UN ลงมติประณาม-เรียกร้องหยุดขายอาวุธให้กองทัพเมียนมา?!?เห็นด้วย 119 เสียง ไทย-ลาว-กัมพูชา-บรูไนงดออกเสียง

1812

วันเสาร์ที่ 19 มิ.ย. 2564 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มีการเคลื่อนไหวลงมติประณาม และเรียกร้องให้คว่ำบาตร หยุดขายอาวุธให้แก่รัฐบาลทหารเมียนมาเพื่อตอบโต้กองทัพเมียนมา ที่นำโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ที่ยึดอำนาจล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตั้งแต่เมื่อ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา นอกจากนั้นที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของยูเอ็น ยังเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี)และกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมาชุดปัจจุบันทั้งหมด

สำหรับการลงมติของสมัชชาใหญ่ยูเอ็นซึ่งมีสมาชิก 193 ประเทศ มีขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 18 มิ.ย.(ตามเวลาท้องถิ่น)ในนิวยอร์ก สหรัฐฯโดยมีชาติสมาชิก ได้ลงมติผ่านข้อเรียกร้องเหล่านี้ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 119 คัดค้าน 1 คือเบลารุส และงดออกเสียง 36 ประเทศ รวมทั้งรัสเซีย และจีน ในขณะที่ประเทศอื่นๆที่งดออกเสียงอ้างเหตุผลว่าเรื่องนี้เป็นกิจการภายในของประเทศเมียนมารวมทั้งประเทศไทย

ด้านประเทศไทยชี้แจงถึงการที่ไทยงดออกเสียงข้อมติ“ยูเอ็น”ระงับขายอาวุธให้เมียนมา เหตุเพราะเป็นมติเพิ่มเชื้อไฟ-ไม่คิดถึงผลกระทบปท.เพื่อนบ้าน ชี้ต้องเร่งสร้างความไว้ใจให้ทุกฝ่ายมาหันหน้าเจรจา มากกว่าหนุนให้เกิดความรุนแรงไม่ว่าจากฝ่ายใด

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า ข้อมตินี้ไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยหลายประการที่มีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเมียนมา ที่ถือเป็นปัญหาความมั่นคงของไทยด้วย และข้อมตินี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิดเห็นของผู้ที่ไม่ได้มีพรมแดนติดกับเมียนมาเหมือนไทย  การกระทําทุกอย่างของประเทศไทยจึงต้องทําอย่างรอบคอบ และต้องคํานึงผลที่จะตามมาในทุกด้าน อีกทั้ง ข้อมตินี้ไม่ได้คํานึงถึงความซับซ้อนทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของเมียนมา และสถานการณ์จริงๆในเมียนมาทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์วันที่ 1 ก.พ.2564 รวมถึงเป็นข้อมติที่ไม่ได้สะท้อนถึงเจตนารมณ์และความพยายามของอาเซียน ซึ่งกําลังดําเนินอยู่ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในเมียนมา ด้วยการหันหน้าเจรจา

สิ่งที่ประชาคมโลกจะต้องทําเพื่อนําไปสู่การแก้ปัญหาในเมียนมาได้อย่างแท้จริง จึงไม่ใช่แค่กล่าวโทษ หรือ ประณามฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดว่าเป็นฝ่ายผิด แต่จะต้องเร่งหาวิธีทางสันติสุขที่จะสยบการสู้รบด้วยการฟื้นฟูและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของทุกฝ่ายในเมียนมา รวมถึงเร่งสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับทุกฝ่าย ให้หันหน้ามาเจราจากันได้ ดังนั้น ประชาคมโลกไม่ควรกระทําการใดๆ ที่เสมือนโยนเชื้อไฟเข้าไปในกองเพลิง แต่สามารถมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างบรรยากาศ หรือสภาวะที่เอื้ออำนวยให้ทุกฝ่ายในความขัดแย้งในเมียนมา หันหน้ามาเจรจากันได้

นายธานี กล่าวว่า “สิ่งที่ไทยห่วงกังวลและให้ความสําคัญที่สุดคือประชาชนชาวเมียนมาที่เป็นผู้รับเคราะห์จากการสู้รบจากความขัดแย้งทางการเมืองของหลายฝ่ายในเมียนมาเป็นเวลานานแล้ว และความลําบากยากเข็ญนั้นกําลังทวีความรุนแรงขึ้น พวกเขาไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นปกติสุข สามารถทํามาหาเลี้ยงชีพ มีกินมีใช้เยี่ยงประชาชนในประเทศอื่นๆ รอบข้าง ซึ่งไทยไม่เห็นว่าร่างมติดังกล่าวเป็นแนวทางที่แท้จริงที่จะนำไปสู่การสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนที่ชาวเมียนมาแสวงหา”  

สำหรับประเทศไทยได้ดําเนินการเพื่อนําไปสู่สันติภาพในเมียนมาอยู่แล้วในหลายๆทาง  ทั้งที่ร่วมกับอาเซียน ทั้งในภาคทวิภาคี และพหุภาคี นอกจากนี้ ไทยไม่เคยนิ่งนอนใจในเรื่องความไม่สงบในเมียนมา อีกทั้งการดําเนินการเหล่านั้นไม่ได้มีเจตนาแอบแฝงใดๆ นอกจากจะทําสิ่งที่เป็นประโยชน์จริงๆ ซึ่งจะทําให้ทุกฝ่ายเข้ามาสู่ขบวนการเจรจาสันติภาพเพราะนั่นคือวิธีเดียวเท่านั้นที่จะยุติความไม่สงบในเมียนมาได้

