กระทรวงพลังงานเด้งรับลูกนายกฯ เร่งออกมาตรการบรรเทาค่าครองชีพประชาชนรับมือวิกฤติโควิด-19 รอบใหม่ ในระดับครัวเรือนลดค่าไฟฟ้า 2 เดือน ใช้วงเงินประมาณ 8,000 ล้านบาท สุพัฒนพงษ์ฯมอบ กกพ.ขยายมาตรการยกเว้นเก็บ ค่าMinimum Charge อุ้มผู้ประกอบการโรงแรมประเดิมก่อน พร้อมมอบ กฟผ.และ ปตท.หามาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลส่วนอื่นๆ รวมทั้งเร่งลงทุนกระตุ้น ศก.
วันที่ 5 พ.ค.2564 การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะมีการพิจารณามาตรการเยียวยาประชาชนจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอก 3 นั้น สำนักงานสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะนำข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน เรื่องมาตรการลดค่าไฟฟ้า ระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษถาคม-มิถุนายน 2564 เพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาล ใช้งบประมาณรวม 8,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นเงินของพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ตามกรอบการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นมาตรการรูปแบบเดียวกับการช่วยเหลือในการระบาดโควิดระลอก 2 ที่ผ่านมา โดยใช้ค่าไฟฐานเดือนเมษายน 2564 เป็นเกณฑ์ในการคำนวณ แบ่งเป็น 3 มาตรการ
มาตรการที่ 1 ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย ประเภท 1.1 (ระบุไว้ที่หน้าบิลเรียกเก็บค่าไฟฟ้า) ได้รับค่าไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก รวมค่าบริการ โดยให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564
มาตรการที่ 2 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย ประเภท 1.2 และ 1.3 ได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 โดยกรณีการใช้ไฟฟ้าประจำเดือนที่ได้รับสิทธิ มีหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า หรือเท่ากับหน่วยประจำเดือนเมษายน(เดือนฐาน) ผู้ใช้ไฟฟ้าคิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริงประจำเดือนนั้นๆ
กรณีการใช้ไฟฟ้าประจำเดือนที่ได้รับสิทธิ มีจำนวนหน่วยมากกว่าเดือนเมษายน (เดือนฐาน) ผู้ใช้ไฟฟ้าจะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม มีแนวดำเนินการดังนี้ หากการใช้ไฟฟ้าประจำเดือนที่ได้รับสิทธิไม่เกิน 500 หน่วย ให้คิดหน่วยเท่ากับบิลค่าไฟฟ้าประจำเดือนเมษายน แต่หากการใช้ไฟฟ้าประจำเดือนที่ได้รับสิทธิ มากกว่า 500 หน่วย แต่ไม่เกิน 1,000 หน่วย ให้คิดหน่วยเท่ากับบิลค่าไฟฟ้าประจำเดือนเมษายน บวกด้วยหน่วยที่เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนในอัตรา 50%
และหากการใช้ไฟฟ้าประจำเดือนได้สิทธิ มากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดหน่วยเท่ากับบิลค่าไฟฟ้าประจำเดือนเมษายน บวกด้วยหน่วยที่เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ในอัตรา 70%
มาตรการที่ 3 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ากิจการขนาดเล็ก ประเภท 2.1 และ 2.2 (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ได้รับค่าไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก (รวมค่าบริการ) โดยให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
ในส่วนของการดูแลภาคธุรกิจขนาดใหญ่นั้น
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดเร่งหามาตรการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน
นอกจากนี้ รมว.พลังงานยังได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาต่ออายุ การขยายมาตรการผ่อนผันยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) เป็นการชั่วคราวให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ หรือครอบคลุมประเภทผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 3 (กิจการขนาดกลาง) ประเภทที่ 4 (กิจการขนาดใหญ่) ประเภทที่ 5 (กิจการเฉพาะอย่าง) ประเภทที่ 6 (องค์กรไม่แสวงกำไร) และประเภทที่ 7 (กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร) จากเดิมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทดังกล่าวต้องเสียค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (Demand Charge) ซึ่งคิดจากค่าไฟฟ้าในอัตราขั้นต่ำในช่วงภาวะเศรษฐกิจปกติ มาเป็นการเสียค่าไฟฟ้าตามจริงในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง ซี่งมาตรการนี้สิ้นสุดการช่วยเหลือเดือน เม.ย. 2564 ซึ่งคาดว่าน่าจะต่ออายุอย่างน้อย 3 เดือน หรือเดือน พ.ค.-ก.ค. 64 กรณีนี้ก็จะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะโรงแรมที่ได้รับผลกระทบอีกระลอกหนึ่งจากการระบาดรอบนี้
นายกุลิศกล่าวว่า“กระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาทุกแนวทางว่าจะมีมาตรการลดค่าครองชีพเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบของประชาชนได้อย่างไร โดยจะเร่งประชุมหาข้อสรุปโดยเร็ว โดยเฉพาะต้องยอมรับว่ากลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง รมว.พลังงาน จึงสั่งให้ต่ออายุ ยกเว้น Demand Charge ไปก่อน”