเมื่อท่านรัฐมนตรีพีระพันธุ์ประกาศขอทำงานหนักในปี2567 รื้อทิ้งระบบที่ทำให้ประชาชนเป็นทุกข์ให้หมด เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ดิฉันขอนำเสนอวิธีแก้ไขเพื่อให้ท่านรัฐมนตรีพิจารณา ดังนี้
1) ให้ครัวเรือน และปิโตรเคมี ซื้อก๊าซLPG ในราคาตลาดโลกเท่ากัน ไม่ให้บริษัทลูกของปตท. ซื้อ LPG ในราคาที่ตกลงกันเอง(Net Back)
2)รัฐบาลในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในปตท. ควรกำหนดราคาLPG ในประเทศ โดยใช้สูตรคำนวณ : ราคาก๊าซจากปากหลุม +ค่าใช้จ่ายในการแยกก๊าซของ ปตท.ที่เป็นมาตรฐาน + กำไรไม่เกิน 5%
3)ส่วนต่างระหว่าง ราคาLPG ในประเทศ หักลบราคาLPG ตลาดโลกแล้ว ให้ส่งเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อนำไปชดเชยก๊าซหุงต้มครัวเรือนในราคาตามที่รัฐกำหนด
ถ้าทำได้เช่นนี้ เงินกองทุนน้ำมันสำหรับชดเชยราคาก๊าซหุงต้มของครัวเรือน จะมาจากส่วนต่างราคาของทรัพยากรก๊าซในประเทศ ที่หักจากราคาตลาดโลก เป็นการขายไม้สัก ในราคาไม้สัก ไม่ใช่ขายไม้สักในราคาเศษไม้อย่างที่ผ่านมา และสามารถนำมาชดเชยให้ประชาชนได้ใช้ก๊าซหุงต้มในราคาสาธารณูปโภคพื้นฐาน
ถ้าท่านพีระพันธุ์พิจารณาแนวทางที่ดิฉันเสนอ น่าจะช่วยแก้ปมปัญหาราคาก๊าซหุงต้มที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชนได้ ก๊าซหุงต้มที่เป็นทรัพยากรในประเทศประชาชนควรได้ใช้ในราคาแบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน
โปรดให้โอกาสประชาชนได้รับผลแห่งความโชติช่วงชัชวาลจากทรัพยากรในแผ่นดินไทย ดังที่อดีตนายกฯเปรม ติณสูลานนท์เคยประกาศเมื่อพบก๊าซเชิงพาณิชย์ในอ่าวไทยว่า “เราจะโชติช่วงชัชวาลกันแล้ว” อย่าปล่อยความโชติช่วงชัชวาลเป็นประโยชน์แค่กับธุรกิจเอกชนบางบริษัทเท่านั้น
จึงขอให้ท่านโปรดใช้ความกล้าหาญในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างราคาเพื่อประชาชน มากกว่าการใช้โวหารเอาไว้ข่มกันโดยประชาชนไม่ได้อะไรที่เป็นของจริง
รสนา โตสิตระกูล
3 มค. 2567
#ราคาก๊าซหุงต้ม
#ราคาLPG #ราคาNetback