กรมส่งเสริมการค้าฯ แนะนำให้ผู้ส่งออกศึกษาโมเดลใหม่ของจีน ในการส่งออก สินค้า “ยางพารา” เจาะตลาดจีนได้สะดวก หลังรัฐบาลจีนได้จัดตั้งเขตปลอดภาษีที่ท่าเรือ แล้วเปิดโอกาสให้ผู้นำเข้ามาเลือกซื้อสินค้าได้เลย โดยมี 2 รูปแบบที่ทำได้คือฝากสินค้าไว้จำหน่าย หรือจัดงานแสดงสินค้าขนาดย่อมเอง โอกาสดีๆต้องลุยพาณิชย์ตั้งเป้าปี 64 เจาะตลาดจีนมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท
ปี 2562 ประเทศไทยผลิตยางได้ 4.9 ล้านตัน โดยมีปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติมากถึง 4.18 ล้านตัน การส่งออกผลิตภัณฑ์ยางและยางแปรรูปมีมูลค่า 11.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดการณ์ว่าภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน การผลิตยางธรรมชาติคาดว่าจะอยู่ที่ 4.7 ล้านตันในปี 2563 โดยมีการส่งออกอยู่ที่ 3.8 – 3.9 ล้านตัน
ข้อมูลต้นเดือนธ.ค.2563 กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในต่างประเทศ โดยมีกิจกรรมการลงนาม MOU ซื้อขายยางพาราระหว่างนักธุรกิจไทยกับต่างประเทศช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 อาทิ จีน อินเดีย ตุรกี เยอรมนี และสหรัฐ มีมูลค่าซื้อขายรวมกว่า 47,991 ล้านบาท และทยอยการส่งมอบมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ 135 คู่ มูลค่าการสั่งซื้อ 1,727 ล้านบาท
สำหรับตลาดที่มีการอัตราขยายตัวสูง เช่น สหราชอาณาจักร ร้อยละ 92.17 จีน ร้อยละ 34.38 เกาหลีใต้ ร้อยละ 7.45 และสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 5.42
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เดินหน้าหาช่องทางใหม่ๆ ในการขยายตลาดส่งออกให้กับสินค้ายางพาราของไทย ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยล่าสุดพบการซื้อขายสินค้ายางพารารูปแบบใหม่ในตลาดจีน ที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่ผู้นำเข้าจีนจะติดต่อกับผู้ส่งออกโดยตรงและสั่งซื้อเพื่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ แล้วจึงทำการขนส่งและส่งมอบสินค้า ณ ท่าเรือของจีน เปลี่ยนเป็นรัฐบาลจีนได้จัดตั้งเขตปลอดภาษี (Free Trade Zone) ณ บริเวณท่าเรือของจีน แล้วให้ผู้นำเข้าจีนได้เลือกซื้อยางพาราจากเขตปลอดภาษีได้เลย ซึ่งจุดจำหน่ายและจุดรับสินค้าดังกล่าวเป็นจุดเดียวกัน
โดยวิธีการนี้เป็นวิธีที่สะดวกและได้รับความนิยมจากผู้นำเข้าจีนสูง เนื่องจากผู้นำเข้าจีนจะได้เห็นสินค้าทันที มีความเชื่อมั่นต่อคุณภาพของสินค้า และได้รับสินค้าในเวลาที่รวดเร็วมากขึ้น จึงเป็นการดีที่ผู้ประกอบการไทยจะปรับตัวในการทำการค้าให้เท่าทันกับพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้นำเข้าจีน
การจำหน่ายสินค้ายางพาราในเขตปลอดภาษี มีแนวทางการดำเนินการด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ 1. ผู้ส่งออกฝากยางพาราไว้จำหน่าย ณ คลังสินค้า ซึ่งอาจจะดำเนินการโดยผู้ส่งออกโดยตรง หรือตัวแทนบุคคลที่ 3 (Third Party) ที่ทำหน้าที่จัดการแทนผู้ส่งออก 2. ผู้ส่งออกจัดแสดงสินค้ายางพาราขนาดย่อม (Mini Exhibition) ณ คลังสินค้าร่วมกับผู้ให้บริการคลังสินค้า เพื่อดึงดูดผู้นำเข้ายางพาราในพื้นที่ให้เข้ามาเลือกซื้อ และสอบถามข้อมูลได้โดยตรง ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องเป็นการดำเนินงาน ณ คลังสินค้าในเขตปลอดภาษีบริเวณท่าเรือ และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับระยะเวลา และปริมาณของสินค้าที่ต้องการส่งออก
“ขอให้ผู้ส่งออกที่ต้องการจะเจาะตลาดยางพาราในจีน ศึกษาการซื้อขายยางพารารูปแบบใหม่ แทนการซื้อขายแบบเดิมๆ เพราะจะเป็นโอกาสใหม่ที่จะทำให้การซื้อขายยางพาราขยายตัวได้เพิ่มขึ้น และทำให้ไทยส่งออกยางพาราเข้าสู่ตลาดจีนได้มากขึ้น” นายสมเด็จกล่าว
เมืองชิงต่าว มณฑลซานตง เป็นเมืองและมณฑลที่นำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราในปริมาณมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการผลิตยางรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน และไทยเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้ายางพาราไปยังจีนมากที่สุด
ในปีที่ผ่านมา สำนักงานฯ ณ เมืองชิงต่าว ได้เป็นตัวแทนไทยในฐานะเซลส์แมนประเทศ เข้าร่วมหารือกับหน่วยงานชั้นนำด้านการนำเข้ายางพารา ทั้งสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (CCPIT) มณฑลซานตง สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (CCPIT) เมืองจี่หนาน เมืองชิงต่าว เมืองรื่อจ้าว และเมืองตงหยิง สำนักงานการต่างประเทศเมืองรื่อจ้าว และบริษัทในเครือของ China Merchants Group (CMG) รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีน และเป็นผู้ให้บริการคลังสินค้าในเขตการค้าเสรีท่าเรือปลอดภาษีเฉียนวาน เมืองชิงต่าว ซึ่งถือเป็นท่าเรือปลอดภาษีที่มีการนำเข้ายางพาราในอันดับต้นๆ ของจีน เพื่อผลักดันการส่งออกยางพาราไทยเข้าสู่ตลาดจีน และรักษาตลาดส่งออกยางพาราอันดับหนึ่งของไทยไว้ให้ได้อย่างยั่งยืน
น.ส.ชนิดา อินปา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่สนใจขยายตลาดสินค้ายางพาราเข้าสู่ตลาดจีนตามโมเดลข้างต้น สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อประกอบการพิจารณาได้ที่เบอร์ +86-532-68621206 อีเมล [email protected] และเฟซบุ๊กเพจ Insight CHINA : โอกาสสู่ตลาดจีน by สคต.ชิงต่าว
ช่องทางการผลักดันสินค้ายางพาราไทยเข้าสู่ตลาดจีน สำนักงานฯ อยู่ระหว่างการติดตามและมีแผนยกระดับความร่วมมือในการจำหน่ายสินค้ายางพาราผ่านช่องทางออนไลน์ร่วมกับศูนย์การค้าสินค้าขนาดใหญ่ของเมืองรื่อจ้าว หรือ Rizhao Bulk Commodity Trading Center ซึ่งเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกและแห่งเดียวที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลจีนในการค้าขายยางพาราในรูปแบบออนไลน์ ที่จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเปิดโอกาสให้กับสินค้ายางพาราไทยสามารถส่งออกเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น