ศึกเอาคืน! เปิดปม “ผอ.นิด้า” สั่งสอบ “อ.อานนท์” เหตุเคยแฉอธิการบดี ทุจริตสรรหาผลประโยชน์ทับซ้อนในมหาลัย!?
จากกรณีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่องการรัฐประหาร ทำให้ต่อมาถูกฝ่ายม็อบหรือที่เรียกว่า สามกีบ เยาวชนปลดแอกรุมรีพอร์ตนั้น และได้มีการล่ารายชื่อให้ทาง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมอ.อานนท์ถึงกรณีดังกล่าว
ต่อมาทาง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) โดย ศาสตราจารย์ ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ได้มีการสั่งการให้มีการดำเนินการตั้งคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ และจรรยาบรรณของบุคลากรสถาบัน
ล่าสุดทางด้าน นายนพดล พรหมภาสิต เลขาธิการกลุ่ม ศชอ. ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุข้อความว่า
เราว่า ดร.อานนท์ โดนผู้บริหารนิด้าเอาคืนแล้วหล่ะ เพราะ ดร.อานนท์ เคยร้องเรียนเรื่องนี้ไปที่ ป.ป.ช.
ลองอ่าน บทความที่ดร.บอย เขียนไว้ เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2561 ลงใน Manager Online แล้วจะ GET
“ธรรมาภิบาลอันเสื่อมทรามของสถาบันอุดมศึกษาไทย” เผยแพร่: 22 พ.ย. 2561 14:54 โดย: ผศ.ดร.
อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ M.Sc. (Business Analytics and Data Science) คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ธรรมาภิบาลอันเสื่อมทรามในสถาบันอุดมศึกษานั้นเกิดจากผลประโยชน์ทับซ้อนในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการเกาหลังกันเองในการสรรหาอธิการบดี/กรรมการสภามหาวิทยาลัย ดังแสดงในรูปด้านล่างนี้
อธิการบดีหรือผู้วางแผนจะเป็นอธิการบดี มักจะเป็นผู้บริหารชุดเดิม ที่เตรียมจะสืบทอดอำนาจ จึงต้องมีการ lobby กรรมการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยเพื่อให้เลือกกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่เป็นพวกของตน โดย บางสถาบันอธิการบดีใช้วิธีการโทรศัพท์บอกเจ้าหน้าที่/อาจารย์ให้เลือกกรรมการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยคนนั้นคนนี้ตามโพยเพื่อให้ได้กรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนบริหาร/ผู้แทนคณาจารย์/ผู้แทนเจ้าหน้าที่ ตามสเปคหรือตามโพยที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เหตุใดจึงต้องทำเช่นนั้น เมื่อเอ็งเลือกข้ามา ข้าไปเป็นกรรมการสรรหาอธิการบดี ข้าก็จะเลือกเอ็งกลับ เกาหลังกันเอง เป็นการต่างตอบแทน และถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน
แทบทุกมหาวิทยาลัยมีลักษณะดังเช่นรูปภาพที่นำเสนอไปข้างต้น จึงเลือกกันวนไปมาต่างตอบแทน
อันที่จริงสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจมากในการอนุมัติการใช้เงินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินงบประมาณ หรือเงินนอกงบประมาณ บางมหาวิทยาลัยมีเงินนอกงบประมาณเช่นเงินรายได้สูงมาก เช่น การให้เช่าที่ดิน หรือในบางคณะก็มีเงินทุนคณะซึ่งเป็นเงินรายได้ที่ไม่ได้มาจากงบประมาณแผ่นดิน บางคณะมีเงินทุนคณะไม่ต่ำกว่าสองพันหรือสามพันล้านบาท (แน่นอนคณะบางคณะและบางมหาวิทยาลัยก็จนกรอบเลยก็มี) การที่ ป.ป.ช.ให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยแสดงรายการทรัพย์สินนั้นแม้จะสร้างความลำบากบ้าง แต่ก็ไม่ควรดีดดิ้นเอานักศึกษามาเป็นตัวประกันที่จะไม่ยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สิน หากมหาวิทยาลัยไม่เป็นตัวอย่างที่ดีในด้านธรรมาภิบาลแก่สังคมแล้วจะทำหน้าที่ในการสร้างคนที่ดีและเก่งให้กับประเทศไทยได้อย่างไร ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีการโกงกินกันแบบง่าย ๆ เงียบ ๆ
