ลงนามสัญญาร่วมทุน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ระหว่างรัฐบาลและ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 และกลุ่มผู้ชนะประมูลได้จัดตั้ง “บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด” เป็นคู่สัญญาลงนามในครั้งนี้ มูลค่าโครงการ 2.9 แสนล้าน ได้นาริตะอินเตอร์ฯ บริหารสนามบิน อายุสัญญา 50 ปี
19 มิถุนายน 2563 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กับ บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นประธานในพิธี ที่ทำเนียบรัฐบาล
บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด” ทุนจดทะเบียน 4.5 พันล้านบาท คือบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ถือหุ้น 45%,บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด 35% และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ถือหุ้น20% ในการนี้ Narita International Airport Corporation เป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบินอู่ตะเภา
บจ.อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนลฯ ได้เสนอราคาเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำรายปี รวมตลอดอายุสัญญาร่วมทุน เมื่อคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบัน (Present Value) ณ ปี 2561 โดยใช้อัตราคิดลดร้อยละ 3.76 เท่ากับ 305,555,184,968 บาท ตลอดอายุสัญญา 50 ปี
“เมืองการบินภาคตะวันออก” มีพื้นที่ทั้งสิ้น 6,500 ไร่ บริเวณสนามบินอู่ตะเภา โดยมี 6 กิจกรรมสำคัญ มูลค่าการลงทุนของโครงการประมาณ 290,000 ล้านบาท รัฐจะได้ประโยชน์เพิ่มเติมดังนี้
1.ด้านการเงิน (ค่าเช่าที่ดิน ส่วนแบ่งรายได้) มูลค่าปัจจุบัน 305,555 ล้านบาท (เป็นเงินรวม 1,326,000 ล้านบาท ใน 50 ปี)
2.ได้ภาษีอากรเพิ่ม มากกว่า 62,000 ล้านบาท (ไม่นับรวมรายได้ภาษีทางอ้อมกับธุรกิจเชื่อมโยงนอกเมืองการบินภาคตะวันออก)
3. เกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก
4.เพิ่มเทคโนโลยี และพัฒนาทักษะแรงงานด้านธุรกิจการบิน และธุรกิจเชื่อมโยง
5. สิ้นสุดสัญญาทรัพย์สินทั้งหมด ตกเป็นของรัฐ
…………………………………………………………..