หลังศาลล้มละลายกลางไฟเขียวแผนฟื้นฟูการบินไทย ผู้บริหารแผนและกรรมการเจ้าหนี้เร่งประชุมด่วน แนวทางหาแหล่งเงิน 5 หมื่นล้าน ระดม 4 รัฐวิสาหกิจ ทั้ง ปตท.และสถาบันการเงิน เสริมสภาพคล่อง “ชาญศิลป์” เผยต้องเร่งหากระแสเงินสด เพราะเหลือไม่ถึงสิ้นปีนี้ ยันพร้อมกลับมาบินได้ 85% ในปี 2568 ขณะที่คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการฯ มีมติอนุมัติการลาออกของนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร จากตำแหน่งรักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ดีดี โดยยังดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทฯและผู้ทำแผนฟื้นฟู ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่ 1 ก.ค.2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการและแต่งตั้งรักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แล้วแต่เหตุใดจะถึงก่อน
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ศาลล้มละลายกลาง ได้มี คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และแผนที่แก้ไข ตามมติของ ที่ประชุมเจ้าหนี้ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ซึ่งมีผลให้ ผู้บริหารแผน ที่ถูกเสนอชื่อตามแผนฟื้นฟูกิจการและแผนที่แก้ไข ประกอบด้วย
1.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย 2. นายพรชัย ฐีระเวช รองปลัดกระทรวงการคลัง 3. นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และกรรมการธนาคารกรุงเทพ 4. นายไกรสร บารมีอวยชัย อดีตอธิบดีกรมบังคับคดี และที่ปรึกษาด้านกฎหมายธนาคารกรุงเทพ 5.นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย (THAI) มีอำนาจเต็มในการบริหารแผนฟื้นฟูทันที
ทั้งนี้ได้เริ่มประชุมร่วมระหว่างผู้บริหารแผน กับคณะกรรมการเจ้าหนี้ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ กระทรวงการคลัง สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัดสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำกัด บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และธนาคารออมสินโดยไม่รอช้า เพื่อให้แผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยสามารถเคลื่อนไปข้างหน้าได้เร็วที่สุด เพื่อสรุปแนวทางการลดทุนและเพิ่มทุน
ขณะเดียวกันได้พิจารณาใน รายละเอียดการเดินหน้าธุรกิจเช่นการจัดเส้นทางการบิน รวมทั้งเรื่องพนักงาน ที่สำคัญเพื่อให้ธุรกิจของการบินไทยเดินหน้าต่อไปอย่างต่อเนื่อง ตามแผนจัดหาเงินทุนใหม่จำนวน 50,000 ล้านบาท ใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย
ทั้งนี้ แนวทางการจัดหาแหล่งเงินทุนใหม่ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจจำนวน 5 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นสินเชื่อใหม่ทั้งหมด มาจาก 2 ส่วนคือ
-2.5 หมื่นล้านบาท มาจากการสนับสนุนของภาครัฐ หรือบุคคลใดๆ ที่ภาครัฐและผู้บริหารแผนได้ร่วมกันจัดหา ซึ่งอาจอยู่ในรูปของเงินให้กู้ยืม และ/หรือ การคํ้าประกัน ซึ่งมีเวลาชำระคืนสินเชื่อใหม่ไม่เกิน 6 ปี เริ่มชำระเงินต้นตั้งแต่ปีที่ 3 นับจากวันที่เริ่มเบิกใช้สินเชื่อ ขณะที่ภาครัฐ หรือบุคคลใดๆ ที่สนับสนุนสินเชื่อใหม่ มีสิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของการบินไทยในราคาหุ้นละ2.5452 บาท
-ส่วนอีก 2.5 หมื่นล้านบาท มาจากการสนับสนุนจากเอกชนและเจ้าหนี้สถาบันการเงิน ซึ่งมีเวลาชำระคืนสินเชื่อใหม่ไม่เกิน 6 ปี เริ่มชำระเงินต้นตั้งแต่ปีที่ 3 นับจากวันที่เริ่มเบิกใช้สินเชื่อ ขณะที่ภาครัฐหรือบุคคลใดๆที่สนับสนุนสินเชื่อใหม่ มีสิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของการบินไทยในราคาหุ้นละ 2.5452 บาท
“เรื่องแหล่งเงินทุนใหม่จากภาครัฐตอนนี้เท่าที่ทราบจะมีตัวแทนมาร่วมกันลงเงิน เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน เอ็กซิมแบงก์ และธนาคารกรุงไทย และต้องหารือเพื่อจะดูว่ามีเจ้าหนี้แบงก์เอกชนรายไหนจะร่วมลงทุนเข้ามาเท่าไรและลงทุนอย่างไร”
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ซึ่งล่าสุดเป็นกรรมการผู้บริหารแผนฯเปิดเผยว่า ความท้าทายของการบินไทยขณะนี้ คือ เรื่องการหากระแสเงินสดมาเสริมสภาพคล่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาเจ้าหนี้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้สนใจที่จะเป็นแหล่งเงินใหม่เข้ามา ส่วนรูปแบบนั้นอาจจะเป็นการปล่อยกู้ร่วม (ซินดิเคตโลน) หรือมาจากแหล่งเดียวก็ได้ แหล่งเงินใหม่จะมีทั้งลดทุน เพิ่มทุน เงินกู้ ภายใต้กรอบความต้องการเม็ดเงินประมาณ 50,000 ล้านบาทในช่วง 1-3ปีนี้ ซึ่งจะทยอยเข้ามาตามความต้องการใช้
ตามแผนของแหล่งเงินดังกล่าวจะมาจากภาครัฐและเอกชน ฝ่ายละครึ่งแต่ยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งการบินไทยสามารถนำทรัพย์สินของการบินไทยเป็นหลักทรัพย์คํ้าประกันกับธนาคาร เช่น สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดี โดยอยู่ระหว่างหารือ คาดว่าจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพราะกระแสเงินสดของการบินไทยเหลือยังไม่ถึงสิ้นปีนี้ รวมถึงการขายทรัพย์สินรอง เช่น เครื่องบิน เครื่องยนต์ และสินทรัพย์อื่นที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาของแผนฟื้นฟูกิจการนั้น 5ปี สามารถขยายได้ 2 ครั้ง ซึ่งการบินไทยมองถึงการเพิ่มรายได้โดยจะกลับมาบินเชิงพาณิชย์ในไตรมาสสามปีนี้ จะนำร่องด้วย ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ประมาณ 30-35% ไตรมาส 4ประมาณ 40%ขึ้นไป โดยสิ้นปี 2568 จะกลับมาบินได้ราว 85% ขณะเดียวกัน ยังคงเดินหน้าตามแผนลดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าลดค่าใช้จ่าย 15% การบินไทยจะอยู่ได้ 3-5ปี ภายหลังจากที่ผ่านมาได้ดำเนินการลดค่าใช้จ่ายเรื่องคน และสวัสดิการไปแล้ว กว่า 50%