กู้ซื้อบ้านได้ 100%แล้ว!!แบงก์ชาติปล่อยผี LTV อัดสินเชื่อ 5 หมื่นล้านกระตุ้นอสังหาฯ

1239

วงการอสังหาริมทรัพย์ไทยคึกคัดอีกครั้งเมื่อ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.ปล่อยผี LTV 1 ปีกระตุ้นอสังหาฯเต็มเหนี่ยว  เปิดให้ฟรีดาวน์ทุกกรณี ปล่อยสินเชื่อได้เต็มที่ 100% ของหลักประกันทั้งบ้านใหม่ บ้านมือสองและรีไฟแนนซ์ หวังเร่งสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นได้ 50,000 ล้านบาท ไม่ห่วงเก็งกำไร ชี้ภาคอสังหาฯและธุรกิจเกี่ยวเนื่องมีสัดส่วนสูงถึง 9.8% จีดีพีถูกกระทบหนักได้เวลากระตุ้นให้คืนชีพ ดันเศรษฐกิจฟื้นตัวคึกคัก

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายนโยบายสถาบันการเงิน กล่าวว่า เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยให้เกิดกำลังซื้อในภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 9.8% ของจีดีพี มีการจ้างงานรวมกว่า 2.8 ล้านคน ซึ่งขณะนี้ฟื้นตัวช้ากว่าภาคอื่นๆ จากความต้องการซื้อที่ลดลง ธปท.จึงออกมาตรการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย หรือที่เรียกว่ามาตรการ LTV เป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 1 ปี เพื่อจูงใจให้ผู้ที่ยังมีกำลังซื้อตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเร็วขึ้น มีผลตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.2564 ที่ผ่านมา จนถึง 31 ธ.ค.2565

โดยการปรับเกณฑ์สัดส่วนการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) ที่สถาบันการเงินจะให้กับผู้กู้ได้เพิ่มขึ้นนั้น มีการผ่อนคลาย 4 กรณี คือ

1.กรณีสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีมูลค่าหลักประกันตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป จากเดิมหากเป็นสัญญาเงินกู้บ้านหลังที่ 1 จะสามารถให้สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยรวมกับสินเชื่อเพิ่มเติมที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (สินเชื่อ Top-up) ได้ไม่เกิน 90% ของหลักประกัน หรือต้องมีเงินดาวน์ 10% ให้กู้ได้ 90% เปลี่ยนเป็นกู้ได้ 100%

2.กรณีสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีมูลค่าหลักประกันต่ำกว่า 10 ล้านบาท จากเดิมหากเป็นการกู้ในสัญญากู้บ้านหลังที่ 2 สามารถให้สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย รวม Top-up ได้ไม่เกิน 90% ของหลักประกัน ปรับเป็นให้สินเชื่อได้ไม่เกิน 100% ของหลักประกัน

3.สินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีมูลค่าหลักประกันตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป เดิมหากเป็นการกู้ ในสัญญากู้บ้านหลังที่ 2 สามารถให้สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย รวมกับ Top-up ได้ไม่เกิน 80% ของหลักประกัน ปรับเป็นให้สินเชื่อได้ไม่เกิน 100% ของหลักประกัน กรณีที่

4.การให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 3 หรือบ้านหลังที่ 3 ในทุกมูลค่าหลักประกัน จากเดิมให้กู้ได้ไม่เกิน 70% เปลี่ยนเป็นให้กู้ได้ไม่เกิน 100% ของมูลค่าหลักประกัน ขณะที่คงสัดส่วน LTV สำหรับการให้กู้บ้านหลังที่ 1 ที่มีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท ไว้ที่ 110% (สินเชื่อบวก Top-up) ไว้เช่นเดิม โดยการผ่อนคลายนี้ มีผลทั้งกับการซื้อบ้านใหม่ บ้านมือสองและรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้านด้วย

ขณะที่ทางด้านความเสี่ยงประเมินว่า

  1. การเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์อยู่ในระดับต่ำและสถาบันการเงินยังมีมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่ดี

2. สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยไม่ซ้ำเติมปัญหาาหนี้ครัวเรือนของไทย เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต เป็นส่วนใหญ่

ผู้ช่วยผู้ว่าการฯกล่าวว่า “ธปท.ไม่กังวล ว่าจะเกิดการเก็งกำไรเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ระวังการปล่อยสินเชื่อ ไม่ให้เกิดปัญหาผู้ซื้อไม่มีความสามารถชำระหนี้ หรือกลายเป็นหนี้เสียได้  อย่างไรก็ตาม ธปท.จะติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์ มาตรฐานการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน และความสามารถของประชาชนในการกู้หรือซื้อที่อยู่อาศัย เพื่อให้ปรับเปลี่ยนมาตรการได้เท่าทันและเหมาะสมต่อไป”

ด้านนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสสายเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท.กล่าวว่า การปรับเกณฑ์ LTV จะช่วยให้ผู้ที่ยังมีกำลังซื้อ หรือคนระดับกลางถึงบน ตัดสินใจซื้อบ้านได้เร็วขึ้น เพราะกู้ได้ 100% ไม่ต้องมีเงินดาวน์ ประเมินว่า ผลจากมาตรการนี้ช่วง 1 ปีกว่านี้ เมื่อรวมกับมาตรการภาษีและการลดค่าธรรมเนียมการโอนการจดจำนอง จะช่วยให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้เพิ่มขึ้น 50,000 ล้านบาท ช่วยดึงเงินจากผู้มีกำลังซื้อมาหมุนในเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น วัสดุก่อสร้าง ผู้รับเหมาก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์และภาคแรงงานได้เพิ่มขึ้น

 

นายดอนย้ำว่า “ธปท.คาดเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวเท่าก่อนโควิดได้ต้นปี 2565 แต่อสังหาริมทรัพย์ หากไม่มีมาตรการอุดหนุน จะฟื้นตัวได้เต็มที่ช้ากว่า อาจเป็นช่วงปี 2568  ดังนั้นการกระตุ้นภาคอสังหาฯจะช่วยให้ภาคอสังหาฯฟื้นตัวได้เร็วขึ้น”