ทรัมป์ประกาศยอมจำนน?!? สภาคองเกรสรับรองไบเดนปธน.สหรัฐคนที่ 46 คาดลงโทษทรัมป์ปลด-ดำเนินคดีฐานก่อกบฎ

3288

พฤติกรรม “ทรัมป์” ยิ่งกว่าเผด็จการประเทศโลกที่ 3 แพ้ไม่เป็น ต้นเหตุการจลาจล กลายเป็นสิ่งที่น่าอับอายและถูกประณามไปทั่วโลก จากการกระทำของ “โดนัลด์ ทรัมป์”ผู้บ้าบิ่น ได้ทิ้งทวนก่อนลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อมีการปลุกระดมมวลชนอ้างถูกโกงเลือกตั้ง จนผู้สนับสนุนทรัมป์ต่างบ้าคลั่งลุกฮือเดินขบวนเป็นจำนวนมาก บุกไปยังอาคารรัฐสภากลางกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อกดดันไม่ให้สภาคองเกรส รับรองชัยชนะ “โจ ไบเดน” ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนที่ 46 การก่อการของทรัมป์ล้มเหลว แม้จะมีการประท้วงหลายเมืองแต่เป็นแค่แฟลชม็อบ  ตัวทรัมป์ถูกบล็อกเฟสบุ๊คและอินสตราแกรม ตัดทางการชี้นำ กลาโหมไม่เล่นด้วย ดูเหมือนว่าไฟสงครามจะจางลง แต่บาดแผลความแตกแยกในหมู่ประชาชนบาดลึกยากเยียวยา อเมริกาไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป จับตาชะตากรรมของทรัมป์หลังจากนี้ ถูกปลด-ถูกดำเนินคดีและติดคุกเป็นบั้นปลาย

สภาคองเกรสรับรองไบเดนชนะเป็นปธน.สหรัฐคนที่ 46

เช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีที่ 7 ม.ค.2564 ตามเวลาสหรัฐ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่างลงมติอย่างท่วมท้น คัดค้านคำร้องของ ส.ส.รีพับลิกันจำนวนหนึ่ง ที่ไม่ยอมรับผลการลงคะแนนของคณะผู้เลือกตั้งให้นายโจ ไบเดน และนางคามาลา แฮร์ริส คู่ชิงรองประธานาธิบดี ได้คะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้ง 306 เสียง เกินเกณฑ์ที่ต้องการ 36 เสียง คว้าชัยชนะสู่ทำเนียบขาว ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จากพรรครีพับลิกันได้ 232 เสียง

รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ อ่านผลการนับคะแนนเมื่อเวลา 3.40 น.โดยประมาณ เหล่า ส.ส. ส.ว. ปรบมืออย่างกึกก้อง เพนซ์สั่งปิดประชุมเมื่อเวลา 3.44 น.

ทรัมป์ประกาศยอมจำนน-จ่อถูกถอดถอนก่อนเวลา

หลังจากสภาคองเกรสประกาศรับรองไบเดนไม่นาน นายแดน สกาวิโน ผู้ช่วยหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายสื่อสารของทรัมป์อ่านแถลงการณ์ประธานาธิบดี ระบุ “การเปลี่ยนผ่านในวันที่ 20 ม.ค.จะเป็นไปอย่างมีระเบียบ” นั่นหมายความว่าทรัมป์รู้ตัวว่าอย่างไรก็แพ้แน่นอนจึงยอมจำนน

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญสหรัฐกำหนดให้สภาคองเกรสเป็นผู้รับรองผลคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง กระบวนการนับคะแนนเริ่มต้นตั้งแต่บ่ายวันพุธ (6 ม.ค.) แต่ต้องชะงักไปราว 6 ชั่วโมง เมื่อกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์บุกสภาด้วยอารมณ์โกรธแค้นที่ทรัมป์แพ้เลือกตั้งเพราะถูกโกง หลังจากประกาศเคอร์ฟิวและควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ตกกลางคืนทั้งสองสภาต่างกลับมาประชุมและสามารถรับรองชัยชนะของไบเดนได้ในที่สุด 

เหตุจลาจลครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย หนึ่งในนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 รายและผู้ประท้วงถูกจับกุม 52 ราย

การที่ผู้สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์บุกอาคารรัฐสภา กระตุ้นให้ส.ส.จำนวนหนึ่งเรียกร้องถอดถอนทรัมป์ก่อนไบเดนสาบานตน 20 ม.ค. ทั้งนี้การถอดถอนทรัมป์ก่อนหมดวาระมี 2 วิธี ได้แก่ ใช้บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 กับกระบวนการถอดถอน (อิมพีชเมนท์) โดย ส.ว.เป็นผู้ตัดสิน ทั้งสองวิธีรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ จะเป็นผู้รักษาการจนกว่าไบเดนสาบานตนเป็นประธานาธิบดี

คณะรัฐมนตรีและพันธมิตรทรัมป์บางคนเริ่มหารือเรื่องการใช้บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 ที่ผ่านการลงสัตยาบันในปี 2510 หลังประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ถูกลอบสังหารในปี 2506 บทบัญญัตินี้เกี่ยวข้องกับการสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีและเมื่อประธานาธิบดีปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ โดยมาตรา 4 ระบุถึงกรณีที่ประธานาธิบดีทำหน้าที่ไม่ได้แต่ไม่ยินยอมลงจากตำแหน่ง

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การร่างบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 มีเจตนาชัดเจนให้ใช้เมื่อประธานาธิบดีไร้ความสามารถจากการเจ็บป่วยทางกายหรือทางใจ นักวิชาการบางคนโต้แย้งว่า อาจนำไปใช้ในกรณีที่ประธานาธิบดีไม่เหมาะสมต่อการทำหน้าที่เป็นอย่างยิ่งด้วย ถ้าใช้บทบัญญัติที่ 25 เพนซ์และคณะรัฐมนตรีทรัมป์ส่วนใหญ่จำเป็นต้องประกาศว่า ทรัมป์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานาธิบดีได้ต้องถูกถอดถอน จากนั้นเพนซ์รักษาการประธานาธิบดี แต่ทรัมป์ก็ประกาศได้ว่าตนเองสามารถกลับมารับตำแหน่งได้ ถ้าเพนซ์และ ครม.ส่วนใหญ่ไม่คัดค้านทรัมป์ก็กลับสู่อำนาจอีก แต่ถ้าครม.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ต้องให้สภาคองเกรสตัดสิน ระหว่างนั้นเพนซ์ยังรักษาการประธานาธิบดีต่อไป

นายพอล แคมพอส อาจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ มหาวิทยาลัยโคโลราโด กล่าวว่าการปลดทรัมป์ต้องใช้เสียงส่วนใหญ่ 2 ใน 3 ของทั้งสองสภา แต่สภาผู้แทนราษฎรที่พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากอาจชลอการลงมติไปพิจารณาเรื่องอื่นที่สำคัญจนกระทั่งทรัมป์หมดวาระเขาย้ำว่า การใช้บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 อาจเป็นวิธีเหมาะสมในการปลดทรัมป์ออกจากตำแหน่ง และทำได้เร็วกว่าอิมพีชเมนท์ 

“วิธีนี้เพนซ์เป็นประธานาธิบดีได้โดยอัตโนมัติเลย แต่ถ้าใช้อิมพีชเมนท์ให้ ส.ว.ตัดสินอาจใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 วัน” นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญกล่าว

ขอบคุณ: วีดิโอและภาพประกอบ สำนักข่าวXinhuathai.com