5 มหาอำนาจซึ่งเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง สหประชาชาติ(UNSC) แถลงร่วมห้ามก่อ ‘สงครามนิวเคลียร์’ แต่ ‘จีน’ ยืนยันปรับปรุงคลังแสง ‘นุกส์’ ที่ยังล้าหลังกว่าสหรัฐและรัสเซีย ซึ่งมีส่วนแบ่งการสะสมขีปนาวุธรวมกันกว่า 90% ของคลังแสงทั้งโลก และเรียกร้องให้สหรัฐและรัสเซียปลดนุกส์เป็นแบบอย่างก่อน
ตอนนี้บรรยากาศของความตึงเครียดทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความกลัวว่าจะมีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับสหรัฐและนาโต้เหนือยูเครน และระหว่างสหรัฐฯ และจีนในทะลจีนใต้ นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่าแนวโน้มว่าเพนตากอนจะคงเร่งพัฒนากำลังอาวุธนิวเคลียร์ทั้ง “สามกลุ่ม ” ของอาวุธทางทะเล ทางอากาศ และทางบกเนื่องจาก รัฐสภาเพิ่งอนุมัติเพิ่มงบฯทหารกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ความหวังว่าอเมริกาจะยอมรับคำมั่นสัญญาว่า “ไม่มีการใช้ครั้งแรก” เกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ก็ถูกมองว่ายากส์ส์ส์
5 ประเทศขาใหญ่ชี้ชะตาโลกมีใครบ้าง ได้แก่ สหรัฐ รัสเซีย จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส มีมติเห็นพ้องให้หลีกเลี่ยงการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ และการก่อสงครามนิวเคลียร์ โดยระบุว่า จะ “ไม่มีฝ่ายใดเป็นผู้ชนะและจะต้องไม่มีวันนำมาใช้ต่อสู้”
มาติดตามดูท่าทีของประเทศมหาอำนาจที่ยังปั่นป่วนอยู่ในความขัดแย้งว่า ตอบสนองกับสัญญาประชาคมโลกนี้อย่างไร น่าจะสะท้อนการปฏิบัติที่เป็นจริงได้ว่า แถลงการณ์ร่วมที่สวยหรูนี้จะมีผลจริงแบบไหนกันแน่
วันที่ 4 ม.ค.2564 หลังจากUNSC เผยแพร่แถลงการณ์ร่วมของ 5 ชาติมหาอำนาจโลกแล้ว สหรัฐได้ออกจดหมายปธน.โจ ไบเดนสนับสนุนแนวคิดการเจรจาทางการทูตเป็นหลักก่อนใคร แต่ในทางปฏิบัติจริงยังไม่มีความชัดเจนว่าไบเดนจะอนุมัติการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า “นโยบายการประกาศเกี่ยวกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์”แต่อย่างใด
คอลลิน คาล(Colin Kahl) ปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบายในฝ่ายบริหารของ ไบเดน กล่าวว่าแนวโน้มของนโยบายนิวเคลียร์ของสหรัฐฯเกิดจาก “ความวิตกกังวลที่แท้จริง” เกี่ยวกับนโยบายการป้องกันประเทศและนโยบายนิวเคลียร์ของจีนและรัสเซียด้วย

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า “เราไม่เก็บอาวุธนิวเคลียร์เพื่อต่อสู้และชนะสงคราม เรามีไว้เพื่อรักษาสันติภาพและความมั่นคงในโลกที่ผู้อื่นอาจพยายามใช้กำลัง หรืออย่างน้อยก็คุกคาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยคุกคามจากการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ เพื่อบ่อนทำลายค่านิยม ความมั่นคง และอำนาจอธิปไตยของสหรัฐอเมริกา-พันธมิตร และหุ้นส่วน”
ในบรรดาประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์รายใหญ่นั้นจีนเป็นประเทศเดียวที่มีข้อห้ามอย่างเป็นทางการว่า ‘ห้ามไม่ให้ใช้ก่อนครั้งแรก’ เกี่ยวกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ หรือ No-First-Use กล่าวคือจะไม่ถล่มใครก่อนซึ่งก็อาจไม่สอดคล้องความจริงหากเกิดสถานการณ์สู้รบใครถล่มก่อนมีโอกาสชนะ แต่ก็สะท้อนความยับยั้งชั่งใจในเชิงหลักการ
