นักวิชาการ แฉ บริษัทยุโรป หัวหมอ ดอดซื้อน้ำมันรัสเซีย ผสมสูตรไขว้ ประกาศคว่ำบาตร แต่การกระทำย้อนแย้ง!?

1442

หลังจากที่การคว่ำบาตรรัสเซียของชาติตะวันตกที่มีต่อสงครามยูเครน ได้ตัดขาดรัสเซียจากการค้าโลกส่วนใหญ่ ยกเว้นการค้าน้ำมันและก๊าซ ทำให้ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียเอาคืนบรรดาลูกค้าชาติยุโรปด้วยการเรียกร้องแกมข่มขู่ให้ผู้ซื้อก๊าซเหล่านั้นชำระค่าสินค้าในสกุลเงินรูเบิลของรัสเซียเท่านั้น หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขก็จะตัดการส่งก๊าซไปยังยุโรปทันที

คำขู่นี้สร้างความกังวลใจให้บรรดาชาติยักษ์ใหญ่และธุรกิจน้อยใหญ่ในยุโรป แต่ก็ยังคงยึดมั่นที่จะไม่ทำตามคำขู่ดังกล่าว และเมื่อถึงกำหนดเส้นตายที่ปูตินกำหนดไว้ ปรากฏว่าท่อส่งก๊าซหลักสองในสามของบริษัทพลังงานรายใหญ่ของรัสเซีย อย่างก๊าซพรอม ยังคงดำเนินการส่งก๊าซไปยังยุโรปตามปกติ ผ่านทางทะเลบอลติกและเบลารุส โดยไม่ได้มีการตัดการส่งตามคำขู่ของปูตินแต่อย่างใด แต่ความวิตกยังคงไม่ลดลง เพราะสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของสงครามยูเครน ทำให้ราคาพลังงานยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้รัสเซียและยูเครนจะเริ่มกลับมาเจรจาสันติภาพกันอีกครั้งผ่านการประชุมทางวิดีโอแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ประชากรในประเทศยุโรป ทั้งเยอรมัน ฝรั่งเศส ต่างเดือดร้อนเรื่องพลังงานน้ำมันอย่างมาก ต้องกักตุนสินค้า และจ่ายราคาค่าก๊าซ ค่าไฟ ที่แพงกว่าปกติ ถือเป็นวิกฤตหนักที่ทำให้ประชาชนลำบาก และแสดงท่าทีที่ไม่พอใจ ต่อบทบาทของผู้นำประเทศตัวเอง ในการวางตัวต่อรัสเซีย

ล่าสุดในเพจเฟซบุ๊ก ดร.สมเกียรติ โอสถสภา อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ทำไมแซงชั่นน้ำมันรัสเซียไม่ได้ผล

“ค็อกเทลลัตเวีย” ยุโรปกับการลอดรูซื้อน้ำมันรัสเซีย การเอาชีวิตให้รอดในช่วงเวลาของการคว่ำบาตรที่ครอบคลุม ต้องเรียกว่าปาฏิหาริย์ เพราะคุณจะเรียกมันเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร เมื่อน้ำมัน “สกปรก” จากรัสเซีย ถูกแปลงให้เป็นน้ำมันผสมแบบที่ “สะอาด” ที่ยุโรปไม่รังเกียจ ที่ลัตเวีย และนักมายากลคนสำคัญในกรณีนี้ก็ไม่ใช่ใครอื่น หากแต่เป็นบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของยุโรปอย่างเชลล์ ซึ่งเพิ่งจะประกาศเมื่อไม่นานมานี้ว่าจะออกจากตลาดรัสเซีย แต่ปรากฏการออกมานั้นเป็นเพียงคำพูดเท่านั้น เพราะในทางปฏิบัติ เชลล์ได้เลือกที่จะทำแผนการซื้อน้ำมันของรัสเซียต่อไป บลูมเบิร์ก รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวในบริษัทว่าเชลล์ ได้จัดการซื้อน้ำมันผสม ที่ในทางเทคนิคไม่ถือว่าเป็นน้ำมันรัสเซีย เนื่องจากปริมาณของน้ำมันอูราลส์ (น้ำมันผสมสำหรับการส่งออกของรัสเซีย ) มีสัดส่วนเพียง 49.99% ส่วนที่เหลืออีก 50.01% มาจากแหล่งอื่น โดยขณะนี้ตัวแทนของเชลล์ได้จัดการแก้ไขข้อกำหนดในสัญญาที่จำเป็นแล้ว

 