อธิการบดีและผู้บริหารขนพรรคพวกกันไปลงนาม MOU ในต่างประเทศแทบจะทั้งปีทั้งชาติ กลับมาแล้วก็ไม่ได้ทำอะไรต่อไปให้เกิดประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น นั่ง Business Class เสียดาย ผลาญเงินชาติเป็นว่าเล่น
การก่อสร้างต่าง ๆ มีนอกมีใน เรียกสินบาดคาดสินบนกันให้กระฉ่อนจนตึกถล่มในมหาวิทยาลัยก็เคยมีกันมาแล้ว
บางคณะเป็นคณบดีสามปีใช้เงินทุนคณะอันเป็นเงินทุนนอกงบประมาณอันเกิดจากการหารายได้ได้แล้วไม่ต้องส่งคืนคลัง แจกทุนวิจัยอาจารย์ในคณะกัน เอามาตกแต่งห้องเรียนหมดเป็นร้อย ๆ ล้าน มีบางมหาวิทยาลัยเอาเงินทุนคณะไปลงทุนซื้ออาคารพาณิชย์ของพรรคพวกกัน พวกอาจารย์หมอขนอุปกรณ์ในห้องผ่าตัดราคาแพงของหลวงไปใช้ในคลินิกส่วนตัวหรือแม้แต่โรงพยาบาลเอกชนก็ช่างทำกันได้ โดยไม่รู้สึกรู้สาอันใด มีเล่าให้ฟังได้อีกมากมาย
พอทำผิดก็ออกมาโต้แย้งว่าไม่ผิดกฎหมาย ผลประโยชน์ทับซ้อนนั้นทำได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้
ขอยกตัวอย่างเช่นการสรรหาอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) ดังแสดงในรูปด้านล่างนี้
ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม ผู้เป็นเจ้าของผลงานวิจัยเรื่อง การบริหารการเงินของวัดในประเทศไทย: ความสอดคล้องตามหลักธรรมาภิบาล และเป็นผู้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้วัดต่าง ๆ มีความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลในเรื่องเงินทอง และกลับมีผลประโยชน์ทับซ้อนเสียเอง อันอาจผิดหลักธรรมาภิบาลในกระบวนการสรรหาอธิการบดี/รองอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ในช่วงแรก ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม ได้รับการสรรหาจากประชาคมนิด้าไปเป็นกรรมการสรรหาอธิการบดี และมี ศ.ดร.วิสาขา ภู่จินดา ได้รับการสรรหาด้วยเช่นกัน กระบวนการสรรหาอธิการบดียังไม่ทันได้จบสิ้นลง ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม และ ศ.ดร.วิสาขา ภู่จินดา ก็ลงนามยินยอมรับการสรรหาเป็นรองอธิการบดี ซึ่งมี รศ.ดร.อาวีวรรณ ปัญญาโกเมศ ภรรยาของ ศ. ดร. กำพล ปัญญาโกเมศ เป็นกรรมการสรรหารองอธิการบดี และกรรมการสรรหารองอธิการบดีมีหน้าที่ทำ short list 12 รายชื่อ เพื่อให้ว่าที่อธิการบดีที่ได้รับการสรรหาโดยกรรมการสรรหาอธิการบดี (ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม และ ศ.ดร.วิสาขา ภู่จินดา) เลือก 4 รายชื่อ จาก 12 รายชื่อ มาเป็นรองอธิการบดี ซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อนชัดเจน และเป็นกระบวนการสรรหาอธิการบดีที่ขาดความชอบธรรม จนสังคมควรตั้งข้อสงสัยได้ว่า บุคคลเหล่านี้มีธรรมาภิบาลเพียงพอที่จะบริหารสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ซึ่งก่อตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรหรือไม่ และจะทำตามพระราชดำริได้อย่างไร โปรดอย่าลืมว่าในหลวง ร. 9 ทรงเคยมีพระราชดำรัสว่าใครโกงแม้แต่นิดเดียวก็ขอให้มีอันเป็นไป
ทำไม ศ.ดร.กำพล ปัญญาโกเมศจึงต้องเลือก ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม ซึ่งก็ทราบอยู่แล้วว่าจะเกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนและทำให้กระบวนการสรรหาอธิการบดีขาดความชอบธรรม แต่ก็ยังเลือก ทั้ง ๆ ที่มีตัวเลือกตั้ง 12 ตัวเลือก แต่ไม่เลือก ไปเลือกตัวเลือกที่มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน หรือได้ไปตกลงแลกเปลี่ยนอะไรกันเอาไว้ก่อนล่วงหน้าหรือไม่ สังคมก็มีสิทธิจะถามได้เช่นกัน การออกมาเรียกร้องให้วัดต่าง ๆ มีธรรมาภิบาล แต่กลับทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับหลักธรรมาภิบาลเสียเอง ไม่รู้สึกขัดแย้งในตัวเองบ้างหรือ นิด้า มีนักการเมืองมากมายสำเร็จการศึกษาออกไปจากนิด้า เช่น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ภูมิ สาระผล และอื่น ๆ อีกมากหากนักการเมืองไม่ดีจะโกงการสรรหา/โกงการเลือกตั้ง หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนก็จะอ้างได้ว่าอธิการบดีนิด้าก็ทำเช่นกัน แล้วนิด้าจะมาสอนเรื่องโตไปไม่โกงได้อย่างไร ในเมื่อภายในสถาบันก็ยังมีปัญหา
ผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นที่มาเป็นธรรมาภิบาลอันเสื่อมโทรม ไม่น่าเชื่อว่าคนมีการศึกษาสูงก็ขาดจิตสำนึก ดังเช่น การที่ ศ.ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ ทำจดหมายตอบประธานสภาคณาจารย์ว่าการสรรหาถึงแม้จะมีผลประโยชน์ทับซ้อนก็ไม่ได้ผิดกฎหมาย พ.ร.บ.นิด้า และระเบียบในการสรรหาแต่อย่างไร ในแง่จริยธรรมซึ่งสูงกว่ากฎหมายได้เขียนไว้ชัดเจนว่าห้ามมีผลประโยชน์ทับซ้อน ดังเช่น ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ได้กล่าวไว้ว่า ข้าราชการต้องละเว้นจากการแสวงหาประโยชน์ที่มิชอบ โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่และ ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม แม้กระทั่งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์เองก็มี คู่มือผลประโยชน์ทับซ้อน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พศ. 2561 ถ้ามีแล้วไม่ทำตามตั้งแต่ระดับอธิการบดีลงมาก็ไม่สมควรมี ควรนำไปเผาทิ้งอย่าให้อายนักศึกษาที่ต้องสอนเขาให้เป็นคนดี
หากพิจารณาในแง่กฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ หมวด ๖ ว่าด้วย การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ในมาตรา ๑๒๖ ได้เขียนไว้ว่า
นอกจากเจ้าพนักงานของรัฐที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ห้ามมิให้กรรมการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และเจ้าพนักงานของรัฐที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศกำหนด มีผลประโยชน์ทับซ้อนในรูปแบบต่างๆ
เจ้าพนักงานของรัฐที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศกำหนด ได้รวมอธิการบดี อันเป็นตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานระดับกรม ดังเช่นทุกครั้งที่มีการปฏิวัติรัฐประหาร อธิการบดีทุกมหาวิทยาลัยต้องไปรายงานตัว เพราะถือว่าเป็นหัวหน้าหน่วยงานระดับกรม และรองอธิการบดีที่ถูกกำหนดให้รายงานบัญชีทรัพย์สินก็น่าจะถือว่าเป็น เจ้าพนักงานของรัฐตาม มาตรา 126 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. 2561 เช่นกัน
ทั้งนี้ มาตรา 126 ห้ามมีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น การเป็นคู่สัญญา การเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น การเป็นกรรมการ/ที่ปรึกษาที่อาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนและมีส่วนได้เสียต่างๆ การรับสัมปทานที่จะมีผลประโยชน์ทับซ้อน เจตนารมณ์ของมาตรา 126 คือการห้ามเจ้าพนักงานของรัฐตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.ป.ป.ช. มีผลประโยชน์ทับซ้อนโดยเด็ดขาด
นอกจากนี้ มาตรา 126 ยังกำหนดว่าให้ ครอบคลุมคู่สมรสด้วย ดังนั้นคู่สมรสก็ต้องไม่เข้ามามีผลประโยชน์ทับซ้อนในการเป็นกรรมการ ให้รวมกิ๊กหรือการอยู่กินฉันสามีภรรยาแม้ไม่จดทะเบียนสมรสด้วย ในมาตรา 128 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. 2561 ยังห้ามเจ้าพนักงานของรัฐรับผลประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามหลักที่ ป.ป.ช. กำหนด
ส่วนในมาตรา 129 พ.ร.บ.ป.ป.ช. 2561 กำหนดว่า การกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติในหมวดนี้ให้ถือว่าเป็นการกระทำ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
เมื่อมาพิจารณา ประมวลกฏหมายอาญาหมวด ๒ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ. ได้เขียนไว้ชัดเจนในมาตรา 152 ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
ดังนั้นผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้นในกระบวนการสรรหาอธิการบดี/รองอธิการบดี นิด้า จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 126 และ 128 ในกรณีของว่าที่อธิการบดีและผู้สมัครรองอธิการบดี ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ส่วน กรรมการสรรหารองอธิการบดี มีความผิดตามมาตรา 126 เนื่องจากอธิการบดีเป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามมาตรา 126 ด้วย
ปัญหานี้หากผู้เสียหายหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง เช่น ศ.ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ หรือ ศ.ดร.ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์ ซึ่งเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งอธิการบดีนิด้า หรือ ผู้สมัครรองอธิการบดีนิด้าท่านอื่น ๆ อีก 8 ท่าน จาก short list 12 ชื่อจะฟ้องร้องศาลปกครอง โดยอาศัย พ.ร.บ.ป.ป.ช. 2561 ก็ย่อมทำได้ และศาลปกครองก็อาจจะพิจารณารับฟ้องได้ คำถามคือถ้าไม่มีการฟ้อง จะทำอย่างไรต่อไป จะอยู่กันแบบหน้าหนาเป็นพิเศษ ไม่สนใจหลักจริยธรรม และอ้างว่าไม่ผิดกฎหมายกันต่อไปตลอดได้หรือไม่ ตัวผมเองในฐานะกรรมการสรรหารองอธิการบดี ได้ทักท้วงเรื่องนี้และขอบันทึกไว้ในรายงานการประชุมกรรมการสรรหารองอธิการบดีมาโดยตลอด แต่คนอื่นก็ไม่ได้นำพาแต่อย่างใด
ผมมีความรักในสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ที่ผมสำเร็จการศึกษามาเป็นอย่างยิ่ง ผมมีความภาคภูมิในที่ได้ทำงานทุกวันเป็นการทำงานตามรอยพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงก่อตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้มีพระราชดำรัสในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ครั้งแรกว่า
ท่านทั้งหลายที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ เป็นผู้ที่เชื่อได้ว่า มีความรู้ความสามารถสูง จึงเป็นที่หวังของคนไทยทั้งชาติ รวมทั้งของข้าพเจ้าด้วย ที่จะได้อาศัยความรู้ ความคิด สติปัญญา และความสามารถ ในอันที่จะนำพาประเทศชาติให้ก้าวไปสู่ความมั่นคง และสมบูรณ์พูนสุข ขอให้ท่านรับหน้าที่อันมีเกียรตินี้ด้วยความมั่นใจ ตั้งใจและบริสุทธิ์ใจ แล้วร่วมกันปฏิบัติหน้าที่น้อยใหญ่ให้ลุล่วงไป ด้วยความขยันหมั่นเพียรและด้วยความสุจริต เที่ยงตรง ทั้งต่อตนเองและต่อประชาชน ผมขอยึดในพระราชดำรัสนี้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต มีคนกล่าวว่าการที่ผมออกมาสู้กับผลประโยชน์ทับซ้อนในสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์นี้เป็นการเผาเรือนตนเอง (ซึ่งผมเองได้ต่อสู้กับ ผลประโยชน์ทับซ้อนใน ตระกูล ส จนเกิด มาตรา 44 ลงมาสองครั้งแล้วนั้น) ผมไม่คิดว่าสิ่งที่ผมทำเป็นการเผาเรือนตนเอง แต่เป็นการปกป้องสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ที่ผมรักยิ่ง และถ้านิด้า ขาดจิตสำนึก อุดมศึกษาไทยจะไปไม่รอด แล้วประเทศไทยจะไปรอดได้อย่างไร
ผมขอเรียนให้ทราบว่าผมยืนหยัดบนความถูกต้อง และไม่ได้เผาเรือนตนเอง แต่ผมกำลังฉายแสงขับไล่เนื้อมะเร็งร้ายที่กัดกร่อนกัดกินทำลายสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ที่ก่อตั้งตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผมรักสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง แต่ผมรักบ้านเมืองมากกว่าสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ การฉายแสงเพื่อฆ่าเนื้อร้ายที่กัดกร่อนกินนิด้าอยู่นั้นจำเป็นต้องทำ
นิด้าตั้งขึ้นตามพระราชดำริเพื่อการพัฒนาประเทศไทย มีหน้าที่เป็นแสงสว่างทางปัญญาและทางจริยธรรมให้กับประเทศไทยและสังคม นิด้าไม่ได้มีหน้าที่ในการรับใช้การเมือง การแสวงหาผลประโยชน์ให้พวกพ้อง หรือการสืบทอดอำนาจของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยไม่ได้คำนึงถึงประเทศไทย และหากนิด้าไม่เป็นตัวอย่างอันดีในสังคมเสียแล้ว
นิด้าจะทำหน้าที่สนองพระราชดำริได้อย่างไร
การฉายแสงและการฉีดคีโม เพื่อกำจัดมะเร็งร้ายจึงเป็นเรื่องจำเป็น หาใช่การเผาเรือนตนเองอย่างที่บางท่านพยายามวาดภาพให้เป็นเช่นนั้นไม่ การแพ้การฉายแสงและคีโมบำบัดเป็นผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ และแน่นอนย่อมกระทบกับประชาคมนิด้าอย่างมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ แต่หากไม่ฉายแสง แล้วปล่อยให้มะเร็งร้ายเติบโตลุกลามต่อไป สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ก็ไม่อาจจะเป็นแสงสว่างทางปัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลงได้ หากเรายังมีเนื้อร้ายและมีความมืดอยู่ แสงสว่างใดเสมอปัญญาเป็นไม่มี อันเป็นกถาภาษิตของนิด้า แสงสว่างย่อมแผดเผาและร้อนบ้างเป็นธรรมดาสำหรับเชื้อโรคและเนื้อร้าย การยอมเจ็บปวดได้รับผลกระทบจากการฉายแสงในวันนี้เพื่อปกป้องนิด้า จำเป็นต้องทำ เพื่อให้นิด้าสามารถ ทำตามพระราชดำริได้อีกต่อไป ในอนาคตอุดมศึกษาไทยก็เช่นกัน จะอยู่ได้อย่างสง่างาม เข้มแข็ง เป็นกำลังปัญญาของประเทศชาติได้ ต้องมีจริยธรรมและธรรมาภิบาล
ถ้าผู้บริหารอุดมศึกษาไทย ไร้ธรรมาภิบาล ขาดจิตสำนึก แล้วไซร้ ประเทศไทยจะอยู่ต่อไปอย่างไร ในเมื่อคนที่สอนคนอื่น ไม่เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสังคม ประเทศนี้จะเต็มไปด้วยคนโกง เมื่อประเทศเต็มไปด้วยคนโกงแล้วประเทศไทยจะอยู่รอดต่อไปได้อย่างไร เพราะตัวอย่างที่ดี มีค่ากว่าคำสอน