แสบถึงกึ๋น!!‘ฮุนเซน’สวนสหรัฐฯโดดอุ้มเมียนมา ตั้งรมว.ต่างประเทศกัมพูชาเป็นทูตอาเซียนกิจการพม่า

1642

วันที่ 15 ธ.ค.2564 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา ประกาศว่า เขาจะแต่งตั้ง ปรัก สุคน(Prak Sokhonn) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชา เป็นทูตพิเศษของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ว่าด้วยกิจการพม่า

ในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา กัมพูชาได้รับไม้ต่อจากบรูไนเพื่อดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีหน้า และเมื่อต้นเดือน ผู้นำเขมรได้ประกาศว่าเขาจะเดินทางเยือนพม่าอย่างเป็นทางการในเดือน ม.ค. ในความพยายามที่จะแก้ไขความสัมพันธ์ระหว่างนายพลพม่ากับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน

พม่าอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่ที่กองทัพเข้ายึดอำนาจในเดือน ก.พ. ขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจี ด้วยข้อหามีการโกงเลือกตั้ว หลังการชุมนุมประท้วงที่เริ่มต้นอย่างสันติ ได้บานปลายกลายเป็นความรุนแรงทั้งในเมืองและชนบทเพื่อต่อต้านการปกครองของรัฐบาลกลาง  พม่าจึงดำเนินการปราบปรามด้วยกำลังตอบโต้ การก่อวินาศกรรม ทำร้ายนักลงทุนและผู้ไม่ร่วมฝ่ายต่อต้าน ล่าสุดการต่อสู้ด้วยอาวุธก็ขยายตัวขึ้นหลังจากกลุ่มต่อต้านที่นำโดยผู้สนับสนุนพรรคเอ็นแอลดีของซูจีจัดตั้งรัฐบาลเงาขึ้น 

ด้านสหรัฐและพันธมิตรตะวันตกรุมคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ การทูต สร้างแรงกดดันบีบให้รัฐบาลกลางเจรจากับกลุ่มต้านแต่ไม่สำเร็จ โดยผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติได้เตือนว่า เมียนมามีความเสี่ยงที่จะก้าวเข้าสู่สงครามกลางเมือง 

ในการเดินสายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นายแอนโธนี  บลิงเคน เยือนอินโดนิเซีย-มาเลเซีย ตั้งแต่วันที่ 14-15 ธ.ค.ได้ระบุว่าสหรัฐจะยกระดับมาตรการกดดันเมียนมาเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประธานอาเซียนคนใหม่ ใช้ท่าทีตรงข้ามข้อเรียกร้องของสหรัฐโดยประนีประนอมเข้าหาเมียนมาในฐานะมิตรประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงมากกว่า

ในพิธีเปิดโรงแรมแห่งใหม่ในกรุงพนมเปญ ฮุนเซนกล่าวว่า เขาไม่แน่ใจว่าอาเซียนหรือกัมพูชาสามารถแก้ไขปัญหาของพม่าได้ แต่เขาควรได้รับอนุญาตให้ลอง

ภายใต้แนวทางของบรูไน ที่เป็นประธานอาเซียนในปีนี้ กลุ่มภูมิภาคได้ดำเนินการขั้นตอนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ด้วยการไม่อนุญาตให้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำทหารของพม่า เข้าร่วมการประชุมสุดยอดในเดือน ต.ค.24546

ผู้นำของกลุ่มดำเนินการดังกล่าวหลังจากพม่าไม่อนุญาตให้ทูตพิเศษของกลุ่มพบหารือซูจี ที่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจ โดยทูตพิเศษคนก่อน คือ เอรีวัน ยูซอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศคนที่สองของบรูไน

อาเซียนพยายามเล่นบทบาทไกล่เกลี่ยในวิกฤตพม่า ด้วยวิตกกังวลว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อสันติภาพของภูมิภาค และในเดือน เม.ย. กลุ่มบรรลุฉันทมติ 5 ข้อ ที่จะช่วยฟื้นฟูเสถียรภาพ แต่พม่าพยายามเพียงเล็กน้อยที่จะดำเนินการตามข้อตกลงดังกล่าว

ฮุนเซน จะเป็นผู้นำต่างชาติคนแรกที่เยือนพม่านับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจ เมื่อเขาประกาศกำหนดการเยือนในวันที่ 7-8 ม.ค.2565 ซึ่งเขากล่าวว่า ผู้นำพม่ามีสิทธิที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน และในฐานะประธานอาเซียนในปี 2565 กัมพูชาจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อส่งเสริมอาเซียนให้เป็นครอบครัวเดียวกันโดยประชุมกันอย่างพร้อมเพรียงครบ 10 ประเทศได้แก่กัมพูชา บรูไน  อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

แนวทางที่นุ่มนวลของฮุนเซนต่อผู้นำพม่าแตกต่างอย่างมากจากแนวทางที่แข็งกร้าวซึ่งสหรัฐฯ และชาติตะวันตกอื่นๆใช้ ที่กำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางการทูตและเศรษฐกิจกับผู้นำและรัฐบาลกลางที่ปกครองประเทศในปัจจุบัน