ขณะที่นโยบายหลักด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียอนุญาตให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์ในกรณีที่มีการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ของศัตรู หรือการโจมตีแบบปกติรุนแรงจนถือว่า “คุกคามการดำรงอยู่ของรัฐรัสเซีย” เรียกว่าถ้าถึงขั้นรบกันแล้วจะไม่ปราณี
ทั้งนี้รัสเซียได้ตอบสนองแถลงร่วมของUNSC เช่นเดียวกับสหรัฐคือสนับสนุนแก้ไขปัญหาทางการทูต ซึ่งรัสเซียเรียกร้องเสมอมา และตอกย้ำปัญหายูเครนว่าสหรัฐและนาโตต้องแสดงความจริงใจในการฟื้นฟูสนธิสัญญาสันติภาพมินส์เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในดอนบาสอย่างแท้จริง
ด้านจีนยังยืนยันที่จะเดินหน้าปรับปรุงอาวุธนิวเคลียร์ของตนให้ทันสมัย เพื่อเทียบเคียงเสมอหน้ากับสหรัฐและรัสเซียที่เหนือกว่าทั้งปริมาณและคุณภาพ
ประเด็นนนี้สำนักข่าวซีเอ็นเอของจีน(CNA)รายงานอ้างการแถลงของ นายฟู่ คง(Fu Cong) ผู้อำนวยการกรมควบคุมอาวุธ กระทรวงการต่างประเทศจีน เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2565 ว่า จีนสนับสนุนให้รัสเซียและสหรัฐฯ เป็นผู้ริเริ่มปลดอาวุธนิวเคลียร์ในฐานะประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์สูงสุดกว่าร้อยละ 90 พร้อมยืนยันแผนปรับปรุงอาวุธนิวเคลียร์ให้ทันสมัยเพื่อความมั่นคงและปลอดภัยของประเทศ แต่ปฏิเสธคำกล่าวอ้างของสหรัฐฯ ต่อจีนเกี่ยวกับแผนเพิ่มขีดความสามารถด้านหัวรบนิวเคลียร์ จำนวน 700 หัวรบภายในปี 2570 และ 1,000 หัวรบภายในปี 2573 ว่าไม่เป็นความจริง
นอกจากนี้ฟู่ คง กล่าวว่า ข้อตกลงด้านการป้องกันประเทศ 3 ฝ่ายของกลุ่มพันธมิตรออคัส(AUKUS) ระหว่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย อาจนำไปสู่การล่มสลายของระบบการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์
“AUKUS สร้างข้อตกลงไตรภาคีเกี่ยวกับการพัฒนาเรือดำน้ำนิวเคลียร์ เป็นเรื่องที่จริงจังอย่างยิ่ง ปมของปัญหาคือหากใช้แผนนี้ หมายความว่าสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นสองรัฐนิวเคลียร์จะส่งมอบให้ขีปนาวุธให้แก่ออสเตรเลีย ซึ่งไม่ใช่ประเทศนิวเคลียร์ แต่เป็นการส่งมอบยูเรเนียมเกรดอาวุธ ”
‘คง’ เน้นว่าระบบป้องกันของสำนักงานพลังงานปรมาณูสากลในปัจจุบันไม่ได้ให้วิธีการใดๆ ในการตรวจสอบว่าออสเตรเลียจะไม่ใช้วัสดุดังกล่าวเพื่อสร้างอาวุธนิวเคลียร์ “เราเชื่อว่านี่จะเป็นการแสวงประโยชน์โดยมุ่งร้ายจากช่องโหว่ในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และหากหลายประเทศกำลังทำ มันจะหมายถึงการล่มสลายของข้อตกลงการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์”
วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เห็นด้วยว่าการเป็นหุ้นส่วนของ AUKUS บ่อนทำลายสมดุลของนิวเคลียร์และเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาค