กรมรางอ้างพ.ร.บ.ขนส่งรางแก้ค่ารถไฟฟ้าแพง??หนุนรฟม.รอสีเขียวเป็นของรัฐปี 72 เสนอดองสัมปทาน หนี้แสนล้านใครจ่าย??

1481

วนเวียนอยู่ที่ราคาค่ารถไฟฟ้า แต่ไม่พูดถึงต้นตอที่ทำให้เกิดเรื่องราวยื้อสัมปทานรถไฟฟ้าสีเขียว ว่ามีวาระการเมืองซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังหรือไม่? ล่าสุดทั้งรฟม. กรมรางฯ และทีดีอาร์ไอ ประสานเสียงให้ดองสัมปทานสีเขียวรอหมดสัญญา โดยไม่กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วคือ หนี้สินก้อนใหญ่ที่กทม.แบกซึ่งส่วนหนึ่งโอนมาจากรฟม.ปัจจุบันนี้จำนวน 1.48 แสนล้านบาท จะโอนหนี้และดอกเบี้ยกลับคืนรฟม.ไหม และไม่ว่าจะโอนหรือไม่ใครจะเป็นคนจ่าย (Subsidization) ไม่พ้นใช้ภาษีประชาชนใช่ไหม แล้วพรบ.ขนส่งทางรางคุมได้ทั้งระบบจริงหรือ? และสัญญาร่วมทุนกับเอกชนสายอื่นๆจะเรียกคืนด้วยหรือเปล่า? ไม่มีใครเอ่ยซักคำ ล่าสุดศาลปกครองกลางฯไม่รับคำร้องประกาศเพิกถอนการปรับขึ้นราคารถไฟฟ้าสายสีเขียว เพราะกทม.ประกาศเลื่อนการปรับราคาไม่มีกำหนดฯไปแล้ว งานนี้คนฟ้องหน้าหงายหรือรู้อยู่แล้วแค่เป็นเกมส์ ก็สุดเดา ถ้าบิ๊กตู่ไม่ออกหน้าเคลียร์ ก็คงยื้อกันไปมาพาให้หนี้พอกกว่านี้แน่

เมื่อวานนี้ (4 มี.ค.2564) ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวฯ ในคดีที่มีผู้ยื่นฟ้องคือสส.พรรคภูมิใจไทย 6 คน ขอให้เพิกถอนประกาศการปรับขึ้นค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานคร ที่ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป

เนื่องจากศาลฯ เห็นว่า กรุงเทพมหานคร ได้มีประกาศฯ ฉบับใหม่ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 เลื่อนการจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวดังกล่าวออกไปแล้ว ประกาศพิพาทตามฟ้องในคดีนี้ จึงยังไม่ใช้บังคับในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ตามที่ระบุไว้ในประกาศดังกล่าว อันเท่ากับว่าได้มีการสั่งให้ทุเลาการบังคับตามประกาศที่พิพาทไว้ก่อนโดยเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งนั้นเอง ดังนั้น ในชั้นนี้จึงเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าไม่สมควรมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ ตามข้อ 70 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543

ในวันเดียวกัน ทางรฟม.-กรมรางฯ-ทีดีอาร์ไอ เห็นพ้องร่วมกันให้ดึงคืนรถไฟฟ้าสายสีเขียวกลับมาให้รฟม.บริหาร หลังจ่อหมดสัมปทานปี 2572 

นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ขร. ยอมรับว่าปัจจุบันค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยมีอัตราที่สูง หากเทียบกับรถไฟฟ้าของต่างประเทศ ซึ่งแนวคิดในการปรับรถค่าโดยสารรถไฟฟ้า ขร. มองว่าจะต้องเร่งพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ และพื้นที่การค้าภายในสถานีให้เพิ่มมากขึ้น เข้ามา สนับสนุนรายได้ และเป็นส่วนช่วยในการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า

“ต่างประเทศโครงการรถไฟฟ้าจะมีพื้นที่คอมเมอร์เชียล หรือพื้นที่การค้า ประมาณ 30-40% ของพื้นที่โครงการ เข้ามาช่วยเป็นรายได้เพิ่มเติมนอกเหนือจากรายได้การเดินรถ ซึ่งจะทำให้เอกชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถไปปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าได้ ส่วนนี้กรมฯ มองว่าปัจจุบันรถไฟฟ้าในไทยยังมีพื้นที่ดังกล่าวน้อย ทำให้ค่าโดยสารแพง เราคงจะต้องค่อยๆ ปรับ ค่อยเป็นค่อยไป” นายกิตติพันธ์ กล่าว

นายกิตติพันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ขร.อยู่ระหว่างผลักดัน พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา คาดว่าจะมีการเร่งรัดเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และนำเข้ากฤษฎีกาชุดพิเศษ ภายในเดือนตุลาคมนี้ โดยพ.ร.บ.การขนส่งทางราง จะควบคุมค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสาย ต้องผ่านการเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคม และกรมฯ และคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง ดังนั้นหลังจากนี้จะไม่ได้เห็นราคาที่ไม่ผ่านการกำหนดโดยกรมรางฯ ทุกโครงการจะเป็นราคาที่ไม่เป็นภาระประชาชน

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่าในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นโครงการที่ลงทุนไปแล้ว ประเทศเราเลือกลงทุนด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุน ดังนั้นก็ต้องดำเนินการตามสัญญา แต่สัญญาที่รัฐมีต่อบีทีเอสกำลังจะหมดลงในปี 2572 ดังนั้นรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะกลับมาเป็นของภาครัฐอย่างสมบูรณ์ และด้วยเส้นทางสายสีเขียวที่เป็นกระดูกสันหลังของกรุงเทพฯ มีผู้โดยสาร 8-9 แสนคนต่อวัน เป็นโครงการที่ทำกำไร หรือ Brown Field มีความเป็นไปได้ที่จะนำรายได้จากโครงการ Brown Field มาสนับสนุนโครงการอื่นที่ทำใหม่ยังไม่เกิดกำไร หรือ Green Field

ด้าน นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับค่าครองชีพในประเทศแล้ว ถือว่าแพง อยากให้ประเทศไทยยึดการคิดอัตราค่าโดยสารเหมือนประเทศอื่น อาทิ ประเทศสิงคโปร์ ได้ออกแบบให้คนใช้รถไฟฟ้า 80% ที่เหลือใช้เป็นรูปแบบคูปอง

หากใช้เงินสดในการเดินทาง เริ่มต้น 24 บาท หากเดินทางมากกว่า 40 กิโลเมตร สูงสุด 65 บาท แต่หากใช้บัตรรถไฟฟ้าค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 20 บาท และสูงสุดไม่เกิน 50 บาท ส่วนของไทย แค่เพียงสายเดียวก็ 42 บาทแล้ว อาทิ เดินทางจากมีนบุรีไปสยาม หรือประมาณ 20 กิโลเมตร ต้องจ่ายค่าโดยสาร 99 บาท ซึ่งแพงกว่าสิงคโปร์เป็นเท่าตัว ดังนั้น จึงต้องมาทบทวนสัมปทาน ควรให้รถไฟฟ้าทุกสายเป็นระบบเดียวกัน เพื่อให้ค่าโดยสารถูกลง “ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียว หากเร็วๆ นี้ ยังไม่มีข้อสรุป ในเรื่องของราคาก็ควรที่จะชะลอการทบทวนต่อสัมปทานไปก่อนดีกว่ามาเร่งต่อสัมปทานแล้วยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งจะยิ่งทำให้แก้ไขลำบากมากขึ้น” นายสุเมธ กล่าว