บอร์ดผู้สูงอายุสั่ง!?!คืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซ้ำซ้อนบัตรคนจน 4.7 ล้านคน ถอนฟ้อง-ระงับบังคับคดี-พักหนี้ 6 เดือน

1342

ในที่สุดรัฐบาลก็ได้ตัดสินใจทำสิ่งที่ถูกต้อง โดยมติบอร์ดผู้สูงอายุสั่งให้คืนเบี้ยยังชีพซ้ำซ้อนที่หน่วยราชการไปขอคืนจากคนแก่ และเป็นประเด็นดราม่ากว่าครึ่งปี ถึงความไม่สมเหตุผลและวิธีปฏิบัติงานของหน่วยราชการที่ไม่ถูกต้องกับคนเล็กๆ วันนี้ให้จ่ายคืนเงินช่วยตามบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ผู้สูงอายุ 4.7 ล้านคนที่ถือบัตรอยู่ หน่วยไหนเก็บไปแล้วให้ส่งคืน หน่วยไหนกำลังทวงให้เลิกทวง  พร้อมขยายโครงการพักหนี้คนแก่จากกองทุนผู้สูงอายุให้อีก 6 เดือนถึง มี.ค.65

วันที่ 30 ก.ค.2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีการหารือเรื่องการดูแลผู้สูงอายุภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันและการขับเคลื่อนสังคมผู้สูงอายุไทย โดยมีมติดังนี้

1.เห็นชอบแนวทางการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่ได้รับสิทธิจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยเป็นการจ่ายย้อนหลังให้แก่ผู้มีสิทธิ์จำนวน 4.7 ล้านคน รายละเอียดคือ 

-ปีงบประมาณ 2563 จ่ายเงินสงเคราะห์ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ย. อัตรา 100บาท/เดือน สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และอัตรา50บาท/เดือน สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่เกิน 1แสนบาทต่อปี

-ปีงบประมาณ 2564 เป็นอัตราเช่นเดียวกับปีก่อน จ่ายเดือนเว้นเดือน (6งวด) เริ่มตั้งแต่ตุลาคม 2563

2.เรื่องการรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่นที่เคยเป็นประเด็นก่อนหน้า ที่ประชุมมีมติตามคำวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คือ 1) คืนเงินที่เรียกเก็บจากผู้สูงอายุที่รับเงินซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น ซึ่งมีจำนวนประมาณ 1.5 หมื่นราย และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลังหาแนวทางดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือน หลังครม.พิจารณาเห็นชอบมติดังกล่าว   

2) ถอนฟ้องหรือระงับการบังคับคดีในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการดำเนินคดีเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไปแล้ว และ 3) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆเพื่อศึกษาแนวทางการกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์ในการจ่ายเบี้ยยังชีพฯแบบใหม่ให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกมิติ

3)เห็นชอบขยายเวลาการพักชำระหนี้ของลูกหนี้กองทุนผู้สูงอายุ ต่อไปอีก เป็นเวลา 6 เดือน จากที่จะหมดเวลาในเดือน 30 ก.ย.ปีนี้ ไปจนถึง 31 มี.ค. 2565

4)เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่3 (พ.ศ. 2566-2580) พร้อมรับสังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ ซึ่งประกอบแผนฯย่อย 1) เตรียมความพร้อมของประชากรก่อนวัยสูงอายุ 2) ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุทุกมิติอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม 3) ปฏิรูปและบูรณาการระบบบริหารเพื่อรองรับสูงวัยอย่างมีคุณภาพ 4) เพิ่มศักยภาพการวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมรองรับสังคมสูงวัย

ทั้งนี้ นายจุรินทร์ยังได้กล่าวว่า คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติมีความห่วงใยและขอเป็นกำลังใจให้แก่ผู้สูงอายุในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และจะกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคฯ ให้การดูแลผู้สูงอายุเป็นกรณีพิเศษ

ปี 2564 นี้ ประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ (Aged Society) แล้ว โดยมีการประมาณการว่ามีสัดส่วนผู้สูงอายุในช่วง 60 ปีขึ้นไปถึง 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่า 13 ล้านคน และคาดการณ์ว่า อีก 20 ปีข้างหน้า หรือปี 2583 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของคนไทยจะเป็นผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไปจะมีมากถึง 3.5 ล้านคน