ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง (กค.) ได้หารือร่วมกันถึงประโยชน์และความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล และเห็นความจำเป็นในการกำกับดูแลและควบคุมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ปัจจุบัน ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจในลักษณะให้บริการ ชักชวนหรือแสดงตน ว่าพร้อมจะให้บริการแก่ร้านค้าและผู้ประกอบการในธุรกิจต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น จัดทำระบบและโฆษณาเชิญชวนร้านค้า ซึ่งการที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในลักษณะดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงเป็นความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ อาทิ ความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน
อย่างไรก็ดีหน่วยงานกำกับดูแลต่างตระหนักถึงความเสี่ยงและผลกระทบดังกล่าว จึงพิจารณาใช้อำนาจตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการในวงกว้าง และจะมีแนวทางกำกับดูแลที่เหมาะสม สำหรับบริการที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่เป็นประโยชน์ต่อนวัตกรรมทางการเงินและไม่สร้างความเสี่ยงเชิงระบบที่กล่าวถึงข้างต้น โดยคำนึงถึงทั้งการเพิ่มศักยภาพของระบบการเงินของประเทศ และประโยชน์ของผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลจะรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและประชาชนต่อไป
สำหรับร่างหลักเกณฑ์ห้ามมิให้ผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการนำทรัพย์สินดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ มี 6 ข้อ ดังนี้
1.ไม่โฆษณาเชิญชวนว่าพร้อมให้บริการแก่ร้านค้า ว่าสามารถรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้
2.ไม่จัดทำระบบหรือเครื่องมืออำนวยความสะดวกแก่ร้านค้าเพื่อรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
3.ไม่ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) แก่ร้านค้าเพื่อรับชำระ
4.การขายสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงินบาท ต้องโอนเข้าบัญชีตัวเองเท่านั้น
5.ไม่ให้บริการโอนสินทรัพย์ดิจิทัล / เงิน จากบัญชีของผู้ซื้อขาย ไปยังบัญชีรายอื่นหรือบุคคลอื่นใด เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับชำระค่าสินค้าเเละบริการ
6.ไม่ดำเนินการอื่นใดที่จะเป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลมาเป็นสื่อกลางการชำระค่าสินค้าและบริการ
ส่วนนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ธปท. คำนึงถึงทั้งความเสี่ยงและประโยชน์ของสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงเทคโนโลยีเบื้องหลัง และมองว่า ณ ขณะนี้การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการอย่างแพร่หลายจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ จึงควรมีการกำกับดูแลที่ชัดเจน ขณะที่เทคโนโลยีและสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงดังกล่าวก็ควรได้รับการสนับสนุนโดยมีกลไกดูแลที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและประโยชน์ต่อประชาชน
ด้านนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันกับ ธปท. และ กค. ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ซื้อขายอย่างเหมาะสม และให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ* เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ต่อไป
ทั้งนี้ การเปิดรับฟังความคิดเห็นมีไปจนถึงจนถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 โดย ก.ล.ต.ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว ตามมติคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต.ผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ดังกล่าว หรือทาง e-mail: [email protected] หรือ [email protected]
ด้านเอกชนและสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวน เห็นว่าจะทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
นายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เปิดเผยว่า สำหรับประเด็นการเก็บภาษีจากการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี) มองว่ายังไม่ควรเก็บตอนนี้ เพราะควรเปิดทางให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลได้เติบโตงอกเงยก่อน นอกจากนี้ อยากให้ภาครัฐพิจารณาประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจด้วย
โดยหากวันนี้ภาครัฐจัดเก็บภาษีทางตรงจากนักลงทุนและผู้ประกอบการก็อาจเสียโอกาสรับประโยชน์ทางอ้อม เช่น การดึงดูดเงินทุนต่างชาติ การดึงดูดทุนมนุษย์ที่มีศักยภาพให้เข้ามาในประเทศ หรือการกระตุ้นการจ้างงาน ฯลฯ
นอกจากนี้ แนวทางการเก็บภาษีคริปโทฯ ที่ภาครัฐนำเสนอในปัจจุบันมีความคล้ายคลึงกับแนวทางการเก็บภาษีหุ้นในตลาดทุน ทั้งที่พฤติกรรมของนักลงทุนทั้ง 2 ตลาดมีความแตกต่างกัน อีกทั้งยังมีประเด็นที่ควรคำนึงถึงในทางปฏิบัติเพิ่มเติม เช่น หากผู้ลงทุนเป็นชาวต่างชาติจะตามไปหักภาษีอย่างไร หรือแนวทางการเก็บภาษีจากกำไรที่เกิดขึ้นโดยเอาผลขาดทุนมาหักกลบ ซึ่งเป็นการสร้างภาระมหาศาลแก่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ (Exchange)
สำหรับข้อเสนอของสมาคมฯ เบื้องต้นมีแผนเสนอแนวทางที่ทำได้ง่าย โดยเปรียบเทียบจำนวนเงินระหว่างต้นปีและท้ายปีของผู้ลงทุนรวมถึงเงินที่โอนเข้าและโอนออกไปยังบัญชีธนาคารเพราะมองว่าเป็นส่วนต่างความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งวิธีการนี้ผู้ประกอบการสามารถสืบค้นธุรกรรมได้ อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับความเห็นของผู้ร่วมตลาดด้วย รวมถึงข้อสรุปของกรมสรรพากรที่คาดว่าจะออกมาภายในเดือน ม.ค.2565