สถานที่หลักที่มีการผสมน้ำมันคือท่าเรือ Ventspils ของลัตเวีย ซึ่งมีคลังเก็บน้ำมันขนาดใหญ่อยู่ จากเรื่องนี้จึงกลายเป็นชื่อของน้ำมันสูตรนี้ คือน้ำมันผสมลัตเวีย เรือบรรทุกน้ำมันจะมาที่นี่เป็นประจำจากท่าเรือเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและอุสต์-ลูก้า ของรัสเซีย งานนี้ ต้องบอกด้วยว่า การผสมน้ำมันเกิดขึ้นได้แม้ในทะเลหลวงในน่านน้ำของเนเธอร์แลนด์ – โดยมีการถ่ายน้ำมันจากเรือลำหนึ่งไปยังอีกลำหนึ่ง

โดยทางการแล้ว บริษัทพลังงานในยุโรปสามารถซื้อน้ำมันจากรัสเซียได้อย่างอิสระและเปิดเผย เพราะจนถึงตอนนี้สหภาพยุโรปก็ยังไม่ได้กำหนดข้อห้ามในการซื้อน้ำมัน ก๊าซ หรือถ่านหินของรัสเซีย ซึ่งแตกต่างจากสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตามผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ที่กลัวข้อครหา เรื่องการเป็นสปอนเซอร์และผู้สนับสนุนมัสกวา ได้เริ่มปฏิเสธที่จะซื้อน้ำมันรัสเซีย ในเดือนมีนาคม เชลล์จึงรีบเปลี่ยนใจ หลังจากที่ได้รับสิทธิ์ซื้อน้ำมันอูราลส์จากรัสเซียในสนนราคาลดพิเศษ ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำให้รัฐมนตรีต่างประเทศอูเครน ดมิทรี คูเลบา ขุ่นเคือง


และเรื่องนี้ก็คือที่มาของแผนการ “ค็อกเทล” น้ำมัน ซึ่งทำให้บริษัทในยุโรปสามารถประกาศสิ่งหนึ่งต่อสาธารณะได้ แต่ในทางปฏิบัติ กลับได้ทำในอีกอย่างหนึ่งได้อิกอร์ ยุชกอฟ นักวิเคราะห์ชั้นนำของ National Energy Security Fund ผู้เชี่ยวชาญจาก Financial University บอกว่า วิธีการดังกล่าวถูกนำมาใช้เพื่อลดต้นทุนด้านภาพลักษณ์ บริษัทต่างชาติกลัวการซื้อน้ำมันรัสเซียโดยตรง กลัวว่าจะถูกประเทศตะวันตกกัด จึงเริ่มคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ไม่ได้ถูกห้ามไม่ให้ซื้อน้ำมันในรัสเซีย หากไม่ได้ส่งน้ำมันไปให้กับสหรัฐ โรงกลั่นหลายแห่งในยุโรปก็ใช้น้ำมันอูราลส์ของรัสเซีย ดังนั้นจึงไม่น่าเป็นไปได้ที่ผู้ค้าน้ำมันในยุโรปจะเลิกใช้น้ำมันดังกล่าวในเร็ว ๆ นี้ ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกต น้ำมันผสมลัตเวีย สามารถทำได้โดยการผสมน้ำมันรัสเซียกับน้ำมันนอร์เวย์หรือซาอุดิอาระเบีย รวมถึงน้ำมันดีเซลโปแลนด์ ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ซื้อจากรัสเซีย ผลก็คือมันทำให้ผู้ค้าน้ำมันชาวยุโรป ได้น้ำมันผสมที่ค่อนข้างเบา


ยูชกอฟเสริมว่า ไม่มีใครจากประเทศตะวันตกจะประท้วงการซื้อน้ำมันลัตเวีย เพราะนี่เป็นประเทศยุโรปที่เป็นประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจก็เข้าใจดีว่าจริง ๆ แล้วมันเป็นน้ำมันอะไร และก็รับได้กับแผนการแบบนี้

น้ำมันลัตเวียไม่ใช่โนว์ฮาวอะไร เชลล์เป็นผู้คิดค้นมันขึ้นมาเป็นครั้งแรก และเรื่องแบบนี้ก็เคยถูกใช้มาก่อน อย่างเช่น สำหรับการซื้อน้ำมันจากอิหร่านและเวเนซุเอลา มันถูกเรียกว่าน้ำมันผสม “มาเลเซีย” หรือ “สิงคโปร์” อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าน้ำมันในยุโรปจำนวนหนึ่งก็ยังคงปฏิเสธที่จะซื้อน้ำมันรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโททาลของฝรั่งเศสที่ประกาศว่าปฏิเสธน้ำมันที่มีแหล่งกำเนิดมาจากรัสเซียทั้งหมดหรือบางส่วน ขณะที่ Repsol SA ของสเปนก็ยืนกรานคล้าย ๆ กัน