เรื่องอาเซียนที่พยายามที่จะแก้วิกฤติเมียนมา ย่อมเห็นแตกต่างกันได้ตามบริบทของความเข้าใจ บทพื้นฐานที่ต่างกัน สื่อหลายสำนักรวมทั้งมหาอำนาจสหรัฐและประเทศพันธมิตร ไม่ประสบความสำเร็จที่จะลากดึงอาเซียนเข้าสู่ กระแสการปลุกเร้าต่อต้านรัฐบาลกลางเมียนมาอย่างเบ็ดเสร็จ 

แม้จะมี “ฉันทามติร่วม 5 ข้อ” จากการประชุมสุดยอดพิเศษของผู้นำทั้ง 10 ประเทศ เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2564 ที่กรุงจาการ์ตา แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม เพราะอาเซียนกลุ่มหนึ่งต้องการจะกดดันมิน อ่อง หล่ายเชิงบีบบังคับและเป็นที่พอใจของสหรัฐและตะวันตก แต่อีกกลุ่มหนึ่งรวมถึงไทย ต้องการจะใช้การทูตแบบนิ่มนวลและไม่โฉ่งฉ่าง เพราะไม่อยากจะดันให้ทหารเมียนมาติดกำแพง ซึ่งจะยิ่งทำให้การแก้ปัญหายากเย็นยิ่งขึ้น ที่สำคัญการรักษาความเป็นกลางไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้าน เป็นสิ่งที่ถือเป็นหลักที่ร้อยเรียงให้อาเซียนยังเป็นปึกแผ่นอยู่ได้       

การลงมติในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เห็นชัดแล้วว่าอาเซียน 10 ประเทศแบ่งเป็น 2 กลุ่มไทยจับมือลาว, กัมพูชา และบรูไน “งดออกเสียง” มติสหประชาชาติให้ “กองทัพเมียนมาคืนประชาธิปไตยแก่ประชาชน” และเรียกร้องให้ประเทศสมาชิก “ป้องกันไม่ให้อาวุธยุทโธปกรณ์ไหลเข้าเมียนมา”เป็นการลงมติแนวเดียวกับจีนและรัสเซีย

ส่วนอีก 6 ประเทศอาเซียนยกมือให้ร่างมติเดียวกันนี้ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม, เมียนมา และฟิลิปปินส์ ซึ่งไปทางเดียวกับสหรัฐฯ และยุโรปส่วนใหญ่ ซึ่งตัวแทนเมียนมาที่ลงนามมีสถานะถูกต้องหรือไม่? ฉะนั้นความจริงแล้วคือเสียงก้ำกึ่ง          

มตินี้ผ่านความเห็นชอบของ 119 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ประเทศที่งดออกเสียงมี 36 อีก 37 ประเทศไม่เข้าประชุม ประเทศเดียวที่ยกมือค้านคือเบลารุส

ทูตเมียนมาประจำยูเอ็น จ่อ โม ตุน (Kyaw Moe Tun) ที่พูดแทนคณะต่อต้านของเมียนมาบอกนักข่าวว่า“มตินี้ต่ำกว่าความคาดหวังของเรา เพราะไม่ได้มีข้อความที่ระบุให้มีการห้ามส่งอาวุธเข้าเมียนมา (arms embargo)” ร่างเดิมที่เสนอมีการกำหนดให้ห้ามส่งอาวุธทุกรูปแบบเข้าเมียนมา เพื่อระงับการใช้กำลังปราบปรามประชาชนของกองทัพ แต่มีการแก้ไขทบทวนถ้อยคำให้เบาลงหลังจากมีการถกกันนอกรอบหลายครั้ง ทูตเมียนมาบอกว่า ผิดหวังที่สหประชาชาติใช้เวลา 3 เดือนกว่าที่จะผ่านมติที่มีเนื้อหาถูกลดทอนความเข้มข้นลงอย่างมาก

จีนบอกว่าที่งดออกเสียงเพราะไม่เห็นด้วยกับมติสหประชาชาติ ที่มุ่งจดจ้องเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง รัสเซียก็ไม่ออกเสียง ด้วยเหตุที่ว่ามตินี้ไม่ช่วยแก้ไขวิกฤติของเมียนมาแต่อย่างใด อาเซียนหลายประเทศขอให้ตัดข้อความเรื่อง arms embargo  ออกไป เป็นที่มาของการเขียนใหม่เป็น “prevent the flow of arms” ซึ่งมีความหมายที่อ่อนลงไปอย่างเห็นได้ชัด

มตินี้ยังเรียกร้องให้อาเซียนเดินหน้าแสวงหาทางออกให้เมียนมาบนพื้นฐานของ “ฉันทามติ 5 ข้อ” จากการประชุมผู้นำอาเซียนเมื่อวันที่ 25 เมษายนปีนี้ ที่กรุงจาการ์ตาแต่ในความเป็นจริงยังเดินหน้าไปช้ามาก แม้เรื่องที่จะตั้ง “ทูตพิเศษอาเซียนว่าด้วยกิจกรรมเมียนมา” ก็ยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ เพราะมีความเห็นต่างกันว่า ทูตพิเศษที่ว่านี้ควรจะเป็นคนเดียวหรือเป็นคณะและมีขอบเขตแห่งภารกิจเพียงใด       

ล่าสุดที่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ที่ประเทศจีนก็ยังไม่สามารถจะตกผลึกว่าจะหาทางออกที่เป็นรูปธรรมได้อย่างไร      

ผลการลงมติประเด็นเมียนมาที่สหประชาชาติเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ก็สะท้อนถึงความยุ่งยากสลับซับซ้อนของวิกฤติเมียนมาที่ยากจะหาข้อยุติได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการของสหรัฐและชาติตะวันตก