ม.จ.จุลเจิม เปิดเบื้องลึก ไทย-ซาอุฯ มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แย้มข่าวดีระดับสถาบันฯ

1605

จากการเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตามคำเชิญของเจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ทั้งนี้โดยมีรายงานเปิดเผยว่า หลังซาอุดีอาระเบียลดระดับความสัมพันธ์มากว่า 30 ปี โดยเมื่อเวลา 13.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) วันที่ 25 ม.ค. ที่กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย นายกฯเข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ก่อนเข้าเฝ้าฯหารือข้อราชการกับเจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร แห่งซาอุดีอาระเบีย ณ สำนักพระราชวังซาอุดีอาระเบีย พระราชวังอัล ยะมามะฮ์

อย่างไรก็ตามช่วงหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เข้าเฝ้าเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด  ได้กล่าว “แสดงความเสียใจยิ่งต่อโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2532-2533”

กระนั้นการเยือนกรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่าง 2 ประเทศนับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี ภายหลังจากที่รัฐบาลซาอุฯ ลดระดับความสัมพันธ์กับไทยลงเนื่องจาก 3 เรื่องอื้อฉาว คือ กรณีเพชรบลูไดมอนด์ที่หายไปอย่างไร้ร่องรอย, การฆาตกรรมนักการทูต และอุ้มฆ่านักธุรกิจ ที่เกิดขึ้นในไทย ในช่วงปี 2532-2533

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ โพสต์เฟซบุ๊ก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-Chan-o-cha” ระบุไว้บางส่วนว่า พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ วันนี้ ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่จะขอแจ้งข่าวดีต่อปวงชนชาวไทย รวมทั้งชาวซาอุดีอาระเบีย เกี่ยวกับความสำเร็จในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย – ซาอุดีอาระเบีย ให้กลับมาอยู่ใน “ระดับปกติ” อย่างสมบูรณ์ นับตั้งแต่วันนี้สืบไป

ภายใต้ความพยายามอย่างเต็มความสามารถของทั้งสองฝ่าย ถือเป็นการสิ้นสุด 3 ทศวรรษแห่งความห่างเหิน และเริ่มต้นศักราชใหม่แห่งความร่วมมือ สร้างสรรค์ และพัฒนา เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน บนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในทุกมิติระหว่างสองประเทศ

ล่าสุดวันนี้ 27 มกราคม 2565 ม.จ.จุลเจิม ยุคล หรือ ท่านใหม่ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กถึงการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ของประเทศซาอุฯกับประเทศไทยด้วย

“การฟื้นฟูความสัมพันธ์ ที่แน่นแฟ้น ของสองราชอาณาจักร คือ ราชอาณาจักรไทย และ ราชอาณาจักร ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทั้งสองราชอาณาจักร นั้นมี พระมหากษัตริย์ เป็นประมุขเหมือนกัน และมีรัฐบาลทำหน้าที่บริหารเหมือนกัน ต่างกันตรงที่

ระบบการปกครองของ ราชอาณาจักร ซาอุดีอาระเบียนั้น พระราชวงศ์สามารถดำรงตำแหน่งในรัฐบาลได้ มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินได้ ซึ่งต่างจาก ราชอาณาจักรไทยเรา ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ อยู่เหนือการเมือง ไม่สามารถยุ่งเกี่ยวทางการเมืองได้

ถ้าหากจะฟื้นฟูความสัมพันธ์อันดี ต่อกัน ระหว่าง สองราชอาณาจักร จึงมีอยู่ 2 ระดับ คือ  1 ระดับรัฐบาล 2 ระดับราชอาณาจักร (สถาบัน) ทั้งสอง จึงจะสมบูรณ์ ในความสัมพันธ์ที่ดี ต่อกัน แต่ขณะนี้ รัฐบาลของ ราชอาณาจักรไทย โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ เริ่มฟื้นฟูกันในระดับ รัฐบาลก่อน จึงยังต้องดำเนินการ การฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ดี แน่นแฟ้น ระหว่าง 2 ราชอาณาจักร (ไม่ใช่ระดับรัฐบาล) กันต่อไปในอนาคต”