ศาลอาญาคดีทุจริตฯรับคำฟ้อง BTS!?!ปมรฟม.แก้เกณฑ์คัดเลือกและล้มประมูลรถไฟฟ้าสีส้ม จ่อฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหาย

2280

ข้อพิพาทคดีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยืดเยื้อมากว่า 6 เดือน เริ่มเห็นเค้าลางว่าจะได้รับการพิจารณาสะสางเพื่อความโปร่งใส เพราะกระทบเครดิตความเชื่อมั่นของเอกชนในการเข้ารับงานกับภาครัฐ ภายใต้โครงการร่วมทุนขนาดใหญ่ ว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม และในวันนี้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำสั่งรับคำฟ้องของ BTS กรณีผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตร 36 รวม 7 คน แก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และยกเลิกการประมูลอย่างไม่ชอบธรรม  โดยศาลฯ จะเปิดโอกาสให้จำเลยส่งคำแถลงภายใน 15 วัน  โดยศาลฯนัดไต่สวนวันที่  27 ก.ค.2564 นอกจากนี้ยังมีคดีปกครองที่ศาลรับฟ้องแล้วแต่ยังไม่นัดวันพิจารณาคดี ทั้งนี้ทางบีทีเอสจะดำเนินการยื่นฟ้องทางแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายต่อไปโดยเร็ว

วันนี้ 5 พ.ค.2564 พันตำรวจเอกสุชาติ​  วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษา ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่าวันนี้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิจารณารับคำฟ้องกรณี ที่บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ยื่นฟ้องผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย​ และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) 

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 15 มี.ค.64 กลุ่ม BTS ยื่นฟ้องผู้ว่าการ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตร 36 รวม 7 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางกรณีการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 128,128 ล้านบาท ในคดีหมายเลขดำที่ อท 30/64 ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 และศาลได้นัดทั้งสองฝ่ายฟังคำสั่งในวันนี้

ทั้งนี้ศาลฯได้นัดไต่สวนในวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 แต่ทั้งนี้จะมีการพิจารณา การเลื่อนวันอีกครั้ง เนื่องจากต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยก่อนนัดไต่สวน ศาลฯ ได้เปิดให้ รฟม. ส่งคำคัดค้าน ภายใน 15 วันนับจากวันนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะทำหรือไม่ก็ได้ 

ขณะเดียวกันศาลได้มีการสอบถาม​ กรณีที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ทำการส่งเรื่องไปยัง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)ให้สอบสวนการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม 

ทางทนายความบีทีเอส​ ยืนยันไปว่า มีข้อเท็จจริงบางส่วนที่สอดคล้องกัน แต่เป็นการฟ้องร้องของบุคลลภายนอกที่หยิบยกประเด็นการฮั้วประมูลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งศาลฯ จะนำประเด็นนี้ มาประกอบการพิจารณาด้วย 

ส่วน รฟม. จะมีการเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มอีกรอบหรือไม่นั้น อยู่ที่การตัดสินใจของ รฟม. แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ถูกต้องเท่านั้น คาดว่าคดีนี้ จะมีความชัดเจนในช่วงปลายปี 

ด้านนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ในฐานะทนายความ กล่าวว่า​ ขณะนี้บีทีเอสได้รับข้อมูลใหม่ ว่ามีคณะกรรมการอีก 1 ชุด ซึ่งเป็นคณะกรรมการ ตามมาตรา 36 ได้ลงนามร่วมกันยกเลิกการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มในครั้งที่ผ่านมา ทำให้จะต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกับบุคคลกลุ่มนี้ด้วย เพราะถือว่ามีส่วนทำให้โครงการเสียหาย  ซึ่งจะส่งข้อมูลทั้งหมดให้ศาลพิจารณาต่อไป 

ทั้งนี้ส่วนการพิจารณา คดีทางแพ่งด้านความเสียหายของบีทีเอสนั้น ทีมทนายความอยู่ระหว่างประเมินความเสียหายทั้งหมด และจะส่งให้ศาลแพ่งพิจารณาให้เร็วที่สุด สำหรับคดีของศาลปกครอง ที่ทางบีทีเอสยื่นฟ้องคณะกรรมการตามมาตรา 36 นั้น ศาลได้รับไต่สวนทั้งหมดแล้ว แต่ยังไม่ได้นัดวันพิจารณาคดี 

ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้า โครงการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งก่อหน้านี้ รฟม.ได้เริ่มกระบวนการประกวดราคารอบใหม่ โดยจะประกาศเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อนำมาประกอบการจัดทำร่างเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการ(RFP)

อย่างไรก็ตามยอมรับว่าจากเดิมที่กระบวนการจะแล้วเสร็จ สามารถขายซองประกวดราคารอบใหม่ได้ในปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา  แต่สถานการณ์การระบาด ของไวรัสโควิด- 19 ระลอก 3 ทำให้เป็นอุปสรรค โดยเฉพาะการที่ไม่สามารถเรียกประชุมคณะกรรมการมาตรา 36 ได้ จึงจำเป็นต้องเลื่อนกระบวนการทั้งหมดออกไปก่อน 

อย่างไรก็ตามส่วนประเด็น คดี ที่บีทีเอส.ยื่นฟ้องผู้บริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณียกเลิกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งแรกนั้น ความคืบหน้าวันนี้ เป็นกรณีที่ศาลอาญา ทำการรับไว้ไต่สวนเท่านั้น  ไม่ใช่การประทับรับฟ้อง ซึ่งก็เป็นกระบวนการตามปกติของศาลอาญา   ซึ่งส่วนนี้ ไม่มีผลกระทบต่อโครงการ ประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม/ตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) แต่อย่างใด