เปิดเหตุโปรดเกล้าฯเรียกคืนเครื่องราชย์-ถอนชื่อ ปลอดประสพ อดีตรองหน.พรรคเพื่อไทย

18694

จากที่มีประเด็นเกี่ยวกับการขอเครื่องราชย์ของส.ส.พรรคก้าวไกล รวมทั้งอดีตคนพรรคอนาคตใหม่ เกือบ30ราย ซึ่งทั้งที่บรรดาคนเหล่านี้มีพฤติกรรมออกไปในทางลบกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ล่าสุดมีตัวอย่างของนักการเมืองใหญ่ที่ถูกเรียกคืนเครื่องราชย์แล้ว

โดยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ระบุว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก มหาวชิรมงกุฎ ประถมาภรณ์ช้างเผือก ประถมาภรณ์มงกุฎไทย ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย ทุติยจุลจอมเกล้า ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ตริตาภรณ์มงกุฎไทย จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ ๒ ประเภทที่ ๒ เหรียญจักรพรรดิมาลา เหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ ๑ และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๙ ชั้นที่ ๓

ซึ่ง นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ สังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับพระราชทาน เนื่องจากต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ในคดีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ขณะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันเป็นเหตุแห่งการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามข้อ ๖ และ ข้อ ๗ (๒) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ และ นายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นผู้ถูกถอนชื่อออกจากรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามประกาศที่เกี่ยวข้องแล้ว

ผู้รับสนองพระราชโองการ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ทีมข่าวเดอะทรูธ ได้ตรวจสอบถึงสาเหตุที่นายปลอดประสพ ถูกเรียกคืนเครื่องราชย์พร้อมเหรียญสดุดีนั้น ก็พบว่าเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นายปลอดประสพ สุรัสวดี อายุ 75 ปี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำเลยคดีปฏิบัติหน้าที่ทิชอบฯ ที่ศาลได้ออกหมายจับให้ติดตามตัวมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.1063/2558 เหตุที่นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน อดีตรองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

นายปลอดประสพ ได้เดินทางมารายงานตัวต่อศาล ก่อนถึงกำหนดนัดฟังคำพิพากษาฎีกาครั้งที่สาม ในวันที่ 7 เม.ย.2563 พร้อมขอให้ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันนี้ด้วย ซึ่งพบว่านายปลอดประสพ มีอาการป่วย ใส่หน้ากากอนามัยและนั่งรถเข็นมาศาล พร้อมทั้งมีบุตรชาย ญาติและคนใกล้ชิดนับ 10 คน มาร่วมให้กำลังใจ

ต่อมาเวลา 14.25 น.ของวันเดียวกัน ศาลจึงได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2546 นายบรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น มีคำสั่ง399/2546 แต่งตั้งนายวิฑูรย์ โจทก์ ดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) สำนักส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรสหกรณ์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.46 แต่จากนั้นมีการตรา พ.ร.ฎ. โอนป่ากรมป่าไม้ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีผลเมื่อลงราชกิจจานุเบกษาวันที่ 30 ก.ย. 2546

ขณะนั้น โจทก์ ดำรงตำแหน่ง ผอ.กองการอนุญาต กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อมาวันที่ 1 ต.ค. 2546 – 12 พ.ย. 2556 จำเลย ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกคำสั่งกระทรวงทรัพยากรฯที่ 287/2546 เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2546 ให้ระงับการมอบหมายงานในหน้าที่ตามคำสั่ง 399/2546 ซึ่งแต่งตั้งโจทก์ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) โดยให้ถือว่าเป็นการยกเลิกคำสั่งดังกล่าวไว้ก่อน อันเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบเพื่อยังยั้ง ไม่ให้โจทก์ได้เลื่อนตำแหน่ง

สาเหตุเนื่องจากโจทก์กับจำเลยมีเรื่องโกรธเคืองในเรื่องส่วนตัวกันมาก่อน กระทั่งวันที่ 12 พ.ย.2546 จำเลยกลั่นแกล้งโจทก์ ด้วยการให้นายดำรงค์ พิเดช ออกคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 543/2546 ย้ายโจทก์ไปตำแหน่ง “ป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญ” ซึ่งเป็นตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญระดับ 8 เป็นการย้ายให้ปฏิบัติหน้าที่ต่ำกว่าระดับเดิม

อีกทั้ง ก็ไม่ใช่ความจำเป็นที่ต้องรีบดำเนินการ และจำเลยก็ทราบดีว่า นายดำรง ไม่มีอำนาจสั่งย้ายโจทก์ ดังนั้นคำสั่งย้ายที่จำเลยให้ความเห็นชอบนั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นผลให้โจทก์ ได้รับความเสียหายต่อเสียชื่อเสียง และเสียสิทธิไม่ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นระดับ 9 จึงขอให้ชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ด้วย 2 ล้านบาท เหตุเกิดที่แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. โดยนายปลอดประสพ จำเลย ให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดีโดยตลอด

