โยชิฮิเดะ ซูงะผงาดนายกฯญี่ปุ่น!?! ย้ำสัมพันธ์แนบแน่นไทย พร้อมร่วมมือช่องทางพิเศษ-ฮับโลจิสติกส์ซัพพลายเชน

1857

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ญี่ปุ่น, นายโยชิฮิเดะ ซูงะ เปิดตัวคณะรัฐมนตรีทันทีหลังได้รับการโหวตรับรองจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนใหม่เมื่อวันพุธ (16 ก.ย.) โดยสมาชิกครึ่งหนึ่งเป็นคนหน้าเดิมจากรัฐบาลชินโซ อาเบะ ประกาศสานต่ออาเบะโนมิกส์ เน้นการจัดการกับโควิด-19 และการฟื้นเศรษฐกิจที่ถดถอย ขณะเดียวกันท่านอุปทูตญี่ปุ่นในไทยได้เข้าพบรมว.สำนักนายกฯยืนยันสัมพันธ์เศรษฐกิจสังคมไทยแนบแน่น หนุนข้อตกลงFast Track พร้อมชื่นชมสนใจศูนย์โลจิสติกส์และซัพพลายเชนของไทย

สำนักข่าวรอยเตอร์/ซีเอ็นเอ็น/เอ็นเอชเค พร้อมใจรายงานผลการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นเมื่อวันพุธ (16 ก.ย.2563) รัฐสภาญี่ปุ่นลงมติเลือกนายโยชิฮิเดะ ซูงะ ประธานคนใหม่ของพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือแอลดีพี (LDP) เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว ด้านนักวิเคราะห์มองว่านายซูงะ สานต่อนโยบายอาเบะโนมิกส์แน่ และตั้งใจจะอยู่จนหมดวาระที่เหลือของนายกฯคนเก่า 

เปลี่ยนคนแต่นโยบายหลักยังคงเดิม

คณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ลาออกทั้งคณะช่วงเช้าวันที่16 ก.ย. จากนั้นสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาไดเอทเปิดประชุมสมัยวิสามัญในช่วงบ่ายวันเดียวกัน เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่สืบทอดตำแหน่งต่อจากนายอาเบะที่ลาออกเพราะมีปัญหาสุขภาพ 

นายโยชิฮิเดะ ซูงะวัย 71 ปี เพิ่งได้รับเลือกเป็นประธานพรรคแอลดีพีเมื่อวันจันทร์ (14 ก.ย.) ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี (16 ก.ย.) จาก สส. 314 เสียง จากทั้งหมด 465 เสียงและ สว. 142 เสียง จากทั้งหมด 245 เสียงเนื่องจากพรรคแอลดีพีและพรรคโคเมโตที่เป็นพันธมิตรกันครองเสียงข้างมากทั้งสองสภา

นายซูงะทำหน้าที่ผู้ช่วยมือขวาของอาเบะมายาวนาน ประกาศสานต่อโครงการต่างๆ ของอาเบะ รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจ “อาเบะโนมิกส์” และเดินหน้าปฏิรูปเชิงโครงสร้าง อาทิ การผ่อนคลายกฎระเบียบ และการสงบศึกในหมู่ข้าราชการ เขาอายุมากกว่านายอาเบะ 6 ปี และมีเส้นทางชีวิตที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง นายซูงะมุมานะด้วยตัวเองมาตลอด ส่วนนายอาเบะเติบโตขึ้นในตระกูลนักการเมืองระดับสูง และถูกวางตัวให้สืบทอดเส้นทางการเมืองของปู่และพ่อมาตั้งแต่วัยหนุ่ม  นายอาเบะผลักดันให้นายซูงะขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคเสรีประชาธิปไตย ดูแลการเลือกตั้งจนนายอาเบะได้เป็นนายกฯ ครั้งแรกเมื่อปี 2006 นายซูงะรับตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกิจการภายในประเทศ

นายอาเบะอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ได้เพียงปีเดียวก็ต้องลาออกเนื่องจากปัญหาสุขภาพ แต่นายซูงะก็ยังภักดี และมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้นายอาเบะหวนคืนสู่อำนาจอีกครั้งในปี 2012 นายกฯ อาเบะได้ตอบแทนด้วยการแต่งตั้งให้เขาเป็นเลขาธิการครม.และโฆษกรัฐบาลญี่ปุ่น ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานด้านนโยบายและระบบราชการ  เขาเป็นผู้ผลักดันนโยยาย “ฟรีวีซ่า” ให้ชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวญี่ปุ่นมากขึ้น และยังได้รับเกียรติ์ให้เป็นผู้ประกาศชื่อ “เรวะ” เป็นชื่อรัชสมัยใหม่ของญี่ปุ่น หลังจากสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะขึ้นครองราชย์

ญี่ปุ่นยันสัมพันธ์ไทยแนบแน่น-ชื่นชมศูนย์กลางโลจิสติกส์ซัพพลายเชนไทย

วันพุธที่ 16 ก.ย.2563 อาคารรัฐสภา นายนาชิดะ คาซูยะ (H.E. Mr. NASHIDA Kazuya) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีที่ได้พบเอกอัครราชทูตฯ ระบุไทยญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกันในทุกระดับ ซึ่งไทยพร้อมร่วมมือและสนับสนุนการปฎิบัติหน้าที่ของเอกอัครราชทูต เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อย่างรอบด้านและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป พร้อมกล่าวแสดงความยินดีไปยังนายโยชิฮิเดะ ซูเงะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ด้านเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นฯ กล่าวขอบคุณและ รู้สึกยินดีที่ได้มาประจำการที่ประเทศไทย โดยยืนยันว่าจะดำเนินบทบาทอย่างแข็งขัน เพื่อกระชับสานต่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน และสร้างสรรค์ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นอย่างรอบด้าน

โอกาสนี้ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันหารือถึงมาตรการผ่อนปรนการเข้าเมืองระหว่างกัน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และรักษาฐานห่วงโซ่อุปทานการผลิต ซึ่งไทยและญี่ปุ่นได้เห็นชอบในข้อเสนอมาตรการการจัดทำความร่วมมือช่องทางพิเศษ (Fast Track Procedure) ของแต่ละฝ่าย ซึ่งขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปในประเด็นต่าง ๆ รวมถึงข้อห่วงกังวลของฝ่ายญี่ปุ่น โดยไทยขอบคุณที่ญี่ปุ่นเชื่อมั่นในศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยมาอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ เป็นประเทศผู้ลงทุนและเป็นคู่ค้าอันดับต้นๆ ของไทย ซึ่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวยืนยันว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่รัฐบาลไทยยังคงยืนยันมุ่งมั่นส่งเสริมความร่วมมือโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจกับญี่ปุ่นต่อไป

จับตาท่าทีญี่ปุ่นต่อมหาอำนาจสหรัฐ-จีน

จุดเด่นคณะบริหารของอาเบะสร้างต้นทุนทางการเมือง ด้วยนโยบายผ่อนคลายทางการเงินและการคลัง ทักษะการทูตที่สมดุลระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และการดำเนินนโยบายการเมืองที่ยืดหยุ่น นายกรัฐมนตรีคนใหม่ยังแย้มว่า ในที่สุดแล้วญี่ปุ่นอาจต้องขึ้นภาษีการขายที่ขณะนี้อยู่ที่ 10% เพื่อนำไปใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคม แต่คงยังไม่ใช่เร็วๆนี้

การขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของนายซูงะแทบเป็นเรื่องที่คาดหมายได้อยู่แล้ว หลังจากคว้าชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกผู้นำพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) เมื่อวันจันทร์ (14) ในเมื่อพรรคนี้กับพันธมิตรครองเสียงข้างมากในสภาทั้งสองของรัฐสภา รัฐบาลซูงะยังต้องเผชิญความท้าทายมากมาย ทั้วการจัดการกับโควิด-19 ควบคู่กับการฟื้นเศรษฐกิจและรับมือสังคมชราภาพ

ด้วยประสบการณ์ด้านการพูดโดยตรงเพียงน้อยนิด ซูงะต้องรับมือการเผชิญหน้าระหว่างอเมริกากับจีน สร้างสัมพันธ์กับผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน และพยายามรักษาความสัมพันธ์กับปักกิ่งให้สมดุล ดังที่อดีตนายกฯอาเบะทำมาโดยตลอด

สำหรับสมาชิกคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ครึ่งหนึ่งเป็นคนหน้าเดิมจากรัฐบาลอาเบะ และมีรัฐมนตรีหญิงเพียง 2 คน ขณะที่อายุเฉลี่ยของสมาชิกคณะรัฐมนตรีอยู่ที่ 60 ปี ในบรรดาสมาชิกหน้าเดิมที่ยังรั้งตำแหน่งสำคัญไว้ได้นั้นมีอาทิ รัฐมนตรีคลัง ทาโร อาโสะ และรัฐมนตรีต่างประเทศ โทชิมิตสึ โมเตกิ รวมถึงรัฐมนตรีโอลิมปิก ไซโกะ ฮาชิโมโตะ และรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม ชินจิโร โคอิซูมิ วัย 39 ปี บุตรชายของอดีตนายกรัฐมนตรีจุนอิชิโร โคอิซูมิ

ทางด้าน โนบูโอะ คิชิ น้องชายอาเบะ ได้คุมกระทรวงกลาโหม ขณะที่เจ้ากระทรวงคนเดิมคือ ทาโร โคโนะ โยกไปดูแลกระทรวงการปฏิรูปการบริหาร ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เขาเคยรับหน้าที่มาก่อน ยาสึโทชิ นิชิมูระ ยังคงนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับฮิโรชิ คาจิยามะ รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรม ส่วนคัตสึโนบุ คาโตะ พันธมิตรใกล้ชิดของซูงะ ย้ายจากรัฐมนตรีสาธารณสุขไปเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

โทโมยะ มาซานาโอะ,ประธานบริษัทลงทุน พิมโค เจแปน มองว่า เป้าหมายของนายฯซูงะในการทำให้สังคมเข้าสู่ระบบดิจิตอลมากขึ้น จะส่งผลให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนกว้างขึ้น และต้องใช้ทุนทางการเมืองมหาศาล