“ผบ.ทอ.” ตอกหน้าเฟซบุ๊ก ยันกองทัพไม่มีไอโอ ตบปากคนไม่ชอบ หาเรื่องโจมตีไปเรื่อย

3337

จากกรณีที่ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เฟซบุ๊กแถลงว่า ได้ปิดบัญชีและกลุ่มในเฟซบุ๊ก ที่เชื่อมโยงกับปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (ไอโอ) ในประเทศไทย ที่เป็นของกองทัพ

ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เฟซบุ๊กปิดบัญชีในไทยที่เกี่ยวโยงกับรัฐบาล

โดยเฟซบุ๊ก ระบุว่า เฟซบุ๊กได้ปิด 77 บัญชี, 72 เพจ และ 18 กลุ่ม บนเฟซบุ๊ก และอีก 18 บัญชีในอินสตาแกรม ซึ่งเฟซบุ๊กระบุว่า บัญชีเหล่านี้เชื่อมโยงกับกองทัพไทย และมีเป้าหมายเป็นผู้รับข่าวสารในจังหวัดทางภาคใต้ของไทย ที่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกับรัฐบาลมานานนับทศวรรษ

ล่าสุด วันที่ 5 มีนาคม 2564 พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) กล่าวว่า ทางกองทัพอากาศก็มีเฟชบุ๊กปกติ เป็นการเผยเเพร่ประชาสัมพันธ์ กิจการที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นประโยชน์กับทางกองทัพอากาศ พร้อมยืนยันว่า กองทัพอากาศไม่ไปทำ “ไอโอ” อย่างที่คนเขาทำกันแบบนั้น

ส่วนมุมมองการเคลื่อนไหวที่กองทัพถูกโจมตีในช่วงนี้ พล.อ.อ.แอร์บูล กล่าวว่า “เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว มีทั้งคนรักคนชอบ คนไม่ชอบเราก็โจมตีเรา เราก็ปฎิบัติหน้าที่ของเราตามปกติ ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย”

เมื่อถามว่าทางพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับอย่างไรในเรื่องกระแสการโจมตีกองทัพอยู่ขณะนี้หรือไม่ พล.อ.อ.แอร์บูล กล่าว่า “ท่านบอกให้เราอยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ ไม่ต้องไปตอบโต้อะไรทั้งสิ้น ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด”

ทั้งนี้ ย้อนไปเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2564 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ปี 2563 ที่ผ่านมา ตนและทางกระทรวงฯไม่ได้นิ่งนอนใจหรือเพิกเฉยต่อกรณีการกระทำความผิดโพสต์ข้อความมีเนื้อหาและภาพไม่เหมาะสมเกี่ยวกับสถาบันฯ ทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยได้เน้นย้ำให้กองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ปท.) กระทรวงดิจิทัลฯ ดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มข้นและส่งเรื่องต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งขอคำสั่งศาลส่งไปยังผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ดำเนินการทางกฎหมาย ไปแล้วนานกว่า 2 เดือน จึงอยากให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการสืบสวนนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ

โดยพบว่าตั้งแต่เดือน ต.ค. – ธ.ค. 2563 มีผู้โพสต์เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14 (3), (5) รวมทั้งสิ้น 638 ยูอาร์แอล พนักงานเจ้าหน้าที่พิสูจน์ทราบตัวตนบุคคลแล้ว 26 บัญชี ซึ่งได้แจ้งความให้ทาง ปอท.แล้ว และทราบว่าต้นเดือนนี้ ปอท. เตรียมเรียก 9 รายมาสอบสวน ซึ่งพบว่าเป็นคนเดิมที่กระทำผิดซ้ำหลายครั้ง เจ้าหน้าที่จึงต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งจะเรียกรายอื่น ๆ ที่พิสูจน์ตัวบุคคลได้แล้วพบเจ้าหน้าที่ในลำดับต่อไป
ขณะเดียวกัน ดีอีเอส ยังคงเดินหน้า แจ้งความเฟซบุ๊กและแพลตฟอร์มต่างชาติ 2 ราย ที่ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการปิดกั้นหรือลบข้อความไม่เหมาะสม ตามคำสั่งศาลที่พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งไป รวม 7 ชุด ทั้งหมด 8,443 ยูอาร์แอล โดย เฟซบุ๊ก มากที่สุด 5,494 ยูอาร์แอล ลบข้อความบางส่วน แต่ยังคงเหลือ 2,387 ยูอาร์แอล และ ทวิตเตอร์ คงเหลือจำนวน 611 ยูอาร์แอล ซึ่งเกินกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย 15 วัน โดยกระทรวงดิจิทัลฯได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับผู้ให้บริการทั้ง 2 รายต่อ ปอท.แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบสวนตามกระบวนการกฎหมาย และประสานอัยการสูงสุด ซึ่งกรณีเฟซบุ๊กล่าสุด อัยการสูงสุดได้รับเป็นคดีนอกราชอาณาจักรแล้ว