คดีนี้ ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2560 เห็นว่า การที่จำเลยมีคำสั่งไม่แต่งตั้งโจทก์ ให้เลื่อนขั้นเป็นข้าราชการระดับ 9 นั้น ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย ทั้งที่โจทก์มีคุณสมบัติจะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหารได้ จึงให้จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท โดษโทษจำคุกให้รอลงอาญา ไว้ 2 ปี และให้จำเลย ชดใช้เงินค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย 1.4 ล้านบาท

ต่อมาทั้ง นายปลอดประสพ จำเลย และ นายวิฑูรย์ โจทก์ ต่างยื่นอุทธรณ์ โดยมีการอ่านคำพิพากษาของ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2561 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฯ เห็นว่า การย้ายนี้ ก็ย้ายโจทก์เพียงคนเดียวและในระดับที่ต่ำกว่าเดิมด้วยเสมือนเป็นการลงโทษ โดยโจทก์กับจำเลย เคยมีข้อพิพาทกันเมื่อปี 2541 ขณะที่คำสั่งให้โจทก์ได้เลื่อนชั้นดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักงานวิชาการ 9 ก็ชอบด้วยกฎหมาย

“การที่จำเลยให้ยกเลิกคำสั่งนั้นจึงกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมายและน่าเชื่อว่ามาจากกรณีจำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองโจทก์มาก่อนและเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ และเมื่อพิจารณาการกระทำที่จำเลยให้รับโอนนายดำรงค์ มาซ้อนตำแหน่งโจทก์ที่โจทก์ได้รับการแต่งตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็อาจทำให้เกิดปัญหาว่าการปฏิบัติราชการของนายดำรงค์ต่อการออกคำสั่ง-ประกาศต่างๆ ของกรมป่าไม้ว่ามีความถูกต้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการได้ พฤติการณ์นับว่าเป็นความผิดร้ายแรง จึงไม่เห็นสมควรรอการลงโทษ”

ศาลอุทธรณ์ฯ จึงพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิด ตาม ม.157 ประกอบมาตรา 84 อีกกรรมหนึ่งที่ใช้ให้นายดำรงค์โยกย้ายโจทก์ จึงให้จำคุก 2 กระทงๆ ละ 1ปี รวมโทษจำคุกทั้งสิ้น 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้แล้วก็ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 1.4 ล้านบาทด้วย

ขณะที่ นายปลอดประสพ จำเลย ได้ยื่นฎีกาต่อสู้คดีและได้ประกันตัวระหว่างฎีกา ด้วยหลักทรัพย์ 400,000 บาท แต่เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา ศาลมีคำสั่งให้ปรับนายประกันเต็มจำนวน และให้ออกหมายจับนายปลอดประสพ จำเลยมาฟังคำพิพากษา

โดยคำพิพากษาศาลฎีกา นั้น ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า การกระทำของนายปลอดประสพ จำเลย ขณะดำรงตำแหน่งปลัด ทส. ที่ให้นายดำรงค์ออกคำสั่งใหม่ให้ นายวิฑูรย์ โจทก์ย้ายไปดำรงค์ตำแหน่งป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญนั้น เป็นตำแหน่งข้าราชการพลเรือนระดับ 8 เป็นการย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ต่ำกว่าระดับเดิม และเป็นการโยกย้ายโดยเร่งด่วนไม่ได้หารือต่อคณะกรรมการที่จำเลยอ้างว่ามีปัญหาเรื่องตำแหน่งใหม่ของโจทก์

“เมื่อมีการโอนย้ายสังกัดกรมป่าไม้จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาสังกัดกระทรวงทรัพยากรฯ ซึ่งจากคำเบิกความของพยานที่ตอบคำถามยังได้ความว่าตำแหน่ง ผอ.สำนักงานวิชาการ 9 นั้น ก็จะมีกระบวนการสรรหาผู้มีคุณสมบัติ ซึ่งโจทก์ก็มีคุณสมบัติ จึงต่างจากที่จำเลยอ้าง

ดังนั้นการออกคำสั่งยกเลิกการแต่งตั้งโจทก์และการย้ายนายดำรงค์มาในตำแหน่งทับซ้อนกับโจทก์จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ได้รับความเสียหายและทางเจริญก้าวหน้าในอาชีพของโจทก์ ซึ่งการแต่งตั้งโยกย้ายระบบราชการนอกจากความเหมาะสมแล้ว จะต้องคำนึงถึงคุณธรรมและธรรมาภิบาลแต่เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์ของจำเลยแล้ว เป็นการกระทำที่ทำลายระบบคุณธรรมและธรรมาภิบาลในระบบราชการ จึงไม่ควรรอการลงโทษ และที่ศาลอุทธรณ์ฯ กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 1.4 ล้านบาทนั้นเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ส่วนบทลงโทษนั้น ศาลฎีกา พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายตรามาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ให้จำคุกรวม 1 ปี 8 เดือน โดยให้ออกหมายคดีถึงที่สุดด้วย”

อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่ได้รับฟังคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งผลถือเป็นที่สุดตามกฎหมายแล้ว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ จึงได้ควบคุมตัวนายปลอดประสพ อดีตรองนายกฯ และอดีตปลัด ทส.ไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรับโทษตามผลการพิพากษา