แกะรอยผลโหวต “ก๊วนธรรมนัส”หนุนฝ่ายค้าน-สวนพปชร.! ไม่ฟัง“ประวิตร”ไม่อยู่ฝั่งรบ.??

1012

จากที่เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติไม่รับหลักการ ร่างพ.ร.บ.2 ฉบับ ที่นายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.พรรคภูมิใจไทย และอดีต ส.ส.อนาคตใหม่ กับคณะเสนอ คือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ… และ ร่าง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ (ฉบับที่…) พ.ศ…. นั้น

โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการลงมติ พบว่า เกิดเสียงแตกกันเองของทั้งส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยในส่วนของการลงมติ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติไม่เห็นด้วย 231 เห็นด้วย 146 งดออกเสียง 6

ปรากฎว่า ส.ส.ฝ่ายค้าน ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล เกิดเสียงแตกเห็นไม่ตรงกัน เพราะส.ส.ส่วนใหญ่ของพรรคเพื่อไทย ลงคะเเนนไม่เห็นด้วย และลงคะเเนน – (ยัติภังค์) หมายถึงผู้ไม่ลงมติ/ผู้ลาประชุม/ผู้ขาดประชุม สำหรับส.ส.พรรคก้าวไกล ยกเว้นส.ส.กลุ่มงูเห่า ส่วนใหญ่ ต่างลงมติเห็นด้วยเกือบทั้งหมด

“ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลก็เสียงแตกเช่นกัน โดยพบว่า ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ส่วนใหญ่โหวตไปในทิศทางเดียวกัน คือไม่เห็นด้วยเกือบทั้งพรรค ยกเว้น ส.ส.ส่วนน้อยลงคะเเนนเห็นด้วย งดออกเสียง และ ลงคะเเนน – (ยัติภังค์) ซึ่งการโหวตของประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐ สวนทางกับ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ที่ต่างลงคะเเนนเห็นด้วยยกพรรค ยกเว้นกลุ่มส.ส.ที่กักตัวเนื่องจากติดเชื้อโควิด และ น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทมธานี ที่ย้ายพรรคมาจากเพื่อไทย”

นอกจากนี้ยังพบว่า ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เป็นแกนนำ ส่วนใหญ่โหวตสวน พรรคพลังประชารัฐ โดยลงคะเเนนเห็นด้วยแบบเดียวกับพรรคก้าวไกล

ขณะที่วันเดียวกันนี้ยังมีการประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่.. ) พ.ศ. … ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการผลิตสุราไว้บริโภคเองได้ ที่นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.พรรคก้าวไกล และคณะเสนอ ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อจากการประชุมเมื่อวันที่ 2 ก.พ. เนื่องจากครั้งที่แล้วองค์ประชุมไม่ครบ

ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้รัฐมนตรี รับร่างดังกล่าว กลับไปพิจารณาก่อนส่งคืนให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาภายใน 60 วัน ด้วยคะแนนเห็นด้วย 207 เสียงไม่เห็นด้วย 196 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง

สำหรับ ผลการลงมติเห็นด้วย 207 เสียง ส่วนใหญ่เป็นส.ส.ฝั่งรัฐบาล และเสียงไม่เห็นด้วย 196 เสียง ส่วนใหญ่เป็นเสียงของพรรคฝ่ายค้าน รวมถึงยังมีส.ส.ของพรรคเศรษฐกิจไทย จำนวน 14 คน จากทั้งหมด 18 คน โดยร.อ.ธรรมนัส  และนายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ ไม่ได้ร่วมลงมติ ขณะที่นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น ที่ยังไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใดไม่ได้ลงมติเช่นกัน ขณะที่นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา ที่ยังไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองอีกคนก็มีมติโหวตเห็นด้วย

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีส.ส.พรรคภูมิใจไทย โหวตสวนมติพรรคร่วมรัฐบาล จำนวน 6 คน ประกอบด้วย นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ส.ส.พระนครศรีอยุธยา, น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี, นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง, นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ

รวมทั้งเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ 7 คน ได้แก่ นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายธีรภัทร พริ้งศุลกะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย ส.ส.อุบลราชธานี น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายสาคร เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง

ด้าน ร.อ.ธรรมนัส  ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อคืนวันที่ 9 กุมภาพันธ์ด้วยว่า “อะไรที่เป็นผลประโยชน์ ของพี่น้องประชาชน ผมจะทำและจะทำอย่างไม่ลังเล สิ่งที่ผมทำวันนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ ของประชาชนรากหญ้าหรือผู้ประกอบการสุราพื้นบ้าน ให้สามารถมีโอกาสที่จะเติบโตลืมตาอ้าปากกับเค้าได้บ้าง ไม่ใช่มีเพียงนายทุนที่มีโอกาสที่จะเติบโตแบบผูกขาด

วันนี้สมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทย จึงตัดสินใจเห็นด้วยกับร่างกฏหมายสุรา ที่ไม่ต้องกลับไปที่ ครม. อีกครั้ง เพราะผมมองว่าทั้งๆที่เราก็รู้ว่าสิ่งนี้อาจจะทำให้พี่น้องชาวบ้านตาดำๆได้ลืมตาอ้าปากได้ แล้วเราจะดึงโอกาสของพี่น้องประชาชนไว้ทำไม

 

ผมเชื่อว่าวันนี้ผมและพี่น้อง พรรคเศรษฐกิจไทย ได้ทำตามที่ผมได้พูดและสัญญากับพี่น้องประชาชนว่าเราจะเอาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้งครับ”

อย่างไรก็ตามได้เกิดข้อสงสัย และคำถามดังขึ้นทันทีว่า  การโหวตของส.ส.กลุ่มร.อ.ธรรมนัส  ได้เป็นไปแบบที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้เคยกล่าวไว้เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 หรือไม่ โดยพบว่า พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ช่วงหนึ่ง เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีความกังวลว่าเมื่อ 21 ส.ส.ไปอยู่พรรคใหม่แล้วจะกระทบต่อเสียงที่จะเป็นองค์ประชุมในสภา พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “พรรคใหม่นี้ก็จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และสนับสนุนรัฐบาล ไม่ต้องห่วง”

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงาน ในการประชุมพรรคพลังประชารัฐ  พล.อ.ประวิตร  เป็นประธานในการประชุม โดยมีแกนนำพรรค และ ส.ส.เข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งรายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ประวิตร รับปากกับสมาชิกว่า “เรื่องพรรคเศรษฐกิจไทยไม่ต้องห่วง เป็นหน้าที่ผม ผมรับผิดชอบเอง จะเอากลับมาร่วมประชุมสภาทุกครั้ง”

คล้อยหลังจากนั้นในวันเดียวกัน ที่พรรคพลังประชารัฐ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ให้สัมภาษณ์ ด้วย โดยเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.ประวิตร ได้พูดถึงกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส ที่ออกไปตั้งพรรคใหม่หรือไม่ นายอนุชา กล่าวว่า หัวหน้าพรรคยืนยันว่าคุมได้ โดยระบุว่าทั้ง 21 เสียง จะเป็นเสียงของรัฐบาล เมื่อถามย้ำจะต้องว่ามีเงื่อนไขอะไรหรือไม่ นายอนุชา กล่าวว่า ไม่มี